“แบ็คยาร์ด” สตาร์ทอัพมาแรง

“แบ็คยาร์ด” สตาร์ทอัพมาแรง

ก่อนโควิด 19 ระบาดไม่นาน  ดิฉันได้รับเชิญไปร่วมงานสังสรรค์ซึ่งมีเจ้าภาพก็คือ ดร. สาธิต วิทยากร เจ้าของอสังหาริมทรัพย์และ รพ. หลายแห่ง

 สถานที่นัดคือ “แบ็คยาร์ด” (Backyard) ตอนแรกก็ไม่ทราบว่าแบ็คยาร์ดคืออะไร  แต่เมื่อไปถึงจึงทราบว่าเป็นบริษัท ที่แบ็คยาร์ดดิฉันได้พบกับ ดร. สาธิตอยู่กับหนุ่มสาววัยสามสิบต้นๆยี่สิบปลายๆหลายคน เป็นคนกลุ่ม Generation C (Gen C หรือ Generation Connectedness คือคนกลุ่ม Generation X และ Generation Z รวมกัน เป็นประชากรกลุ่มที่มีการรับสื่อดิจิทัลมากกว่ากลุ่มอายุอื่น)  ทั้งนี้ดร. สาธิต รู้จักกับพวกน้องๆที่เปิดบริษัทสตาร์ทอัพภายใต้ชื่อว่า “แบ็คยาร์ด” มาเป็นปีแล้ว โดยแบ็คยาร์ดเป็นสตาร์ทอัพที่ให้บริการจัดทำแพลทฟอร์มในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน  ด้วยความประทับใจในความสามารถของน้องๆและมองเห็นอนาคตที่สดใสของธุรกิจด้านข้อมูลสารสนเทศ การวิเคราะห์ข้อมูล และนวัตกรรมด้าน IT ซึ่งเป็นเรื่องที่ ดร. สาธิตสนใจมาช้านาน ดร. สาธิตจึงเปิดใจให้โอกาสแบ็คยาร์ดเข้ามามีส่วนร่วมสานต่อความฝันในการสร้าง Digital Hospital โดยแบ็คยาร์ดได้ก่อตั้งบริษัทลูก ชื่อ “เม็ดคิวรี่” (Medcury) ที่ให้บริการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลของสถานพยาบาลโดยเฉพาะและมีคุณจตุพล ชวพัฒนากุลเป็นซีอีโอ

เกริ่นนำมาพอสมควรก็เพราะดิฉันอยากเล่าเรื่องของคน Gen C  ที่ร่วมมือกันสร้างบริษัทแบ็คยาร์ดให้เป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จและเติบโตก้าวหน้าจนสามารถดึงดูดใจให้นักธุรกิจรุ่นใหญ่อย่าง ดร. สาธิตมาร่วมลงทุนด้วย เพราะเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยสำหรับบริษัทเปิดใหม่ที่จะฝ่าฟันผ่าน 5ปีแรกของการดำเนินธุรกิจไปได้ สำหรับสถิติการอยู่รอดของสตาร์ทอัพในประเทศไทยนั้นดิฉันยังไม่สามารถค้นพบข้อมูลที่ชัดเจน แต่ในสหรัฐอเมริกานั้น มีสตาร์ทอัพเพียง 50% เท่านั้นที่อยู่รอดเกิน 5 ปี และอีกครึ่งไปไม่รอด คิดว่าสำหรับในประเทศไทยตัวเลขของสตาร์ทอัพที่อยู่รอดเกิน 5 ปีแรกไม่น่าจะสูงไปจากของสหรัฐฯ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่ายินดีของแบ็คยาร์ดที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2557 โดยมีพนักงานเพียง 4 คนได้เติบโตขยายกิจการมาจนมีพนักงานกว่า 100 คนในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่หกของกิจการ แบ็คยาร์ดก้าวมายืนตรงจุดนี้ได้อย่างไร ตามมาอ่านกันเลยค่ะ

จากสนามหลังบ้านสู่บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ “แบ็คยาร์ด” คงเดาได้ไม่ยากว่าพนักงาน 4 คนของแบ็คยาร์ดในปี 2557 นั้นก็คือ คุณกิตติพงศ์ กิตติถาวรกุล, คุณจตุพล ชวพัฒนากุล, คุณกฤต นิรันดรกุลชัย และคุณวิภาส สุตันตยาวลี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ก่อตั้งบริษัทนั่นเอง พวกเขาเป็นเพื่อนที่ร่วมเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยเมื่อประมาณ 5-6 ปีก่อนซึ่งเป็นยุคแรกเริ่มของเทคโนโลยี Big Data ชายหนุ่มกลุ่มนี้มีความสนใจเรื่องการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล พวกเขาชอบใช้เวลาว่างนั่งคุยกันในสวนหลังบ้านของเพื่อนคนหนึ่งถึงความสำคัญของการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ การลงทุน การทำการตลาด การบริหารการเงินและงบประมาณ เป็นต้น 

พวกเขาคาดการณ์ว่าการบริหารข้อมูลจะเป็นเครื่องมือการบริหารธุรกิจในยุคดิจิตัลที่จะทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ องค์กรขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนล้วนต้องการข้อมูลคุณภาพดีและการวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำมากที่สุดเพื่อสนับสนุนประสิทธิภาพประสิทธิผลในการทำงาน จากนั้นการพูดคุยในสวนหลังบ้านได้สานต่อไปเป็นแรงจูงใจในการร่วมกันเปิดบริษัทแบ็คยาร์ดที่แปลว่าสวนหรือสนามหลังบ้านขึ้นมาเพื่อจัดทำระบบจัดการคลังสินค้า การผลิตและการขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อม โดยมีพนักงานในปีแรก 4 คนดังกล่าวแล้ว โดยในช่วงเริ่มเปิดกิจการก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีพอสมควร โดยได้รับความไว้วางใจจากทั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง และหน่วยงานภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง

ปรับกระบวนท่าอย่างรวดเร็วเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ อย่างไรก็ตามเมื่อดำเนินธุรกิจไปได้ประมาณ 2 ปี ก็พบว่ามีบริษัทที่ดำเนินการในลักษณะเดียวกันอยู่มาก ทำให้สี่หนุ่มตระหนักว่าต้องมองหาแนวทางให้บริการในรูปแบบใหม่ๆ โดยเร็ว พวกเขาเรียนรู้ว่าการให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลภายในองค์กรเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสร้างนวัตกรรมและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆให้กับพวกเขาได้ พวกเขาจึงใช้หลักการของเทคโนโลยี Big Data มาคิดสร้างเครื่องมือที่ใช้รวบรวมข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์กร เท่านั้นยังไม่พอ ยังติดต่อร่วมมือกับบริษัทระดับนานาชาติ เช่น ไมโครซอฟท์ กูเกิล ออราเคิล เอสเอพี ใช้ความรู้ Data Science มาใช้ในการสร้าง Model และ AI เพื่อสร้างซอฟต์แวร์สำหรับรวมรวมและวิเคราะห์ข้อมูล นำมาใช้เพื่อคัดกรองข้อมูลส่วนสำคัญเพื่อให้ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญใช้ในการประกอบการตัดสินใจในการจัดทำกลยุทธในการดำเนินการทางธุรกิจได้อย่างแม่นยำและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

พัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้า (Customization) ในการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจในช่วงเริ่มต้น แบ็คยาร์ดใช้การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการโดยปรับตัวตามความต้องการของลูกค้าในรูปแบบจ้างเหมาเป็นโครงการ และนำความรู้ที่ได้จากการทำโครงการต่างๆมาใช้ในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ลูกค้าอื่นๆได้ใช้บริการใหม่นั้นในรูปแบบเช่าใช้ ลูกค้าจึงไม่ต้องลงทุนในการจัดซื้อฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในราคาที่สูงแบบสมัยก่อน ซึ่งสำหรับยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กว่าการลงทุนด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จะคืนทุน เทคโนโลยีที่ลงทุนไปก็ล้าสมัยไปก่อนแล้ว ดังนั้นการให้ลูกค้าที่เป็นองค์กรต่างๆเช่าใช้ซอฟต์แวร์ และระบบ cloud จึงเป็นการตอบโจทย์การลงทุนทางเทคโนโลยีให้ลูกค้าเป็นอย่างดี กลยุทธ์นี้จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่สร้างความสำเร็จให้กับแบ็คยาร์ดในการดำเนินธุรกิจตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันบริษัทมีพนักงานกว่า 100 คน มีคุณกิตติพงษ์เป็นซีอีโอ ให้บริการจัดทำแพลทฟอร์มในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย องค์การอาหารและยา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม บริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เครือโรงพยาบาลพริ้นซิเพิล ฯลฯ ทั้งนี้การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นหัวใจของการจัดทำกลยุทธ์ธุรกิจองค์กรในการเพิ่มยอดขาย การหาลูกค้าใหม่ การลดต้นทุน ฯลฯ ซึ่งโดยมากองค์กรมักต้องการผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำปรึกษาในด้านนี้พร้อมแนะนำวิธีในการนำข้อมูลไปใช้ แบ็คยาร์ดมีจุดเด่นด้านนี้โดยสามารถเข้าไปศึกษาและให้คำแนะนำองค์กรถึงแนวทางการวิเคราะห์ข้อมูล การเลือกวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ จัดหาข้อมูล นำเสนอแนวทางในการใช้งานและแสดงผลข้อมูล เลือกเทคโนโลยีที่จะใช้ในโครงการ ตลอดจนหาคำตอบ (solution) ให้ลูกค้าด้วย แบ็คยาร์ดจึงไม่ใช่แค่ขายเครื่องมือ แต่ยังทำหน้าที่ประหนึ่งเป็นหุ้นส่วนคู่คิด(partner) ของลูกค้าที่จะสร้างธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกัน เป็นบริการที่ครบวงจรม้วนเดียวจบ

สุดท้ายกลุ่มหนุ่มผู้ก่อตั้งแบ็คยาร์ดสรุปบทเรียนการสร้างสตาร์ทอัพแบบไม่หวงวิชาว่า ผู้นำสตาร์ทอัพต้องเปิดรับข้อคิดเห็นใหม่ๆอยู่เสมอ ยึดมั่นในทิศทางของบริษัท ยืดหยุ่นปรับตัวเข้ากับธุรกิจได้รวดเร็ว ทำตัวเป็นโฆษกที่ดีของบริษัท เป็นนักขายลิ้นทองที่สามารถนำเสนอบริษัท ผลิตภัณฑ์และบริการได้กระชับชัดเจน เข้าใจในอุตสาหกรรมเป็นอย่างดีทั้งในเรื่องของห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่า (Supply chain และ Value chain) สามารถสร้างและรักษาเครือข่ายธุรกิจได้ เข้าใจและบริหารการเงินได้ดี เข้าใจในจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองและองค์กรเป็นอย่างดี สำหรับสิ่งที่ไม่สามารถทำเองได้หรือไม่ถนัด ต้องหาคนมาช่วยหรือหาหุ้นส่วนเพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกัน และสามารถบริหารความเครียดและสถานการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ