ฮาร์วาร์ด vs. โควิด

ฮาร์วาร์ด vs. โควิด

เมื่อคณบดีของ Harvard Business School (HBS) พูดถึงวิสัยทัศน์ ทิศทาง และ กลยุทธ์ในการสอน MBA ผมเชื่อว่าคนในวงการ คงต้องเงี่ยหูฟัง

เดือนมิถุนายน 2019 คณบดีเชื้อชาติอินเดีย Nitin Nohria ได้เขียนเรื่อง The Physical Campus in a Virtual World ในบทนำหน้า 3 ของนิตยสาร Alumni Bulletin ซึ่งสะท้อนวิธีคิดของเขาเรื่องการสอน MBA

Nohria เล่าว่า ในห้องทำงานของคณบดี ด้านหนึ่งมีรูปแขวนอยู่หลายรูป ทุกรูปเป็นภาพสเก็ตช์ ที่ผู้ออกแบบอาคารแห่งแรกของ HBS ได้ส่งแบบเข้าประกวดเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้ว

หนึ่งในจำนวนนั้น เป็นภาพสเก็ตช์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และนำมาเป็นแบบก่อสร้าง อาคารเรียนแห่งแรกของ Harvard Business School ซึ่งเริ่มสร้างในปี 1925

Nohria บอกว่านั่นคืออาคารเริ่มต้นของ HBS และเล่าต่ออย่างภูมิใจว่า เวลาผ่านไปเกือบ 100 ปี เมื่อปลายปี 2018 อาคารใหม่เอี่ยมล่าสุดที่ฮาร์วาร์ด เพิ่งสร้างเสร็จ ก็เปิดใช้งาน

มีคนถามเขาบ่อยครั้งว่า ทำไมจึงยังลงทุนสร้างอาคารใหม่ๆ ในขณะที่การสอนออนไลน์กำลังเติบโต คำตอบของเขาคือ เขาเชื่อมั่นว่าถึงแม้การศึกษาออนไลน์ จะเติบโต และฮาร์วาร์ด ก็กำลังก้าวไปในทิศทางนั้น “แต่สำหรับ HBS แล้ว การเรียนออนไลน์ จะไม่สามารถทดแทนการเรียนการสอน ในอาคารเรียนได้

เขาอธิบายว่า อาคารเรียนของ HBS ได้ถูกออกแบบไว้อย่างพิถีพิถัน เช่นห้องเรียนแต่ละห้อง บรรจุนักศึกษา 90 คน มีการจัดโต๊ะเก้าอี้ให้เป็นระดับ ให้นักศึกษาทุกคน อยู่ในสายตาของอาจารย์ผู้สอน

เป็นที่เลื่องลือกันว่า ที่ HBS นั้น นักศึกษาจะต้องแย่งกันพูด และแข่งกันแสดงความเห็น ถ้าหากคนไหนไม่พูดอะไรเลย หรือพูดแต่ไม่มีประเด็น ก็มีโอกาสสอบตกสูงมาก เพราะคะแนนจากการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน จะหายไปทั้งหมด

ดังนั้นถ้าใครต้องนั่งมุมอับ หลุดพ้นไปจากสายตาอาจารย์ ก็อาจเสียเปรียบได้ จึงต้องออกแบบมุมมองในห้องเรียน อย่างพิถีถิถัน

เขาบอกว่าที่นั่น พยายามให้นักศึกษา อยู่หอพักในมหาวิทยาลัยให้มากที่สุด ยามค่ำคืนจะได้นัดหมาย เพื่อประชุมอภิปรายถกแถลง ทำเคสด้วยกัน และมีปฎิสัมพันธ์ต่างๆ 

นั่นเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ซึ่งเป็นมากกว่าแค่มีอาคารเรียน การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมาใช้ชีวิตด้วยกันเท่านั้น ถ้าหากนักศึกษากระจายกันอยู่ ตามอพาตเม้นต์ในเมือง ประสบการณ์ส่วนนี้ก็จะหายไปเช่นกัน

Nohria บอกว่า “ไม่มีอะไรทดแทน การมานั่งประชุมด้วยกัน คุยกัน วางเอกสารหรือพิมพ์เขียวลงบนโต๊ะ ชี้นิ้วไปที่ประเด็นต่างๆ และถกแถลงกัน

เพียง 9 เดือนผ่านไป หลังจากที่ Nohria ได้ให้ความเห็นดังกล่าว สถานการณ์โควิดก็ระบาดทั่วโลก จนกระทั่งปลาย Q2 ของปี 2020 อเมริกาก็มีอาการหนักที่สุดในโลก

มหาวิทยาลัยต่างๆต้องปิดตัวลงอย่างกะทันหัน ทุกมหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบอย่างหนัก และเมื่อนักศึกษาไม่กลับไปเรียนที่แคมปัส หอพักก็ว่างเปล่า อาหารขายไม่ได้ พนักงานหอพักและร้านอาหาร ถูกปลด ฯลฯ กระทบกันต่อเนื่อง และรายได้ของมหาวิทยาลัยหายไปฮวบฮาบ

ไม่ต่างอะไรกับธุรกิจหลายประเภท ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเรา ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

นอกจากนั้น นักศึกษายังกดดัน ขอเงินค่าเล่าเรียนบางส่วนคืนอีกด้วย เพราะการสอนออนไลน์จะคิดแพงเหมือนเดิมย่อมไม่ถูกต้อง ฯลฯ มหาวิทยาลัยต่างๆ จึงมีอาการหนักมาก

บางแห่ง ประกาศให้นักศึกษากลับมาเรียนในห้องเรียนได้ แต่แล้วก็ต้องยกเลิก หลังจากเปิดเรียนได้ไม่กี่สัปดาห์ เช่นมหาวิทยาลัยนอร์ทเตอร์เดม และ มหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท เป็นต้น เพราะโควิดในแคมปัส เริ่มระบาดเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

เดือนก.ค. 2020 มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทยอยประกาศว่าภาคการศึกษาฤดูใบไม้ผลิ จะเปิดการเรียนการสอนออนไลน์เท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงโรคระบาด ส่วนที่ฮาร์วาร์ด คณะดังๆอย่าง คณะแพทยศาสตร์ ก็ประกาศว่านักศึกษาใหม่ทุกคนจะเรียนออนไลน์เท่านั้น เช่นกัน

อีกหลายๆคณะของฮาร์วาร์ด เช่น กฎหมาย รัฐประศาสนศาสตร์ การศึกษา ฯลฯ ก็ประกาศว่าจะออนไลน์เช่นกัน มีเพียงส่วนน้อย เช่น HBS ที่ประกาศว่ายังเชื่อในปรัชญาการเรียน MBA ที่ได้ผล จะต้องมาจากการใช้ชีวิตในแคมปัส และเรียนร่วมกันที่ห้องเรียน

แต่เพื่อเป็นทางเลือก HBS จึงทำแบบ ไฮบริด คือเปิดโอกาสให้นักศึกษาเลือกว่าจะเรียนแบบออนไลน์ตลอดเวลาก็ได้ และถ้าอาจารย์จะเลือกว่าขอสอนแบบออนไลน์เท่านั้น ก็ทำได้เช่นกัน

ส่วนนักศึกษาคนใดที่เลือกเรียนในแคมปัส ก็จะจำกัดจำนวนนักศึกษาในห้องเรียน ให้น้อยลง และจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคระบาด ทุกประการ

ก็เป็นไปตามวิธีคิดของ Nohria ที่ผมเล่าไว้นั่นแหละครับ

สำหรับเมืองไทยเรา เมื่อวานนี้ผมไปประชุมสภาวิชาการ ที่สถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่ง มีพื้นที่กว้างขวาง และอาคารทันสมัยมากมาย แต่ผมเกือบจะไม่เห็นนักศึกษาเลย อาคารและพื้นที่จอดรถว่างเปล่า ผมไปประชุมทีไร ก็เห็นว่าเป็นเช่นนี้มาหลายเดือนแล้ว เพราะมหาวิทยาลัยไทย ส่วนมากก็ใช้วิธีสอนออนไลน์เหมือนกัน

เดือดร้อนกันไปทั่ว ก็เพราะเจ้าโควิดนี่แหละครับ ก่อนที่เจ้าตัวร้ายจะมาเยือนนั้น  มหาวิทยาลัยทุกแห่ง ก็ลำบากมาหลายปีแล้ว เพราะจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นน้อยมาก นักศึกษาใหม่มีน้อยลงทุกปี อาคารเรียนที่สร้างไว้ เพื่อรองรับความเติบโต กลับกลายเป็นพื้นที่เหลือเฟือ

โลกเปลี่ยนไปอย่างมาก และอย่างพลิกผันจริงๆ สอดคล้องกับ คำฮิต สมัยใหม่ที่เรียกว่า “VUCA” คือ Volatility, Uncertainty, Complexity, และ Ambiguity

ผมแปลเป็นไทยว่า มันเป็นโลกที่ทั้งหวือหวา ไม่แน่นอน ซับซ้อน และ ลางเลือน บรื๊อ! ฟังแล้วน่ากลัวจัง.... แต่กำลังเป็นจริงอยู่ครับ

อีกตัวอย่างที่ยืนยันว่ามันบ่แน่ดอกนาย” ก็คือตำแหน่งใหญ่โตอย่าง รัฐมนตรีคลัง ที่ใครๆก็น่าจะอยากได้ไว้ เป็นเกียรติยศศักดิ์ศรีของตนเองและวงค์ตระกูล แต่อะไรก็เปลี่ยนไปได้... ยุคนี้ คนมีฝีมือ กลับไม่มีใครกล้ารับเป็น!

เมื่อมีความพยายาม ก็ย่อมมีความสำเร็จ บัดนี้ท่านนายกฯ ไปหามาจนได้แล้ว และแย้มว่าอาทิตย์หน้ารู้กัน

จะเป็นใครก็ต้องเดากันไป แต่หวังว่า เดือนหน้า ท่านจะไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย ไปหาคนใหม่อีก...นะคร้าบ