Grab + Gojek โดยนักลงทุนชื่อดังผู้อยู่เบื้องหลัง

Grab + Gojek โดยนักลงทุนชื่อดังผู้อยู่เบื้องหลัง

ความคืบหน้าครั้งสำคัญเกี่ยวกับการควบรวมกิจการกันระหว่าง Grab กับ Gojek

ในบทความครั้งก่อน ๆ ผมได้พูดถึง Grab ในแง่มุมของบริการด้าน Fintech และความพยายามในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารประเภท Digital Banking ที่สิงคโปร์ มาในสัปดาห์นี้ เรื่องราวเกี่ยวกับ Grab ก็ได้กลายเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง โดยเรื่องแรกเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญเกี่ยวกับการควบรวมกิจการกันระหว่าง Grab กับ Gojek ซึ่งเป็นคู่แข่งหลักที่มีจุดแข็งในตลาดอินโดนีเซีย ส่วนเรื่องที่สองเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าติดตามของ Alibaba ยักษ์ใหญ่จากจีน ที่อาจจะลงทุนใน Grab ด้วยเงินลงทุนสูงถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา

ก่อนหน้านี้ข่าวการควบรวมกิจการของ Grab + Gojek ได้เคยออกมาให้ตื่นเต้นกันไปแล้ว แต่ในครั้งนั้นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Grab ได้ออกมาให้ความเห็นในเชิงที่ไม่ค่อยเป็นบวกเท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม ในรอบนี้ผู้ถือหุ้นคนเดิมได้เปลี่ยนมุมมองมาให้การสนับสนุนการควบรวมดังกล่าว และเค้าคนนั้นก็คือ Masayoshi Son ผู้ก่อตั้ง SoftBank นั่นเอง โดย SoftBank ประสบความสำเร็จอย่างมากในการลงทุนใน Alibaba ของ Jack Ma มาตั้งแต่ปี 1999 และในปัจจุบัน SoftBank ยังคงถือหุ้นในสัดส่วนสูงถึง 24.40% ใน Alibaba (ในขณะที่ Jack Ma ถือหุ้น Alibaba 2.89%) เรื่องของ SoftBank ยังมีจุดน่าสนใจอีกมาก ซึ่งจะขอเก็บเอาไว้วิเคราะห์กันในครั้งหน้า

ผมคิดว่าสาเหตุหลักที่ Masayoshi Son เปลี่ยนใจมาสนับสนุนให้ Grab แต่งงานกับ Gojek ในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากวิกฤต COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้และมูลค่ากิจการของทั้ง Grab และ Gojek เพิ่มแรงกดดันให้ทั้งคู่ต้องบริหารต้นทุนให้ดีขึ้น และการรวมกิจการกันเพื่อกลายเป็นผู้ผูกขาดจะช่วยลดทั้งต้นทุนที่เป็น Fixed Cost และต้นทุนทางการตลาดได้อย่างชัดเจนที่สุด โดยก่อนหน้านี้ Grab ก็ได้รวมเอากิจการของ Uber ในภูมิภาคนี้เข้ามาโดยแลกเปลี่ยนให้ Uber มาถือหุ้น Grab แทนซึ่ง SoftBank เองก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Uber ในสัดส่วน 12.68% ในปัจจุบัน (ใครเริ่มสับสน แนะนำให้วาดแผนภาพการถือหุ้นรอไว้เลยครับ)

ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งนั้น ผมคิดว่าน่าจะมาจากการที่ Masayoshi Son ต้องการจะเจาะตลาดอินโดนีเซียซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของ Gojek โดยก่อนหน้านี้ SoftBank ได้จัดวงเงินลงทุนกับ Grab สูงถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้าง Digital Infrastructure ในอินโดนีเซีย อีกประเด็นสำคัญคือ Nadiem Makarim ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Gojek นั้น กำลังมีบทบาทสำคัญบนเวทีการเมืองในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม (Minister of Education and Culture) ด้วยวัยเพียง 36 ปีเท่านั้น ดังนั้น การเข้าถึงตลาดอินโดนีเซียที่มีประชากรสูงเป็นอันดับที่ 4 ของโลก น่าจะสะดวกขึ้นสำหรับ SoftBank, Alibaba และ Grab หากเกิดการควบรวมกิจการระหว่าง Grab + Gojek

ในเวลาไล่เลี่ยกัน Alibaba ก็ได้ออกข่าวว่าสนใจที่จะลงทุนใน Grab โดยส่วนหนึ่งจะเป็นการซื้อหุ้น Grab จาก Uber และส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มทุนให้กับ Grab เพื่อรองรับการขยายขอบเขตธุรกิจ (อย่าลืมนะครับว่า SoftBank เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทั้ง Alibaba และ Uber และ Grab … วาดภาพกันต่อเลยครับ) โดยคาดกันว่า Alibaba น่าจะอยากได้ Big Data ของ Grab และ Grab + Gojek ในอนาคต เพื่อต่อยอดบริการด้านการเงินและกิจการของ Lazada

สำหรับ Gojek นั้น ผู้ถือหุ้นรายสำคัญคือ Tencent (ซึ่งมีกิจการของ Shopee อยู่ในเครือ) และ JD (Tencent เองก็ถือหุ้น JD 20%) รวมกับผู้ถือหุ้นหน้าใหม่อย่าง Facebook และ PayPal … เอาล่ะครับ คราวนี้ลองวาดแผนภาพการถือหุ้นให้ครบ แล้วจะเห็นว่าดีลนี้น่าสนใจมากแค่ไหน