ไม่แก้รัฐธรรมนูญเพราะ “กลัวนิรโทษกรรมสุดซอย”

ไม่แก้รัฐธรรมนูญเพราะ “กลัวนิรโทษกรรมสุดซอย”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในมาตรา 50 (1)

 บัญญัติถึงหน้าที่ประการสำคัญของปวงชนชาวไทยไว้ว่า “พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ประกอบกับในมาตรา 25 ความตอนหนึ่งได้ระบุไว้ชัดเจนว่า “การใช้สิทธิเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น”

ถ้อยกระทงความที่นำมากล่าวอ้างนี้ เป็นสิ่งสำคัญเพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของแผ่นดิน อีกทั้งในมาตรา 255 ระบุไวชัดเจนว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้

แต่สิ่งที่ผมได้เฝ้าติดตามการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ด้วยความสนใจและต้องการทราบถึงเนื้อหาสาระในการเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่บางฝ่ายต้องการไปถึงการ “ยกร่างใหม่” ซึ่งจากการเฝ้าติดตามในทุกช่องทางที่สำนักข่าวหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น ทีวีไทย สำนักข่าวของกลุ่มเคลื่อนไหวที่เผยแพร่ทางออนไลน์มาตั้งแต่ก่อนเที่ยงของวันนั้น กระทั่งประมาณสองนาฬิกาของวันใหม่ หาได้พบประเด็นการเสนอแนะแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราหนึ่งมาตราใดที่เป็นรูปธรรมชัดเจน

แต่กลับกลายเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ด้วยความรุนแรง เข้าข่ายผิดกฎหมายในหลายบทหลายมาตรา ทำให้การยื่นข้อเรียกร้องของฝ่ายชุมนุม กระทำได้เพียงยื่นผ่านผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งย่อมสะท้อนให้เห็นถึงการได้รับการยอมรับและความชอบธรรมของฝ่ายชุมนุมว่ามีมากหรือน้อยเพียงใด

ประการสำคัญ คดีความหลายเรื่องที่เชื่อว่าผู้นำการชุมนุมแม้ไม่ทราบด้วยตนเองก็น่าจะมีผู้มีความรู้ให้คำปรึกษาแนะนำว่า สิ่งใดกระทำไปแล้วจะเกิดผลในทางใดอย่างไร แต่กลายเป็นการพอกพูนความผิดทับถมทวีคูณขึ้นมา จึงทำให้อำนาจในการเจรจาต่อรองกับผู้รักษาบังคับใช้กฎหมายมีความเบาบาง และลดทอนไปแทบไม่มีน้ำหนักอีกต่อไป

เมื่อในวันรุ่งขึ้นมีทั้งบุคคลและหน่วยงานทางราชการหลายแห่งได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีตามพฤติกรรมที่ปรากฏชัด จึงทำให้สถานะของผู้นำในการชุมนุมอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะถูกควบคุมตัวมาดำเนินคดีได้ในทุกเวลา ด้วยหลายเรื่องเป็นการขัดคำสั่งของศาลที่ได้เคยมีการออกคำสั่งไว้แล้ว

จึงไม่แปลกใจที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมในเหตุการณ์ส่วนใหญ่กลายเป็นมวลชนของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มคนเสื้อแดง” และกลุ่มอื่นๆ ที่มีแหล่งข่าวหลายแหล่งเห็นตรงกันว่าเป็นกลุ่มที่ฝ่ายการเมืองบางฝ่ายได้จัดตั้งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับผู้ชุมนุมอย่างเป็นระบบของฝ่ายความมั่นคง เช่น การมีเต็นท์ตรวจวัดอุณหภูมิป้องกันการแพร่ระบาดโควิด และยังมีระบบตรวจสอบอาวุธด้วยช่องทางอัตโนมัติที่ติดตั้งไว้ล่วงหน้า เพราะน่าจะมีการประเมินจำนวนผู้ชุมนุมจากสายข่าวทั่วประเทศแล้วว่าผู้ชุมนุมจำนวนมากจะหลั่งไหลมาจากหลายพื้นที่ในต่างจังหวัด หาใช่เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่ามาก

การขับเคลื่อนไปยังรัฐสภาของกลุ่มยื่นข้อเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกกลุ่มหนึ่ง เพื่อกดดันให้รัฐสภาจะต้องรับหลักการหรือแก้ไขเพิ่มเติมหรือแม่แต่อาจต้องร่างใหม่ ย่อมไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่เปิดช่องทางออกให้กับรัฐสภา เพราะสิ่งที่ผู้ชุมนุมต้องการคือจะต้องแก้ไขหรือกระทั่งทำการยกร่างใหม่ดังว่าแต่เพียงเท่านั้น

ปัญหาที่หลายท่านอาจไม่ทราบคือ เมื่อใดที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกยกร่างขึ้นมาใหม่ เพราะเป็นการประกอบกับรัฐธรรมนูญที่ต้องเป็นปัจจุบัน ทำให้สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลคือ การนิรโทษกรรมสุดซอย” นั่นคือมีความเป็นไปได้ที่อาจมีการแก้บทบัญญัติในกฎหมายหลายเรื่องราว เช่น การยกเลิกการตัดสิทธิเลือกตั้งที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ หรือกระทั่งยกเลิกกฎหมายอื่นที่เป็นการกำหนดโทษที่เคยมีในอดีตให้กลายเป็นไม่มีโทษหรือยกโทษไปเลยก็อาจเป็นไปได้

นั่นหมายถึงโทษหนักอย่างกรณียุบพรรคการเมืองที่เคยมีอาจไม่มีอีกต่อไป โทษของผู้กระทำผิดที่ต้องโทษก็อาจหายไปด้วย จึงเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายกังวลว่านี่อาจเป็นเหตุผลของความพยายามอย่างยิ่งยวดในการที่จะพยายามล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่เป็น “ยาแรง” เพราะหลักกฎหมายย่อมมีผลย้อนหลังในทางที่เป็นคุณได้ นั่นคือหากกฎหมายได้ยกเลิกการกำหนดโทษในพฤติกรรมแห่งคดีที่เป็นความผิดแล้ว จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากกฎหมายใหม่ไปด้วย

นี่คือสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าความพยายามนิรโทษกรรมหรือการออกกฎหมายที่ล้อเลียนกันว่าเป็นการ “ลักหลับ” ของนักการเมืองในอดีตอย่างดูจะแนบเนียนแต่ก็คาดเดาได้ไม่ยาก