กระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ปลุกกำลังซื้อจ้างงานท่องเที่ยวช่วงสั้น

กระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ปลุกกำลังซื้อจ้างงานท่องเที่ยวช่วงสั้น

หลังจากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาและลดผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ต่อเศรษฐกิจไทย มาแล้ว 3 ชุด

(มติครม.10 มี.ค, 24 มี.ค.และ 7 เม.ย.63 ตามลำดับ) ซึ่งมีส่วนช่วยประคับประคองเศรษฐกิจหรือบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 63 ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 หรือ ศบศ. ได้เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่เพิ่มเติมจากมาตรการที่ได้ออกไปแล้วเมื่อวันที่ 2 ก.ย. เช่น มาตรการจ้างงานเด็กจบใหม่ วงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท และการปรับปรุงมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่นี้ จะใช้งบประมาณจากเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในกรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งโดยรวมแล้วจะประกอบด้วย 4 มาตรการหลัก ดังนี้

มาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท โดยรัฐจะช่วยค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 (Co-pay) สูงสุดไม่เกิน 100 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกินวงเงิน 3,000 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลา 3 เดือน (23 ต.ค. - 31 ธ.ค.63) กลุ่มเป้าหมาย 10 ล้านคน ดำเนินการผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ส่วนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจะเน้นรายย่อยทั่วไป ประมาณ 100,000 ร้านค้า

มาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นอีก 500 บาทต่อคนต่อเดือน จากปกติที่ได้รับเดือนละ 200-300 บาทต่อเดือน เป็น 700-800 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.63) มีกลุ่มเป้าหมาย 14 ล้านคน วงเงินรวม 2.1 หมื่นล้านบาท

มาตรการจ้างงานสำหรับเด็กจบใหม่ หรือผู้ที่จบการศึกษาในปี 2562 หรือปี 2563 เป็นระยะเวลา 1 ปี (ต.ค.63-ก.ย.64) รวม 260,000 อัตรา วงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท โดยมีอัตราค่าจ้างตามวุฒิการศึกษา ปริญญาตรีเดือนละ 15,000 บาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพช้ันสูง (ปวส.) เดือนละ 11,500 บาท และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เดือนละ 9,400 บาท ซึ่งรัฐจะสนับสนุนค่าจ้างให้แก่ผู้ประกอบการร้อยละ 50 ของเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน

ปรับปรุงมาตรการเราเที่ยวด้วยกันเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศให้มากขึ้นก่อนสิ้นสุดโครงการ (31 ต.ค.) โดยเพิ่มสิทธิให้คนเที่ยวในวันธรรมดาจะได้คูปองอาหารเพิ่มจาก 600 บาท เป็น 900 บาท รวมทั้งได้รับเพิ่มการลดหย่อนตั๋วเครื่องบินเป็น 2,000 บาทต่อคน และเพิ่มสิทธิวันเข้าพักเป็น 10 คนต่อคืน รวมทั้งให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจสามารถลาพักผ่อนเพิ่มได้ 2 วันโดยไม่ถือเป็นวันลา และในระยะถัดไปจะเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) ที่ประสงค์จะเดินทางมาพำนักระยะยาว (Long Stay) ในประเทศไทย ซึ่งสะท้อนการปรับตัวเข้ากับยุคนิวนอร์มอลที่ต้องทำให้เกิดสมดุลทั้งด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ

 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่นี้ แม้จะเป็นระยะสั้นแต่ก็ต้องทำเพื่อลดปัญหาปากท้องชาวบ้านให้มากที่สุด โดยคาดว่าจะช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน เกิดการจับจ่ายใช้สอย ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไป และมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันรวมถึงสินค้าที่มีมูลค่าไม่สูงนัก

สำหรับมาตรการจ้างงานเด็กจบใหม่ จะช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม ที่กำลังประสงค์ลงทุน รวมถึงช่วยรักษาการจ้างงาน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาก็เริ่มเห็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนเริ่มทยอยจ้างงานแล้วภายใต้โครงการ Restart Thailand ที่เน้นสร้างคนยุคใหม่ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจวิถีใหม่

ในส่วนของมาตรการเสริมเราเที่ยวด้วยกันโดยการขยายสิทธิเพิ่มเติมนั้น คาดว่าจะสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยได้ในมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว จะเป็นจังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนัก เช่น ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ คาดว่าคงได้เห็นรอบของอัตราการหมุนของเงินหรือจำนวนครั้งเฉลี่ยของธุรกรรมที่เงินแต่ละบาทถูกใช้ไปในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง (Velocity of Money) ในระยะถัดไป