ชีวิตที่ออกแบบเอง

ชีวิตที่ออกแบบเอง

คำพังเพยไทย “อย่าข่มเขาโคขืนให้กลืนหญ้า” มีความหมายว่าหากใครไม่ชอบทำสิ่งใดหรือไม่ชอบสิ่งใด ก็อย่าบังคับให้เขาทำสิ่งนั้นมันไม่เกิดประโยชน์

เมื่อใดที่เขามีแรงขัดขืนคำสั่งของท่าน เขาก็จะหลบเลี่ยงหนีสิ่งนั้นไปไกลๆ และยังอาจกลับมาแก้เผ็ดท่านด้วย คำพังเพยของไทยนี้ตรงกับคำพังเพยภาษาอังกฤษที่ว่า “You can take the horse to the water but you can't make it drink.”  (ท่านสามารถนำม้าไปที่มีน้ำ แต่ท่านไม่สามารถทำให้มันดื่มน้ำได้) แสดงว่าทั้งไทยและฝรั่งเชื่อในเรื่องของการไม่บังคับใจคน เพราะมันจะไม่เกิดผลดี ทางที่ถูกคือควรพูดจาชักจูงจิตใจด้วยเหตุผลนานาประการเข้าทำนองชักแม่น้ำทั้งห้ามาหว่านล้อมให้บุคคลคนนั้นคล้อยตามและเห็นชอบด้วยกับท่านในที่สุด จึงจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่า

เพราะเมื่อเขามีความชอบหรือ passion ในสิ่งนั้น เขาก็จะทำงานนั้นหรือรับประทานของสิ่งนั้นเองโดยไม่ต้องใช้กำลังบังคับให้เหนื่อยยากและหมางใจกัน นี่เป็นคติที่พ่อแม่ผู้บังคับบัญชาคนควรจำเอาไว้ให้มั่นก่อนที่จะบังคับลูกหลานหรือลูกน้องให้ทำในสิ่งที่ท่านเห็นว่าดีหรือเหมาะสมกับเขา และถึงแม้ว่าความเห็นของท่านจะถูกต้อง แต่ถ้าใจของลูกหลานหรือลูกน้องยังไม่คล้อยตาม การใช้อำนาจเข้าบังคับสั่งไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะสร้างผลดี บทบาทที่สำคัญของพ่อแม่และผู้นำคือสนับสนุนแนะนำให้ลูกหลานหรือลูกน้องได้ทำและได้เป็นในสิ่งที่เขาชอบได้ดีที่สุด มิฉะนั้นคงไม่มีคำคมหรือหลักการอื่นๆที่สนับสนุนแนวคิดนี้ เช่น “พ่อแม่เลี้ยงลูกได้แต่ตัว” และ “Put the right man into the right job” (จัดคนให้เหมาะกับงานที่จะทำ)

ลูกหลานและลูกน้องในยุคสมัยนี้เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดเป็นของตนเอง มั่นใจในตัวเองมากกว่าคนรุ่นก่อน เป็นเพราะระบบการศึกษาและสภาพแวดล้อมทางสังคมเปลี่ยนไป เรื่องที่จะทำตามคำสั่งสอนของพ่อแม่และผู้นำโดยไม่มีข้อโต้แย้งเห็นจะเป็นเรื่องยาก พ่อแม่และผู้นำจึงต้องเตรียมเหตุผลเอาไว้ให้ดีก่อนจะสั่งและสอนคนรุ่นใหม่ จริงๆแล้วพ่อแม่และผู้นำควรเรียนรู้บทบาทใหม่ของตนเองคือ “ผู้ชี้ทาง” ไม่ใช่ “ผู้สั่ง” ครูอาจารย์ในปัจจุบันยังต้องปรับบทบาทของตนเองลดจากการเป็น “ผู้สอน” มาเป็น “วิทยากรกระบวนการ” (facilitator) พ่อแม่ในฐานะผู้ให้กำเนิดและมีพระคุณสูงสุดกับลูกคงยังสามารถสั่งสอนพวกเขาได้ แต่ต้องใช้จิตวิทยาในการสั่งสอนเพื่อทำให้ลูกหลานไม่รู้สึกว่ากำลังถูกสั่งสอน แต่กำลังเรียนรู้บทเรียนที่มีคุณค่าจากพ่อแม่ในการดำรงชีวิตให้มีความสุขและประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ลูกแต่ละคนต้องการ

ผู้นำหรือผู้บังคับบัญชาอาจจะมีอำนาจตามตำแหน่งในการสั่งการและอบรมลูกน้อง แต่เชื่อเถิดว่ามีลูกน้องไม่กี่คนที่ชอบถูกสั่งหรือสอนให้ทำในสิ่งที่เขาไม่เห็นด้วย ผู้นำพนักงานยุคนี้ก็ต้องมีจิตวิทยาในการอบรมพัฒนาและบริหารลูกน้องให้เขามีแรงบันดาลใจ มีแรงจูงใจที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่ดีงามให้กับตนเอง ทีมงานและองค์กร อาจกล่าวได้ว่าทั้งลูกหลานและลูกน้องต้องการอิสระที่จะเรียนรู้และทำในสิ่งที่เขาชอบและประสบความสำเร็จกับสิ่งนั้นๆ คำถามก็คือแล้วพ่อแม่กับผู้นำต้องทำอย่างไรจึงจะช่วยเขาออกแบบชีวิตการเรียนและการทำงานในเรื่องที่เขาชอบให้เขาได้บรรลุความฝันได้เต็มศักยภาพ ลองมาดูว่ากิจกรรมข้างล่างนี้จะช่วยหาคำตอบให้คนรุ่นใหม่ได้อย่างไรโดยที่พ่อแม่และผู้นำไม่ต้องไปสอนสั่งคนรุ่นใหม่ให้มากมายเกินไป

ช่วยเขาค้นหาตัวเอง ถ้าอายุยังน้อยอยู่ในวัยศึกษา ปัจจุบันนี้สถานศึกษาหลายแห่งมีครูแนะแนวและมีนักจิตวิทยาการศึกษาที่มีความสามารถ ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยค้นหาความถนัดและทัศนคติหรือความชอบของเด็กได้ไม่ยากจนเกินไป บางครั้งความถนัดกับความสนใจอาจไม่ไปด้วยกัน กล่าวคือใจชอบทางศิลปะ แต่ความถนัดออกมาว่าถนัดคณิตศาสตร์ งานนี้ถ้าอยากมุ่งไปทางศิลปะจริงๆก็ต้องใช้ความพยายามมากหน่อย ซึ่งบางครั้งก็สามารถพัฒนาให้เก่งศิลปะขึ้นมาจนได้ แต่หลายครั้งก็ฝืนธรรมชาติไม่ได้ คงต้องยอมรับความถนัดที่ตนมีมา ในส่วนของพนักงานที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ถ้าทำงานอยู่ในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีทุนมากก็จะมีฝ่ายพัฒนาบุคลากรที่ทำการทดสอบหาความถนัดและทัศนคติของพนักงานเพื่อจัดหางานที่เหมาะสมให้ทำได้ แต่หลายองค์กรไม่มีหน่วยงานประเมินความถนัดของพนักงาน พนักงานต้องขวนขวายหาแบบทดสอบความถนัดในงานจากกูเกิลเอง ซึ่งก็ไม่ได้หายากเกินความสามารถถ้าสนใจจะพัฒนาตัวเองจริงๆ จะได้รู้ว่าตัวเองมีความถนัดด้านใด อยากทำงานหน้าที่ใด และเพื่อเพิ่มความมั่นใจยิ่งขึ้นว่าชอบอาชีพนั้นๆจริงๆ  ให้ลูกหลานและลูกน้องได้มีโอกาสพูดคุยกับคนที่ประกอบอาชีพนั้นๆและไปสังเกตการทำงานของเขาว่าเป็นอย่างไร ค้นหาข้อมูลของอาชีพนั้นๆในเรื่องของการเตรียมตัว ความท้าทายของงาน ภาระรับผิดชอบต่างๆเพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าอาชีพหรืองานนั้นๆมีทั้งเรื่องดี เรื่องยาก เรื่องสุข เรื่องทุกข์อย่างไร ไม่ใช่มองแต่เรื่องดี เรื่องชื่อเสียงและความสุขสนุกสนาน เมื่อไตร่ตรองชั่งนำหนักดีแล้วว่าชอบอาชีพนั้นจริงๆ พร้อมรับทั้งเรื่องทุกข์เรื่องสุข ทีนี้ก็เดินหน้าดำเนินกิจกรรมต่อไปค่ะ

สร้างแผนพัฒนาตนเองเพื่อก้าวสู่ฝัน เมื่อทราบแล้วว่าตนเองมีความถนัดและชอบด้านใด พ่อแม่ ผู้นำหรือว่าตัวเองก็สามารถค้นหาข้อมูลต่อไปได้ว่า ถ้าต้องการประกอบอาชีพด้านใดด้านหนึ่ง ต้องศึกษาสาขาอะไร ที่สถาบันแห่งใด ต้องได้รับการฝึกฝนเป็นพิเศษกับกูรูท่านใด ต้องเป็นสมาชิกสมาคมวิชาชีพใด ต้องสอบรับรองวิทยฐานะจากสถาบันใด ต้องใช้เงินทุนเท่าไรและมีเครือข่ายคนรู้จักในวงการใด หลายคนก็ไม่สามารถไปถึงฝั่งฝันได้ง่ายๆเพราะมีอุปสรรคมากมาย อย่างไรก็ตามถ้าเป็นคนที่มีความสามารถที่โดดเด่น เรื่องของเงินทุนและโอกาสก็ยังพอหาได้ แต่ถ้าไม่ได้เก่งกาจระดับอัจฉริยะ แค่เก่งกว่าระดับปานกลางก็ต้องขวนขวายตะเกียกตะกายกันมากหน่อย ซึ่งพ่อแม่และผู้นำสามารถช่วยในเรื่องของการวางแผนของลูกหลานและลูกน้องได้โดยช่วยดูสภาพความเป็นจริง และช่วยทำแผนสำรองที่สองที่สามในกรณีที่ไม่ได้ทางเลือกอันดับหนึ่งที่ต้องการ ซึ่งการวางแผนพัฒนาคนต้องมองดูที่กำลังสติปัญญาความสามารถที่มีอยู่ เงินทุน และเครือข่ายความสัมพันธ์ที่มีอยู่ ตลอดจนความเป็นไปได้ที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุน เครือข่ายความสัมพันธ์และกูรูในสายอาชีพนั้นๆ ทั้งนี้หากวางแผนดีๆ คนที่ขาดทุนทรัพย์แต่มีความสามารถและเป็นคนรักดีก็ยังสามารถไต่เต้าถึงฝั่งฝันได้ มิฉะนั้นเราคงไม่มีเรื่องราวของคนที่ประสบความสำเร็จสูงส่งที่เดิมเป็นคนยากจนเป็นแน่ คนบางคนยอมไปเป็นคนรับใช้เป็นคนติดตามของบุคคลผู้มีความสามารถเพื่อขอเรียนรู้วิชาก็มีให้เห็นมากมาย ดังนั้นขออย่าได้ท้อแท้หากท่านไม่เก่ง ไม่มีเงิน ไม่มีคนรู้จัก ขอให้มุ่งมั่นอดทน หนักเอาเบาสู้ รู้จักพลิกแพลงปรับตัว ย่อมสามารถแหวกวงอุปสรรคสร้างความสำเร็จได้บ้างสมกับปัจจัยต้นทุนที่ลงแรงไป ไม่มีการมือเปล่าคว้าแต่ลมแน่นอน

เปิดใจกว้าง เรียนรู้ สร้างสัมพันธภาพและพัฒนาตนเองตลอดชีวิต แม้ว่าหลายคนอาจจะโชคไม่ดี ไม่สามารถได้รับการศึกษาและการอบรมในสถาบันที่มุ่งหวังเพื่อคว้าปริญญาที่มุ่งหวังมาครอง แต่โลกนี้ก็ไม่ได้โหดร้ายจนเกินไป ในช่วงชีวิตตอนต้นของหลายคนที่ยากจนต้องทำมาหากินเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือเพราะต้องส่งให้น้องเรียน แต่เมื่อครอบครัวสุขสบายขึ้นก็สามารถกลับไปเรียนได้ไม่เห็นจะต้องอายใคร เราจึงมีโอกาสเห็นคนมีอายุมากแล้วไปเรียนร่วมกับลูกหลานมากมายโดยเฉพาะในโลกตะวันตก เข้าใจว่าอีกไม่นานเราคงได้เห็นคนสูงอายุไปเรียนร่วมกับลูกหลานมากขึ้นในบ้านเราเพราะคนสูงอายุที่อยากเปลี่ยนงานเพื่อสามารถเลี้ยงชีพตนเองได้จะมีจำนวนสูงขึ้นในสังคมบ้านเราซึ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาหลายปีแล้ว นอกจากนี้ต้องไม่ลืมสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนหลายวงการ ทำตัวเป็นจิตอาสาช่วยเหลืองานของกลุ่มคนหรือสมาคมต่างๆ ผลของความมีน้ำใจของท่านจะทำให้ผู้อื่นเผื่อแผ่เอื้ออาทรกับท่านเช่นกัน

ตัวดิฉันเองก็ยังเปลี่ยนงานเมื่ออายุมากแล้วเพราะมีเพื่อนฝูงคนรู้จักชักชวนให้เปลี่ยนวงการ ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเลิกเป็นอาจารย์ที่สถาบันบัณฑิตศศินทร์ จุฬาฯ ซึ่งได้ทำงานกับศศินทร์มาถึง 28 ปี แต่พอทัศนคติเปลี่ยน หันมาสนใจงานด้านการรักษาพยาบาล ก็เปลี่ยนงานมามุ่งเน้นการพัฒนาคนในสายการรักษาพยาบาลได้ เพราะใจมันชอบ และเมื่อใจชอบก็ค้นคว้าหาข้อมูลสาขาเฉพาะนี้จนปรับตัวมาทำงานในสายนี้ได้โดยไม่สนใจเรื่องอายุที่เป็นเพียงตัวเลข จากประสบการณ์ของตัวเองทำให้เชื่อว่าคนเราเปลี่ยนและพัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิตถ้าใจมันอยากเปลี่ยน ชีวิตของเรา...เลือกออกแบบเองได้ค่ะ