2 ข้อคิดเห็นต่อการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี

 2 ข้อคิดเห็นต่อการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี

ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยและนานาประเทศกำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ และสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล ประชาชนจำนวนมากกลายเป็นผู้ไม่มีงานทำและขาดแคลนเงินทุนในประกอบอาชีพ รวมถึงผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ที่ประสบกับปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินจากการหยุดประกอบกิจการ

สถานการณ์เช่นนี้อาจนำไปสู่การเกิดข้อพิพาททางกฎหมายตามมา เช่น การผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ยืม การไม่สามารถผ่อนชำระค่าเช่าซื้อรถ หรือการไม่สามารถผลิตสินค้าให้ทันกับความต้องการของลูกค้า เป็นต้น ซึ่งเมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายในการฟ้องร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้หรือต้องรับผิดตามสัญญาได้

แต่หากพิจารณาอีกด้านหนึ่ง การใช้สิทธิของเจ้าหนี้ในการฟ้องคดีก็เป็นการสร้างภาระให้แก่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องใช้ทั้งงบประมาณ บุคลากร และเวลาเพื่อการระงับข้อพิพาทนั้น ซึ่งผลที่ได้รับอาจไม่คุ้มค่ากับทรัพยากรส่วนรวมที่ต้องสูญเสียไปดังนั้นจึงมีการนำระบบหรือวิธีการระงับข้อพิพาทก่อนการฟ้องคดีมาปรับใช้เรียกว่า “การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี” เพื่อเป้าหมายปลายทางที่ต้องการให้เจ้าหนี้และลูกหนี้สามารถยุติข้อพิพาทโดยไม่ต้องเป็นคดีความกันในศาลนั่นเอง

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หมายถึง การดำเนินการเพื่อให้คู่กรณีมีโอกาสเจรจาตกลงกันระงับข้อพิพาททางแพ่งและทางอาญาโดยสันติวิธีและปราศจากการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ส่วนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีเป็นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งและทางอาญาโดยสันติวิธีและปราศจากการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทก่อนที่คู่กรณีนำข้อพิพาทดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาล ซึ่งปัจจุบันมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 เพื่อสนับสนุนให้คู่กรณีพิพาทได้เข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี

กฎหมายฉบับนี้อ้างถึงเหตุผลการนำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่สูงมากนักและข้อพิพาททางอาญาบางประเภทมากำหนดเป็นกฎหมายกลางเพื่อให้หน่วยงานของรัฐ พนักงานสอบสวน หรือศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนใช้ในการยุติหรือระงับข้อพิพาทดังกล่าว โดยคำนึงถึงความยินยอมของคู่กรณีเป็นสำคัญ ทำให้ปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลลดน้อยลง ลดปัญหาความขัดแย้ง เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในสังคม ลดงบประมาณแผ่นดิน และเสริมสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข

สำหรับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่ง ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว หรือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ จะไม่สามารถกระทำได้ เว้นแต่เป็นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งที่เป็น 1) ข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินที่มิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ 2) ข้อพิพาทระหว่างทายาทเกี่ยวกับทรัพย์มรดก 3) ข้อพิพาทอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา และ 4) ข้อพิพาทอื่นที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าล้านบาท หรือไม่เกินจำนวนตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เมื่อคู่กรณีได้มีข้อตกลงเป็นประการใดแล้ว ให้ผู้ไกล่เกลี่ยจัดทำบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาทนั้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้คู่กรณีและผู้ไกล่เกลี่ยลงลายมือชื่อไว้

ส่วนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาให้กระทำได้เฉพาะ 1) ความผิดอันยอมความได้ และ 2) ความผิดลหุโทษเฉพาะบางฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดลหุโทษอื่นที่ไม่กระทบต่อส่วนรวมตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เมื่อคู่กรณีทำข้อตกลงระงับข้อพิพาททางอาญากันแล้ว ให้ถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับเฉพาะคู่กรณีซึ่งทำข้อตกลงดังกล่าว

ทั้งนี้หน่วยงานซึ่งดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอาจเป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นต้น หากคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประสงค์จะให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ให้ยื่นคำร้องต่อหน่วยงานซึ่งดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่หน่วยงานซึ่งดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประกาศกำหนด เช่น รายละเอียดของคำร้อง และระยะเวลาในการพิจารณาคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เป็นต้น

เมื่อพิจารณาข้อสนับสนุนและข้อท้วงติงที่มีต่อการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีแล้ว ฝ่ายหนึ่งมีความเห็นร่วมกันว่า การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีมีผลดีหลายประการ เช่น ความสะดวกรวดเร็ว การประหยัดค่าใช้จ่าย และความพึงพอใจของคู่กรณีต่อข้อตกลงร่วมกันที่ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เป็นต้น แต่ก็มีความเห็นในทางที่แตกต่างออกไปว่า การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีอาจไม่ได้มีผลดีเสมอไป เช่น การมีภาระค่าใช้จ่ายเพื่อเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การไม่ยอมรับผู้ทำหน้าที่เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และข้อตกลงร่วมกันจากกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไม่ได้มีสถานะดังเช่นคำพิพากษาของศาล เป็นต้น

ผู้เขียนเห็นว่า การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีจะมีผลดีต่อคู่กรณีพิพาทหรือไม่อย่างไรนั้น คู่กรณีย่อมเป็นผู้ตอบคำถามข้างต้นได้ดีที่สุด เนื่องจากต่างต้องรักษาผลประโยชน์ของตนเองไม่ให้ได้รับผลกระทบมากเกินควร ส่วนผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยและหน่วยงานที่จัดให้มีระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก็ไม่ควรชี้นำผลดีของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีแก่คู่กรณีพิพาท แต่ควรทำให้คู่กรณีพิพาทยอมรับผลดีดังกล่าวด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีบรรลุผลในที่สุด

โดย... ผศ.ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่าง