เศรษฐกิจไทยที่มีคุณภาพ คือคุณภาพชีวิตของคนไทย

เศรษฐกิจไทยที่มีคุณภาพ คือคุณภาพชีวิตของคนไทย

Healthy Nation แปลว่า ประเทศที่มีคุณภาพหรือสุขภาพดี

ทุกท่านครับ และแล้วคอลัมน์ 'Healthy Nation' ก็เดินทางมาถึงสัปดาห์สุดท้าย

3 ปีที่แล้วตอนผมเริ่มเขียนคอลัมน์นี้ ตั้งใจใช้ชื่อ Healthy Nation แปลว่า ประเทศที่มีคุณภาพหรือสุขภาพดี คุณภาพในที่นี้ครอบคลุมทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ทั้งหมายถึงสุขภาพจริงๆ ของประชาชน และสุขภาพของสังคมเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน

เป้าหมายของการเขียนคอลัมน์ เพื่อแบ่งปันมุมมองว่า เศรษฐกิจที่มีคุณภาพควรเป็นอย่างไร ประเทศที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีควรเป็นอย่างไร มีประเด็นอะไรในสังคมที่เราควรขบคิด เพื่อนำพาประเทศไปสู่จุดที่ดีกว่านี้

สำหรับผม ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจกับชีวิตผู้คนคือเรื่องเดียวกัน เศรษฐกิจที่ดี มีคุณภาพ ช่วยให้คนในสังคมกินดีอยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีไปด้วย

ดีใจที่หลายบทความได้รับการแชร์หรือตอบรับจากคนอ่าน เช่น บทความ 'ออทิสติก ต้นทุนทางเศรษฐกิจและความท้าทายของสังคมไทย' ที่นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) และประธานมูลนิธิออทิสติกไทย ส่งอีเมลมาขอบคุณ บอกว่าได้กำลังใจจากบทความ หรือบทความเรื่อง 'ดินดีกำลังจะหมดไปจากโลก' ที่คุณหมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุณานำไปเผยแพร่ต่อ สร้างความรับรู้ในวงกว้าง หรือบทความ 'ในวันที่เด็กไทยขาด Critical Thinking' ที่บนเว็บไซต์มีผู้อ่านมากกว่า 60,000 คน และแชร์กันเยอะ จนมีคนวนส่งกลับมาถึงผมโดยไม่ทราบว่าผมเป็นคนเขียน

การได้นำความรู้มารับใช้ท่านผู้อ่านผ่านข้อเขียนในคอลัมน์นี้ นับเป็นเกียรติอย่างยิ่ง สำหรับบทความสุดท้าย อยากแบ่งปันมุมมองกับทุกท่านว่า อะไรคือความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เพื่อเราจะได้เตรียมรับมือความท้าทายเหล่านี้กัน

ในความเห็นผม ความท้าทายสำคัญของเศรษฐกิจไทยในวันนี้มีอย่างน้อย 5 ประการ

ประการแรก โครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศที่อ่อนแรงในทุกมิติ วิกฤตโควิดทำให้เราเห็นความเปราะบางนี้ชัดขึ้น เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมากสุดใน ASEAN โดย ASEAN +3 Macroeconomic Research Office (Amro) คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้หดตัวที่ 7.8% เทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศใน ASEAN ที่ประเมินว่าหดตัว -2.6%

ผลกระทบจากโควิดที่หนักกว่าประเทศอื่น สะท้อนความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย ที่เน้นพึ่งพาอุตสาหกรรมการส่งออกและท่องเที่ยว ขณะที่เมื่อไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกและท่องเที่ยวได้ ฟันเฟืองเศรษฐกิจไทยตัวอื่น ก็พึ่งพาไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ภาคเกษตรกรรมที่มีแรงงานเกือบ 40% แต่สร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้ต่ำกว่า 10% ของ GDP ความอ่อนแอของภาคเศรษฐกิจในประเทศทำให้การรับมือความท้าทายทางเศรษฐกิจทำได้ยาก และรับความผันผวนสูงจากปัจจัยภายนอก

ประการที่ 2 เศรษฐกิจโลกพึ่งพาได้ยากขึ้น ผลจากสงครามการค้า การใช้นโยบายปกป้องตนเองของหลายประเทศ ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ทำให้การค้าโลกขยายตัวน้อย เศรษฐกิจโลกเติบโตลำบาก

ประการที่ 3 การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตยาก ภายในปี 2050 สัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปของไทยจะสูงถึง 30% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 16% และค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาที่ 14% โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่พร้อมเข้าสู่วัยเกษียณ มีปัญหาการเงิน เงินที่สะสมมาไม่พอเลี้ยงชีพ หลายคนยังมีหนี้ที่สร้างไว้ตั้งแต่วัยทำงานและยังใช้หนี้ไม่หมด การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเสี่ยงกระทบต่อผลิตภาพทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตแต่ละครัวเรือน และภาระการคลังของรัฐบาล

ประการที่ 4 ภาวะโลกร้อน ที่เสี่ยงกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากเป็นพิเศษ ในฐานะที่มีครัวเรือนอยู่ในภาคเกษตรกรรมมาก ภาวะโลกร้อนเสี่ยงทำให้ผลผลิตทางเกษตรลดลง กระทบรายได้ครัวเรือน ยังไม่นับผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ประการที่ 5 ผลจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างฉับพลัน (Technology Disruption) เสี่ยงทำให้หลายอุตสาหกรรมของไทยสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน แรงงานที่ไม่เท่าทันเทคโนโลยีใหม่ๆ เสี่ยงตกงาน การลงทุนจากต่างประเทศเสี่ยงลดลง

ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในวันนี้ ต้องการการเตรียมพร้อมรับมืออย่างเร่งด่วน จำเป็นที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องช่วยกันขบคิดและเตรียมรับมืออย่างจริงจัง

เศรษฐกิจกับชีวิตผู้คนคือเรื่องเดียวกัน ผมหวังเห็นเศรษฐกิจไทยมีคุณภาพ ช่วยสร้างสุขภาพดีให้สังคมไทยครับ