ประเมินตลาดแรงงานไทย รอมาตรการรัฐหนุน รักษาการจ้างงาน

ประเมินตลาดแรงงานไทย  รอมาตรการรัฐหนุน รักษาการจ้างงาน

เมื่อเร็วๆนี้ สภาพัฒน์ฯรายงานภาวะสังคมไทยประจำไตรมาส 2 ปี 2563 ว่า ประเทศไทยมีผู้ว่างงาน 7.5 แสนคน

 คิดเป็นอัตราว่างงานร้อยละ 1.95 ของกำลังแรงงานรวม สาเหตุจากสถานที่ทำงานปิดกิจการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หรือหมดสัญญาจ้าง ขณะที่การจ้างงานปรับตัวลดลงโดยผู้มีงานทำมีจำนวน 37.1 ล้านคน ลดลงร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการลดลงทั้งผู้มีงานทำในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร

นอกจากนี้ สภาพัฒน์ฯยังได้รายงานสถานการณ์การว่างงานใน 4 ประเด็น คือ ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเท่าตัว จำนวนผู้ประกันตนรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (รายใหม่) เร่งตัวขึ้นมาก ผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและว่างงานน้อยกว่า 3 เดือน มีจำนวน 3.6 แสนคน และประเด็นที่ต้องติดตามระยะต่อไป ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี ปัญหาภัยแล้งต่อเนื่อง น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ผลของมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อการจ้างงาน

จากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนว่าตลาดแรงงานไทยอาจมีความเปราะบางมาตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤติโควิด-19 ดังเห็นได้จาก

ประการแรก จำนวนผู้มีงานทำลดลงทั้งในช่วงก่อนโควิด-19 จาก 37.8 ล้านคน ณ ไตรมาส 2 ปี 2562 เหลือ 37.4 ล้านคน ณ ไตรมาส 1 ปี 2563 และเมื่อเข้าสู่ภาวะวิกฤติโควิด-19 เหลือ 37.1 ล้านคน ณ ไตรมาส 2 ปี 2563 สาเหตุจากปัจจัยทั้งเชิงวัฏจักร กล่าวคือ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจทำให้ความต้องการแรงงานมีน้อยลง และปัจจัยเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะการออกจากกำลังแรงงานของกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น รวมไปถึงความไม่สอดคล้องระหว่างทักษะของแรงงานที่ไม่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง (Skills Mismatch)

ประการที่สอง จำนวนชั่วโมงการทำงานลดลง โดยเฉพาะแรงงานที่ทำงานต่ำกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นระดับการทำงานปกติ สาเหตุจากการทำงานไม่เต็มเวลาหรือการถูกตัดค่าล่วงเวลาของกลุ่มคนทำงาน โดยคนกลุ่มนี้มีจำนวนลดลงจาก 27.4 ล้านคน ณ ไตรมาส 2 ปี 2562 เหลือ 24.4 ล้านคน ณ ไตรมาส 1 ปี 2563 และเหลือ 22.6 ล้านคน ณ ไตรมาส 2 ปี 2563 หรือหายไปถึง 4.8 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าว

ประการที่สาม จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น โดยจำนวนผู้ว่างงานรวมเฉลี่ยในไตรมาส 2 ปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 7.5 แสนคน เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากช่วงปกติ และเป็นอัตราสูงสุดตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2552 และนับเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน 

สาเหตุจากผลกระทบของโควิด-19 เป็นสำคัญ

มองไปข้างหน้า แรงงานจำนวนหนึ่งยังมีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้าง ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราการว่างงานขยับขึ้น อย่างไรก็ดี คาดว่าการดูดซับแรงงานจากมาตรการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจภายใต้พ.ร.ก.กู้เงินวงเงิน 400,000 ล้านบาท จะมีส่วนช่วยประคองตลาดแรงงานไทย ซึ่งขณะนี้ได้ดูดซับผู้ว่างงานไปแล้ว 8.6 หมื่นอัตรา ขณะที่โครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะเริ่มจ้างงานภายในเดือนตุลาคม 2563 น่าจะดูดซับแรงงานได้ถึง 3.0 แสนอัตรา รวมทั้งมาตรการจ้างงานเด็กจบใหม่ 2.6 แสนอัตราโดยรัฐสมทบจ่ายคนละครึ่งกับนายจ้าง ตลอดจนมาตรการลดต้นทุนและเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการในช่วงก่อนหน้า อาทิ มาตรการภาษี มาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม มาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จะมีส่วนช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการและรักษาการจ้างงานได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ภาคเกษตรกรรมซึ่งมักเป็นภาคที่ดูดซับแรงงานนอกภาคเกษตรเมื่อเกิดวิกฤต ในรอบนี้ก็ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรุนแรงสลับน้ำท่วมหนักในปีนี้ และรวมถึงผลกระทบทางอ้อมจากกำลังซื้อที่หดตัว ทำให้ความสามารถในการดูดซับแรงงานจากภาคอื่นๆ มีค่อนข้างจำกัด นอกจากนี้ ยังมีแรงงานอีกจำนวนหนึ่งที่แม้จะยังไม่ตกงาน แต่จำนวนชั่วโมงทำงานและรายได้ก็ได้หดหายลงอย่างมากหรือกระทั่งอาจไม่มีรายได้เลยในบางช่วง จึงยังคงรอมาตรการเสริมที่จะเข้ามาช่วยให้ผู้ว่างงานสามารถมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น