พลวัตรเศรษฐกิจอีสานในรอบ 20 ปี (ตอนที่ 1)

พลวัตรเศรษฐกิจอีสานในรอบ 20 ปี (ตอนที่ 1)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่พูดกันในคำสั้นๆ ว่า “อีสาน” เป็นภูมิภาคหนึ่งของประเทศไทยที่ผู้คนมักจะนึกถึงอาหารที่อร่อย เช่น ข้าวเหนียว ส้มตำ

หรือเป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่สุดที่เต็มไปด้วยทุ่งนาเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ นอกจากนี้ในมิติเศรษฐกิจคนส่วนใหญ่มองภาพอีสานที่ผ่านมาเป็นพื้นที่เกี่ยวพันการทำการเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย หรือเป็นแหล่งกำลังแรงงานที่สำคัญของประเทศ แต่มีรายได้ต่อหัวต่ำสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ จากภาพเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้ผู้เขียนมีความสังสัยว่าข้อเท็จจริงที่ผ่านมาโครงสร้างเศรษฐกิจอีสานมีการเปลี่ยนแปลงบ้างหรือไม่ และอะไรคือความท้าทายและการปรับตัวของเศรษฐกิจอีสานในยุคที่ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี อย่างน้อยจุดเริ่มต้นของบทความนี้ผู้เขียนได้พิจารณาเหตุการณ์ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่เป็นช่วงสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในประเทศไทย

สำหรับโครงสร้างเศรษฐกิจอีสานในรอบ 20 ปี (2541 - 2560) เมื่อพิจารณาฐานข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (www.nesdc.go.th) พบว่าภาพเศรษฐกิจอีสานเทียบกับประเทศไทย และภูมิภาคอื่น ๆ เกือบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสัดส่วน และการเติบโตในรายได้(Real GRP) ของภาคอีสานเทียบกับประเทศกล่าวคือรายได้ภาคอีสานแต่ละปีคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 9% ของรายได้ทั้งประเทศ (เป็นอันดับ 2 รองจากภาคตะวันออก) ขณะที่การเติบโตรายได้ของภาคอีสานมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.05% ในช่วง 10 ปีแรก (2541 – 2550) เป็น 3.49% ในช่วง 10 ปีหลัง (2551 – 2560) อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตุว่าในช่วง 10 ปีหลัง แม้ตัวเลขการเติบโตของภาคอีสานจะไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่กลับมีการเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับการการเติบโตของประเทศ และเติบโตของภูมิภาคอื่นๆ สาเหตุสำคัญมาจากการเติบโตที่ลดลงของทุกภูมิภาคโดยเฉพาะภาคตะวันออกที่เติบโตลดลงจากประมาณ 6.17% ในช่วง 10 ปีแรก เป็น 3.18% ในช่วง 10 ปีหลัง

เมื่อพิจารณาโครงสร้างเศรษฐกิจภายในของภาคอีสานที่มีการแบ่งออกเป็น 3 ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญคือภาคการเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคการค้าและบริการ พบว่าแม้โครงสร้างสัดส่วนรายได้ของแต่ละภาคเศรษฐกิจในตลอด 20 ปี ที่ผ่านมาเกือบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ภาคการเกษตรกรรมกลับไม่ได้เป็นแหล่งรายได้สำคัญของอีสาน ในทางกลับกันเป็นภาคการค้าและบริการที่มีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับภาคอีสาน (หรือคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย 55% ของรายได้ทั้งภาค) โดยเฉพาะในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการศึกษา การค้าส่งและค้าปลีก ฯ และกิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งรายได้คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยเกือบ 30% ของรายได้ทั้งภาค โดยกิจกรรมส่วนใหญ่ที่ผ่านมาอยู่ในภาคการผลิตเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาโครงสร้างการเติบโตรายได้ของภาคอีสานกลับมีรูปแบบยึดโยงกับกิจกรรมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปกล่าวคือ แม้ว่าในช่วง 10 ปีหลัง รายได้ภาคอีสานยังคงมีการเติบโตมาจากฐานของกิจกรรมการผลิต และการศึกษา ซึ่งไม่แตกต่างจาก 10 ปีก่อนหน้านี้ แต่กิจกรรมเศรษฐกิจที่มีส่วนร่วมอย่างโดดเด่นต่อการการเติบโตรายได้ของภาคในช่วง 10 ปีหลัง กลับพบมี 2 สาขา คือ กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย และกิจกรรมการค้าส่งและค้าปลีก ฯ ขณะที่กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่เคยมีส่วนร่วมต่อการเติบโตในรายได้ของภาคในช่วงปี 2541 – 2550 กลับมีการเติบโตลดลงอย่างมากในช่วง 10 ปีหลัง

ทั้งนี้จากประเด็นโครงสร้างเศรษฐกิจอีสานดังกล่าวได้นำไปเชื่อมโยงสู่ความไม่สมดุลของรายได้ หรือการกระจายตัวของรายได้ที่แตกต่างกันของแต่ละจังหวัดในภูมิภาคนี้ ความไม่สมดุลนี้พิจารณาได้จากความไม่สอดคล้อง 3 เรื่อง เรื่องแรกคือกิจกรรมเศรษฐกิจ เรื่องสองคือแรงงานในแต่ละกิจกรรมเศรษฐกิจ (จากฐานข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ) และเรื่องที่สามคือจังหวัดที่รองรับกิจกรรมเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามในบทความนี้จะขอกล่าวถึงความไม่สมดุล 2 ประเด็นสำคัญ ประเด็นแรกคือ มูลค่าเพิ่มทางผลผลิตในกิจกรรมภาคการเกษตรกรรมได้สร้างรายได้ให้ไม่เกิน 20% ของรายได้ทั้งภาคอีสานตลอด 20 ปี แต่กลับเป็นแหล่งจ้างงานมากถึงเกือบ 60% ของการจ้างงานทั้งภูมิภาค ซึ่งอาจให้นัยว่าผลิตภาพแรงงานหรือรายได้ต่อหัวในภาคการเกษตรกรรมจะต่ำกว่าผลิตภาพแรงงานหรือรายได้ต่อหัวในภาคอุตสาหกรรม และภาคการค้าและบริการ โดยเปรียบเทียบ ประเด็นสอง พื้นที่รองรับกิจกรรมเศรษฐกิจ และการจ้างงานจาก 20 จังหวัดในภาคอีสานมีการกระจุกตัวสูงอยู่ใน 4 จังหวัดหลัก คือจ.นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี และจ.อุดรธานี หมายความว่าร้อยละประมาณ 50 ของรายได้ภาคอีสานมาจาก 4 จังหวัดดังกล่าว และการจ้างงานในภาคการค้าและบริการ และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแหล่งสร้างรายได้ถึง 80% ของรายได้ทั้งภาคอีสาน มีการกระจุกตัวใน 4 จังหวัดหลักถึงประมาณเกือบ 40% ของการจ้างงาน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ 50% รายได้ภาคอุตสาหกรรม ในอีสานมาจากจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดขอนแก่น ขณะที่ 30% ของการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมอยู่ใน 2 จังหวัดดังกล่าวเช่นกัน

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมาในภาพรวมโครงสร้างเศรษฐกิจอีสานไม่เปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงสัดส่วนและการเติบโตมากนัก แม้จะมีบางสาขาที่เติบโตโดดเด่นในช่วงระยะหลัง แต่กลับพบความไม่สมดุลของภูมิภาคนี้ที่มาจากการจ้างงานส่วนใหญ่ไปอยู่ที่ภาคการเกษตรกรรมที่สร้างรายได้ไม่มาก ขณะที่รายได้กว่าครึ่งของภาคอีสานหมุนเวียนอยู่ใน 4 จังหวัดหลักของภาค ซึ่งเชื่อมโยงอยู่กับภาคอุตสาหกรรมและการค้าและบริการ ดังนั้นในครั้งต่อไปผู้เขียนจะนำเสนอข้อมูลอะไรคือความท้าทายและการปรับตัวต่อความไม่สมดุลนี้ในบริบทภายใต้แผนยุทธศษสตร์ชาติ 20 ปี

โดย...

จักรกฤช เจียวิริยบุญญา

นรชิต จิรสัทธรรม

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น