ผู้นำเก่ง ดูจากอะไร? (ตอนที่ 1)

ผู้นำเก่ง ดูจากอะไร? (ตอนที่ 1)

เมื่อกลางปีที่แล้ว ทีมงานของสลิงชอท นั่งทบทวนเป้าหมายขององค์กร

15 ปีที่ผ่านมาเราได้มีโอกาสพัฒนาผู้นำองค์กรในเมืองไทยไปกว่า 500 องค์กร ผู้นำ 100,000 คน

การก้าวเข้าสู่ปีที่ 15 เรามีฝันที่ยิ่งใหญ่คือการช่วยพาผู้นำองค์กรไทย ไปสู่ระดับมาตรฐานโลก  

คำถามจึงเกิดขึ้น ผู้นำเก่ง ๆ ดูจากอะไร มันมีดัชนีอะไรที่เป็นตัวชี้วัดไหม

หากจะดูระดับชาติก็มีดัชนีวัดสุขภาพเศรษฐกิจ เช่น การค่า GDP

ระดับองค์กรก็มีดัชนีวัดสุขภาพองค์กร เช่น ยอดขาย กำไร สุขภาพพนักงาน ระดับความผูกพันในองค์กร

ระดับบุคคลก็มีดัชนีวัดสุขภาพ เช่น ค่าคอเลสเตอรอลในเลือด ไม่ควรเกิน 200mg/dl ดัชนีมวลกายที่  18.5 – 22.9 จึงจะเรียกว่าสมส่วน ไม่อ้วนไป หรือผอมไป

การมีดัชนี (Index) เหล่านี้เป็นมาตรฐานให้เรารู้ถึงสถานะปัจจุบัน เราใช้ชีวิตมีพฤติกรรมอย่างไร เพราะค่าเหล่านี้ล้วนเป็นตัวสะท้อนพฤติกรรมการกิน การนอน การใช้ชีวิต แนวคิด การมองโลก การบริหารความเครียด เป็นต้น และช่วยให้เราปรับพฤติกรรมได้ทันเพื่อกลับมามีสุขภาพดี

แต่อะไรคือดัชนีชี้วัดตัวผู้นำองค์กร?

เมื่อเป้าหมายของเราคือต้องการช่วยพัฒนาผู้นำองค์กรไทย ให้พาองค์กรไปสู่ระดับโลก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำองค์กรต้องรู้สุขภาพการนำองค์กรของตนเอง เพื่อที่จะได้ปรับพฤติกรรม เสริมทักษะได้ทัน

จากวันนั้นจนถึงวันนี้เกือบ 1 ปี ที่เราลุกขึ้นมาตั้งทีมศึกษาชะนีวัดสุขภาพผู้นำองค์กร ประกอบด้วยทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ รวมถึงนักพัฒนา ผู้นำองค์กร และที่ปรึกษากว่า 20 ชีวิตที่มาร่วมทดสอบ เปรียบเทียบผลกับ 38 สถาบันทั่วโลก 21 องค์กรชั้นนำในไทย เพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องมือและตัวชี้วัดสุขภาพผู้นำไทยในการพาองค์กรไปสู่ระดับสากล จึงถือเป็นเครื่องมือระดับมาตรฐานสากล โดยคนไทย เพื่อคนไทย เพราะเมื่อวัดถูกจุดก็แก้ไขตรงจุด

เราพบคุณลักษณะหลัก (Persona) ของผู้นำองค์กรไทย 6 Persona ที่ได้ถูกดึงออกมาว่าเป็นคุณลักษณะเฉพาะสำหรับ “คนไทย” กับการก้าวสู่ “เวทีโลก”

  1. นักสำรวจความแปลกใหม่ (Uncharted Explorer) ผู้นำที่มองเห็นโอกาส กล้าเสี่ยงที่จะทำอะไรใหม่ ๆ เพื่อพัฒนางานและเสริมสร้างธุรกิจ สามารถรับมือกับความผันผวน ความไม่แน่นอน ความคลุมเครือ และ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น อีกทั้งยังต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองในเรื่องส่วนตัวด้วย
  2. นักรบผู้พิชิตความสำเร็จ (Success Warrior) ผู้นำต้องผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ภายใต้ภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงและคู่แข่งมากมายที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ด้วยการมองหาและสร้างความแตกต่างเพื่อให้เกิดการได้เปรียบทางการแข่งขัน ด้วยการมีความรู้ความเข้าใจและสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ เพื่อพาองค์กรให้อยู่รอดและเติบโต
  3. นักสื่อสารผู้เข้าใจคน (Empathic Communicator) ผู้นำต้องมีคุณธรรมเป็นพื้นฐานและเป็นตัวอย่างที่ดี สามารถกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้ ทีมงานเข้าใจและเดินไปในทิศทางเดียวกัน ผ่านการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาและเปิดใจรับฟัง ความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
  4. นักผนึกพลัง (Synergistic Winner) ผู้นำต้องรู้จักมอบหมายกระจายงานและกระจายอำนาจในการตัดสินใจ รวมทั้งสร้างสัมพันธ์ภาพที่ดีกับบุคลากรภายในและผู้มีส่วนได้เสียภายนอก ที่สำคัญต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากอำนาจและการเมืองภายในองค์กร อย่างถูกต้องให้เกิดประสิทธิผลเต็มที่
  5. นักส่งเสริมความหลากหลาย (Diversity Promoter) ทักษะสำคัญอีกประการสำหรับผู้นำที่จะได้รับการยอมรับระดับโลก คือต้องสามารถมองเห็นภาพใหญ่ เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจากมุมมองระดับสากล และรู้จักใช้ประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์ที่นับวันจะทำให้โลกค่อย ๆ เล็กลง นอกจากนั้นยังต้องให้ความสำคัญและให้คุณค่ากับความแตกต่างที่หลายหลาย รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงบุคลากรภายในองค์กรให้เข้าใจโลก ภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาได้อีกด้วย
  6. ผู้ถือไฟนำทาง (Torch Bearer) สุดท้ายแต่ไม่ใช่สำคัญน้อยสุด ผู้นำต้องทำหน้าที่เป็นเสมือนผู้ถือถือไฟฉายหรือคบเพลิงนำทาง ต้องเป็นผู้ที่มีสายตายาวไกล สามารถมองเห็นและคาดเดาแนวโน้มต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างชัดเจนแม่นยำ และต้องเตรียมพร้อมด้วยการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ ๆ ไว้ให้ กับองค์กร รวมทั้งต้องสร้างวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นความสำเร็จในระยะยาวอย่างยั่งยืน และต้อง ถ่ายทอดประสบการณ์ องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่มีไว้กับองค์กร เพื่อไม่ให้สิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้สูญหายไปเมื่อผู้นำไม่อยู่แล้ว

ส่วนตัวเลขดัชนีในแต่ละข้อควรเป็นอย่างไร ติดตามกันฉบับต่อไปนะคะ