องค์กรนวัตกรรม Innovative Organization

องค์กรนวัตกรรม Innovative Organization

เมื่อพูดถึงเรื่องของนวัตกรรม คนทั่วไปมักจะมองเห็นภาพของสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือการบริการใหม่ ๆ เป็นอันดับแรก

แต่ส่วนใหญ่มักจะยังไม่ค่อยคิดถึงความเป็นนวัตกรรมในระดับองค์กรหรือระดับบริษัท ซึ่งหากองค์กรใด หรือบริษัทใด จะได้ชื่อว่าเป็นองค์กรนวัตกรรมแล้ว ผลผลิตหรือผลงานที่ออกมาจากองค์กรนี้ ย่อมการันตีได้ถึงความเป็นนวัตกรรมได้อย่างยั่งยืนและต่อเนื่องตลอดเวลา

โมเดลการจัดการนวัตกรรมในระดับองค์กรหรือระดับบริษัท ซึ่งนำเสนอโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) แบ่งกรอบการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมขององค์กรออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับยุทธศาสตร์ ระดับปฏิบัติการ และ ระดับสนับสนุน ซึ่งเรียกชื่อโมเดลนี้ว่า โมเดล Innovative Organization Model หรือเรียกสั้น ๆ ว่า IOM

ซึ่งถือได้ว่า หากองค์กรหรือบริษัท สามารถพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมขององค์กรในทั้ง 3 ด้านได้อย่างเป็นระบบ ก็จะทำให้องค์กรหรือบริษัท มีรากฐานที่ดีสำหรับการพัฒนาไปสู่การเป็น องค์กรนวัตกรรม ได้ในที่สุด

การพัฒนานวัตกรรมใน ระดับยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย แนวคิดสำคัญใน 2 มิติ ได้แก่ มิติของการกำหนดยุทธศาสตร์นวัตกรรม และ มิติของการมุ่งเน้นผลลัพธ์ของวัตถุประสงค์ขององค์กร ซึ่งสำหรับบริษัท ก็หมายความถึง การมุ่งเน้นผลของการดำเนินธุรกิจ นั่นเอง

ยุทธศาสตร์นวัตกรรม ขององค์กร จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ การกำหนดวิสัยทัศน์หรือวัตถุประสงค์ของธุรกิจที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับการกำหนดยุทธศาสตร์นวัตกรรมที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของธุรกิจ การประกาศค่านิยมร่วมด้านนวัตกรรม ให้บุคลากรทุกคนในองค์กรได้รับทราบ และ การจัดให้มีระบบติดตามและประเมินผลว่า ยุทธศาสตร์นวัตกรรมที่กำหนดไว้นั้น ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

การมุ่งเน้นผลการดำเนินธุรกิจ จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ การวางแผนการตลาดด้วยข้อมูลเชิงลึก การสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า และ การกำหนดแนวทางและความเข้มข้นของนวัตกรรมที่จะตอบสนองตลาดและลูกค้าหลักขององค์กร

ใน ระดับปฏิบัติการ ประกอบด้วยแนวคิดสำคัญในอีก 2 มิติ ได้แก่ มิติของกระบวนการที่จะนำมาใช้ และ มิติของผลลัพธ์จากนวัตกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้น

กระบวนการที่สำคัญที่จะผลักดันให้องค์กรหรือธุรกิจ กลายเป็นองค์กรนวัตกรรม ประกอบด้วย กระบวนการที่จะใช้สร้างสรรค์นวัตกรรม กระบวนการจัดการห่วงโซ่อุปทาน และ กระบวนการจัดการเครือข่ายพันธมิตรนวัตกรรม

ส่วน ผลลัพธ์จากนวัตกรรม ได้แก่ ความสำเร็จและการยอมรับของนวัตกรรมที่นำเสนอต่อตลาด (ในแง่ของบริษัท) หรือนำเสนอต่อสังคม (ในแง่ขององค์กรภาครัฐหรือองค์กรไม่แสวงหากำไร) ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจหรือสังคม และ ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นจากผลลัพธ์ของนวัตกรรม

 ใน ระดับสนับสนุน องค์กรนวัตกรรมจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงสุด ในมิติด้าน บุคลากร เช่น การสรรหาผู้นำ ผู้สนับสนุน และโครงสร้างที่เป็นรูปธรรมให้แก่บุคลากรที่จะเป็นผู้ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมขึ้นในองค์กร ในมิติด้านวัฒนธรรมองค์กรนวัตกรรม เช่น การมุ่งสู่ค่านิยมของการริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรม การทำงานร่วมกันเป็นทีม และการสร้างแรงจูงใจ

นอกจากนี้ องค์กรนวัตกรรม ยังต้องเป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ที่จำเป็น และมีการพัฒนาองค์ความรู้ ระบบการแบ่งปันความรู้ ที่จะนำไปสู่กลไกการเรียนรู้ขององค์กร และจะลืมไม่ได้ถึง การสนับสนุนในด้านทรัพยากร ที่จำเป็นในการผลักดันในเกิดนวัตกรรมและการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากผลของนวัตกรรม

องค์ประกอบทั้งหมดที่จะทำให้ธุรกิจและองค์กร สามารถก้าวไปสู่วิถีของการเป็น องค์กรนวัตกรรม ได้นำมากล่าวถึงโดยละเอียด ในหนังสือ “Innovative Organization – Book of Knowledge การจัดการสู่องค์กรนวัตกรรม  ความยาว 166 หน้า ซึ่งจัดทำขึ้นโดย สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (Innovation Foresight Institute – IFI) ภายใต้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ สถาบันวิทยาการจัดการ (TRIS Academy of Management – TAM) ร่วมกันจัดทำขึ้น

ท่านผู้อ่านที่สนใจ สามารถหาอ่านได้ฟรี ในระบบ eBook หรือ จะดาวน์โหลดมาอ่านในรูปแบบของไฟล์ pdf ได้ที่ https://ifi.nia.or.th/wp-content/uploads/2020/09/Innovative-Organization-BOOK_digital_09-2020.pdf

เป็นอีกหนึ่งบริการดี ๆ ที่น่าสนใจ และขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA