คนต่างวัย

กระรอกน้อยเดินบ้าง วิ่งบ้าง กระโดดบ้าง อยู่บนต้นไม้ใหญ่รอบบ้าน

เจ้าของบ้าน นั่งมองการก้าวย่างของกระรอกตัวนั้น อย่างมีความสุข ที่ได้เห็นมันใช้ชีวิตเคลื่อนไหวอยู่กับธรรมชาติ

เจ้าของบ้านคนเดียวกันนี้ สมัยเรียนชั้นประถม เคยมองกระรอกน้อยตัวหนึ่ง ก้าวย่างเหยาะๆบนกิ่งไม้แบบนี้แหละ แต่ความคิดของเขาในวัยนั้นก็คือ ทำอย่างไรจะจับมาใส่กรง เลี้ยงไว้ให้เชื่อง วันโรงเรียนเปิด จะได้ซุกมันไว้ในกระเป๋ากางเกง เอาไปอวดเพื่อนๆ

คนที่คิดจับกระรอกมาเลี้ยง ก็คือผมสมัยเด็กครับ แต่ก็ไม่เคยทำสำเร็จ เพราะไม่รู้ว่าจะจับกระรอก มาจากกิ่งไม้ได้อย่างไร

สมัยเด็กอีกนั่นแหละ ผมเคยนั่งมองต้นน้อยหน่าหน้าบ้าน เพราะ นกเล็กๆ 2 ตัว สีสันสวยงาม ส่งเสียงจิ๊บๆ ใสแจ๋ว แวะเวียนมาเกาะกิ่งน้อยหน่า วันละหลายครั้ง

ความคิดของผมก็คือ หาวิธีจับนกมาเลี้ยงในกรง เพราะอยากดูมันทั้งวัน  ผมพยายามหลายครั้งมาก นั่งเฝ้ารอและใช้สารพัดวิธี เท่าที่เด็กตัวเล็กๆจะคิดได้

บางทีก็เอาผ้าขาวบางขนาดใหญ่ บางทีก็ผ้าขาวม้า มาคลุมไว้บนต้นน้อยหน่า รอว่าเมื่อไรนกจะบินมาเกาะกิ่ง จะได้รีบวิ่งไปตวัดผ้าลงมาให้คลุมนกไว้ อะไรทำนองนั้น แต่ก็ไร้ผล เพราะแค่เริ่มก้าวเข้าไป นกก็บินหนีแล้ว

มันเป็นความทรงจำ ที่ยังคงอยู่ถึงวันนี้ ก็แปลกใจเหมือนกันว่า ทำไมสมัยเด็กเราจึงคิดและทำแบบนั้น แต่เมื่อคิดย้อนหลัง รู้สึกว่าผมโชคดี ที่วันนั้น จับนกก็ไม่ได้ จับกระรอกก็ไม่สำเร็จ!

สมัยเด็กอีกเหมือนกัน คนอยุธยาอย่างผมคุ้นเคยกับฤดูฝน น้ำฝนที่เจิ่งนองมามากมาย ทำให้ใต้ถุนบ้านมี ปลาหมอ ปลาช่อน ปลาสลิด จำนวนมาก เราก็ตกเบ็ด หรือหาวิธีอื่น จับปลามาทานได้ทุกวัน

สมัยนั้น ทั่วเกาะอยุธยามี ดอกโสน กระถิน ผักบุ้ง เกลื่อนกลาดอยู่ในธรรมชาติ กินเท่าไรก็ไม่หมด พวกเราเก็บไปปรุงอาหารได้ฟรีๆ ส่วนโปรตีนก็มาจากปลาที่จับได้ ถ้าไปแม่น้ำป่าสัก ก็ช้อนกุ้งฝอยมาทอด หรือกุ้งแม่น้ำมาย่าง ยังได้เลย

มันเป็นวิถีชีวิตของคนไทยสมัยก่อน แต่พอพ้นวัยเด็ก ความรู้สึกผมก็เปลี่ยนไป ไม่กล้าเอาเบ็ดไปตกปลา ไม่กล้าดูเงี่ยงเบ็ดเกี่ยวปากปลา ไม่อยากจับสัตว์มาเลี้ยงในกรง เพราะกรงคงไม่ใช่ความสุขของสัตว์ เวลาเห็นนกบินบนท้องฟ้า หรือกระรอกวิ่งบนกิ่งไม้ ก็มีความสุขที่ได้เห็นพวกเขามีเสรี

ที่เล่ามานี้ เพราะอยากจะบอกว่า เมื่อวันเวลาเปลี่ยน ความคิดคนก็เปลี่ยน วันที่เราเป็นเด็กกับวันที่เราเป็นผู้ใหญ่ เราคิดต่างกันมาก

ช่วงนี้ มีการชุมนุมเรียกร้องของเยาวชน และมีการต่อต้านของผู้ใหญ่บางกลุ่ม ผมเชื่อว่า คนหนุ่มคนสาวทุกยุคทุกสมัย มีความหวัง มีอุดมการณ์ และอยากเห็นคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นเรื่องปกติที่สุด สมัยผมเป็นเยาวชน ผมและเพื่อนๆก็มีความหวัง แบบเดียวกับเด็กสมัยนี้ 

คนสูงวัย ก็คงไม่ได้เห็นต่าง ในเรื่องเป้าหมายให้คนไทยมีความสุข แต่ที่ต่างกันก็คือ จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นเช่นนั้น

ระบอบประชาธิปไตยของเรา ไม่ค่อยราบรื่น เลยสะสมปัญหาไว้หลากหลาย เช่นการคอรัปชั่นเป็นต้น บ่อยครั้งที่นำไปสู่การชุมนุมทางการเมือง บางครั้งเกิดความขัดแย้งรุนแรงหรือเสียเลือดเนื้อ บางครั้งนำไปสู่การปฎิวัติ วนเวียนอยู่เช่นนี้

วันนี้ เรากลับมาสู่บรรยากาศของความขัดแย้งอีกแล้ว คราวนี้เป็นความแตกต่างทางความคิดและวิธีการ ของคนต่างวัย

เหตุการณ์วันที่ 19 และ 20 กันยายน อาจพัฒนาไปสู่อะไรก็ได้ แต่ที่เราไม่อยากเห็นก็คือความวุ่นวาย ความสูญเสีย หรือการลุกลามเลยเถิด จนไม่สามารถควบคุมให้สงบลงได้อย่างสันติ ซึ่งจะเป็นผลร้ายต่อคนไทยทุกคน

ถ้ากลุ่มต่างๆ ยังใช้วาทกรรมที่รุนแรง ถ้าไม่สามารถกำกับฝูงชนได้ดี ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แม้ ผบ.ตร. ซึ่งเตรียมความพร้อมไว้แล้ว ก็ยังบอกว่าต้องรอไปดูที่หน้างานด้วย แปลว่าเรายังมีความเสี่ยง จากการแก้ปัญหาสถานการณ์เฉพาะหน้า

ผมคิดว่าการใช้วาทกรรมที่รุนแรงเข้าหากัน ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทุกฝ่ายต้องยอมรับความคิดที่แตกต่าง แล้วหันมาสู่เวทีพูดคุยกัน ด้วยเหตุผลและด้วยการยอมรับข้อจำกัด

ร่วมกันจัดลำดับว่า ปัญหาใหญ่ๆที่จะต้องแก้ไขมีอะไรบ้าง ยอมรับว่าวิธีเดิมๆใดบ้าง ที่ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้แล้ว จะต้องรีบปรับเปลี่ยนหรือปฎิรูปอย่างไร ให้ทันกับวันเวลาและความคิดของคนที่เปลี่ยนแปลงไป

คนรุ่นใหม่เป็นอนาคตของประเทศ คนรุ่นเก่าก็ควรยอมรับ และไม่ฝืนสังขารคิดว่าจะยึดมั่นวันเวลาไว้เป็นของตนเองได้ตลอดไป แม้บางคนอาจจะมองว่าคนรุ่นใหม่ ก้าวร้าวมากไปหน่อย หรือคิดว่ามีบางคนบางกลุ่มอยู่เบื้องหลัง ก็ยังต้องหาทางพูดคุยกัน ต้องยอมรับว่า เยาวชนกำลังเติบโตมาเป็นอนาคตของชาติ

ส่วนเยาวชนคนรุ่นใหม่ ถึงแม้จะคิดว่าคนรุ่นเก่าล้าสมัย และไม่ทันเหตุการณ์ ก็ควรยอมรับความมีอยู่ เป็นอยู่ และความเชื่อของผู้ใหญ่เช่นกัน จึงต้องหาทาง แก้ปัญหาด้วยกัน ไม่ใช่สร้างปัญหาระหว่างกัน หรือใช้วาทกรรมทำให้บานปลายยิ่งขึ้น

การใช้ถ้อยคำรุนแรงเข้าหากัน มีแต่จะปลุกเร้าอารมณ์ให้เข้มข้นขึ้น จนสถานการณ์อาจถลำเข้าสู่จุดบอด เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หลายครั้งในประวัติศาสตร์ไทย

ยอมรับร่วมกันว่าอะไรควรปฎิรูป อะไรควรปรับเปลี่ยน และควรปฎิรูปหรือเปลี่ยนอย่างไร ใช้เวลาเท่าใด ขั้นตอนเป็นอย่างไร ฯลฯ แล้วสังคมไทย ก็อาจจะมองเห็นทางออกที่ดีขึ้น

แต่ขณะนี้ บรรยากาศมิได้เป็นเช่นนั้น

เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ลิงลพบุรี ยกพวกเข้าตีกันหลายร้อยตัว บาดเจ็บไปหลายตัว ผมมีข้อสังเกตว่า กระรอก นก และปลา ที่ผมพูดถึง มีสมองเล็กนิดเดียว แต่เขากลับอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ส่วนลิง ซึ่งมีสมองมากขึ้น ฉลาดและใกล้มนุษย์มากขึ้น กลับอยู่ไม่สงบ

เราเป็นมนุษย์ มีปัญญามากกว่าสัตว์ทั้งปวง น่าจะหาข้อยุติจากความแตกต่างทางความคิดได้ไม่ยากนัก

ไหนจะโควิด ไหนจะเศรษฐกิจ เรามาช่วยกันทำไทยให้สงบ จบความขัดแย้งเสียที... ดีไหมครับ