หุ้นเทคโนโลยีกับฟองสบู่ Dot-Com!

หุ้นเทคโนโลยีกับฟองสบู่ Dot-Com!

ตลาดหุ้นสหรัฐเริ่มปรับตัวลงตั้งแต่ต้นเดือนก.ย.นำโดยกลุ่มเทคโนโลยี โดยดัชนี S&P500ลดลง 8.4% ส่วนดัชนี NASDAQ ตกลงมากกว่า10% (ข้อมูลณ 21 ก.ย)

การปรับฐานครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ดัชนีทั้งสองทำจุดสูงสุดในประวัติการณ์จากการปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 60% และ 75% ตามลำดับ จากจุดต่ำสุดที่เกิดขึ้นในรอบนี้เมื่อ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งการที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาเพียงไม่กี่เดือนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่ตลาดหุ้นจะปรับฐานจากแรงขายทำกำไร

นักลงทุนอาจกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับช่วงฟองสบู่ Dot-Com ในปี 2000 ที่ดัชนี NASDAQ ร่วงลงจากจุดสูงสุดถึงราว 80% และใช้เวลายาวนานถึง 15 ปี กว่าที่จะฟื้นกลับมาที่จุดเดิม วิกฤติ Dot-Com ทำให้บางบริษัทต้องปิดตัวลงและนักลงทุนสูญเงินจำนวนมาก ซึ่งฟองสบู่ในครั้งนั้นเป็นผลมาจากเม็ดเงินจำนวนมากไหลเข้าไปเก็งกำไรในหุ้นกลุ่ม IT ส่งผลให้ราคาหุ้นพุ่งทะยานขึ้นเป็นเท่าตัวได้นับตั้งแต่วันแรกที่เข้าซื้อขายในตลาดหุ้น ทั้งๆ ที่บริษัทส่วนใหญ่ยังไม่มีกำไร และบางบริษัทยังไม่มีแม้กระทั่งรายได้ นอกจากนี้ ราคาหุ้นที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงนั้นยังดึงดูดบริษัท Start-up ให้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้นๆ เกิดเป็นวงจรและการขยายตัวของฟองสบู่

อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาสถานะทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี NASDAQ รวมถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เราประเมินว่าราคาหุ้นเทคโนโลยีที่ปรับเพิ่มขึ้นมากในปีนี้ แตกต่างจากวิกฤติ Dot-Com 5 ประการ ดังนี้

1. ความเร็วที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้น ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ Dot-Com ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ในเวลาเพียง 5 ปี (1996-2000) แต่ในช่วงปี 2015-2020 ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 1.3 เท่า หรือ 137% นับถึงจุดสูงสุดในช่วงต้นเดือนก.ย. ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่ามาก

2. ระดับ Valuation ถูกกว่าช่วงวิกฤติ Dot-Com ค่อนข้างมาก โดยปัจจุบันซื้อขายที่ระดับอัตราส่วนราคาต่อกำไรใน 12 เดือนข้างหน้า (Forward P/E) 36 เท่า (ข้อมูล ณ 21 ก.ย.) ต่ำกว่าช่วงวิกฤติ Dot-Com ที่ 73 เท่า ในช่วงต้นปี 2001 อย่างมาก

3. อัตราการเติบโตของกำไร นักวิเคราะห์คาดการณ์กำไรปี 2020 จะเติบโต 38.6% และในปี 2021 จะเติบโตได้อีก 31.8% จากความต้องการใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้นทั่วโลก ต่างจากช่วงปี 2001 ที่บริษัทโดยรวมยังขาดทุนอยู่

4. ความสามารถในการทำกำไร ช่วงปี 2000 เป็นยุคเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ต บริษัทเทคโนโลยีส่วนใหญ่อยู่ในช่วงแรกของการทำธุรกิจและไม่มีกำไร อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ติดลบ 18% ในปี 2001 ขณะที่ปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีส่วนใหญ่สามารถสร้างกำไรได้อย่างแข็งแกร่ง โดยมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ราว 10%

5. ศักยภาพการเติบโตของหุ้นเทคโนโลยีมีมากขึ้น ด้วยจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น และรวยขึ้น ปัจจุบันประชากรโลกมีทั้งสิ้น 7.8 พันล้านคนและมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 11,436 ดอลลาร์ต่อปี ขณะที่ช่วงปี 2000 โลกมีประชากรเพียง 6.1 พันล้านคน และรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ราว 5,000 ล้านดอลลาร์ เท่านั้น นอกจากนี้เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าขึ้น มีพัฒนาการจากการใช้ Hardware ไปเป็น Software มากขึ้น เช่น ระบบจัดเก็บข้อมูลแบบ Cloud Computing, ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) รวมไปถึงการใช้ระบบอัตโนมัติต่างๆ ในหลายอุตสาหกรรม และที่สำคัญการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเร่งการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน

แม้ว่าปัจจัยต่างๆ จะบ่งชี้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่น่าจะนำไปสู่เหตุการณ์คล้ายกับวิกฤติ Dot-Com อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นยังต้องเผชิญความผันผวนจากความไม่แน่นอนหลายด้าน ทั้งความสำเร็จในการคิดค้นวัคซีนต้านโรคโควิด-19 รวมถึงการเลือกตั้งสหรัฐ ที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ และถึงแม้ว่าถึงแม้ภาพรวมอุตสาหกรรม IT จะดูดี แต่ยังมีบริษัทที่ขาดทุน นอกจากนี้ เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การรักษาสถานะผู้นำที่จะสร้างรายได้และกำไรให้ผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง ต้องอาศัยศักยภาพในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการวิจัยพัฒนา การทดลองและทดสอบ การรับมือกับกฎเกณฑ์ภาครัฐรวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องเลือกลงทุน ซึ่งการลงทุนโดยอาศัยทีมผู้เชี่ยวชาญที่จะวิเคราะห์ถึงปัจจัยรอบด้าน จะทำให้นักลงทุนสามารถก้าวผ่านความกังวลระยะสั้นและไม่พลาดโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว