ทรงพล เรืองสมุทรคุณเป็น “ฮีโร่” ของผมอีกคนแล้ว

ทรงพล เรืองสมุทรคุณเป็น “ฮีโร่” ของผมอีกคนแล้ว

ชื่อ ทรงพล เรืองสมุทร หลายท่านอาจไม่รู้จัก แต่ถ้าพูดถึง “ลุงพล” ทุกคนอาจร้อง “อ๋อ” เพราะเป็นข่าวที่ไม่น่าจะเป็นข่าวได้ยาวนานอย่างที่เป็นอยู่

ผมไม่สนใจข่าวของ “ลุงพล” อะไรนี้เลย กระทั่งคนรู้จักมาพูดชื่อนี้ให้ฟัง ยังคิดอยู่ทีแรกว่าอาจเป็นญาติสนิทหรือคนที่เขาคุ้นเคย เพราะคนที่เล่าเรียกลุงเรียกน้าเหมือนคนใกล้ชิด

ผมมารู้จักชื่อ คุณทรงพล เรืองสมุทร หรือเขียนถึงคุณทรงพลฯ มิใช่ต้องการอวยชัยให้พร หรือส่งเสริมให้คนลาออกจากงานของตัวเองเหมือนอย่างที่คุณทรงพลฯ ได้ตัดสินใจ แต่สิ่งที่ปรากฎเป็นข่าวและมีการแชร์หรือส่งข้อความที่คุณทรงพลฯ ให้เหตุผลในการลาออกตามที่มีการเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ทำนองว่า “ทนไม่ได้และกล่าวคล้ายๆ จะเป็นตัวแทนสื่อมวลชนอื่นๆ ที่เผยแพร่ข่าวลุงพลให้กับประชาชนมายาวนานกว่า สี่เดือนเต็ม

ผมยกย่องคุณทรงพลฯ ให้เป็น “ฮีโร่” อีกคนของผม เพราะว่า ผมมีวิชาที่เคยสอนเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนที่ชัดเจนอยู่หนึ่งวิชา คือ “ สังคมวิทยาว่าด้วยสื่อ” โดยเนื้อหาไม่ใช่สอนแบบท่องจำ แต่มีการแทรกเนื้อหาที่สื่อมวลชนควรรู้ทั้งยุทธวิธีในการสื่อสาร รวมทั้งคุณธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบของสื่อต่อสังคมส่วนรวม

คุณทรงพลย้ำว่า “สี่เดือนเต็ม” ที่พวกเราผู้บริโภคข่าวสาร ต้องทนกับเนื้อหาของข่าวกรณีการเสียชีวิตของ “น้องชมพู่” และมีบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้องของน้องชมพู่ ทยอยออกมาเป็นข่าว จากคดีอาชญากรรม กลายเป็นไม่ต่างกับ “สินค้า” ที่มีการปลุกปั้นขึ้นมา ดังมากกว่า การปรับ ครม หรือได้รับความสนใจอาจมากกว่า ปัญหาโควิทหลายเท่าตัว

สิ่งที่คุณทรงพลฯ ได้ตัดสินใจลาออก ผมคงตอบแทนคุณทรงพลฯ ได้ยากว่า จะมีเหตุผลอื่นๆ ที่เราไม่ทราบแน่ชัดอยู่อีกหรือไม่ แต่เมื่อปรากฎเป็นข่าวเช่นที่ว่านี้แล้ว ย่อมต้องยึดถือเอาข้อมูลที่สื่อต่างๆ นำเสนอ เป็นฐานความคิด หรือ “สารตั้งต้น” ในการพิจารณาเรื่องอื่นๆ ต่อไป โดยเฉพาะพวกเราทั้งหลายในฐานะผู้บริโภคควรได้รับความคุ้มครองดูแลจากการเสพข่าวสารต่างๆ มากน้อยหรือไม่อย่างไร

อดีตที่ผ่านมา เราเคยมีคณะกรรมการที่มักเรียกว่า “ ก บ ว” ซึ่งปกติเราอาจคุ้นเคยกับคำว่า กองเซนเซอร์ ที่คอยตรวจสอบให้ความเห็นกับเนื้อหาของข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่จะเผยแพร่สู่สาธารณะ ในอดีต กบว เป็นหน่วยงานราชการที่สังกัดอยู่กับ “กรมประชาสัมพันธ์” ปัจจุบันถ้าจำไม่ผิด ได้มีการยกเลิกหน่วยงานดังกล่าวแล้ว และให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสถานีวิทยุโทรทัศน์แต่ละแห่งมีเสรีภาพทุกตารางนิ้วตรวจพิจารณาตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นกันเอง

จะเป็นด้วย “มาตรฐาน” หรือไม้บรรทัดที่ต่างฝ่ายต่างถืออยู่ในมือหรือไม่ ทำให้การคิดวิเคราะห์พิจารณาถึงเรื่องต่างๆ มีมุมมองความคิดผิดแผกแตกต่างกันค่อนข้างมาก แต่สิ่งที่ธุรกิจสื่อจำนวนมากยังคงมองเห็นเหมือนกันคือ เรื่องของ “ความนิยม หรือบางทีนิยมเรียกว่า “เรตติ้ง” (rating)” ซึ่งเป็นที่มาของการพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างสถานีวิทยุโทรทัศน์ และผู้ทำรายการต่างๆ กับ สปอนเซอร์หรือผู้ให้การสนับสนุนรายการที่ต่างต้องถ้อยทีถ้อยอาศัย และชัดเจนเป็นอย่างยิ่งในแง่ของการ “พึ่งพา” เมื่อมีกรณี “ทัวร์ลง” หรือ การโจมตีทำลายกันด้วยข้อความที่แสดงความไม่เห็นด้วย หรือรณรงค์ปฎิเสธความเป็นตัวตนของบุคคลหรือองค์กรบางแห่ง ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่นักเลงคีย์บอร์ดหรือคนที่อยู่ในโลกเสมือนจริงทั่วๆ ไปเข้าใจดีในกลวิธีเหล่านี้

แต่สำหรับ คุณทรงพลฯ สำหรับผม ถือว่า สิ่งที่เขาตัดสินใจ “ลาออก” จากอาชีพช่างภาพ ด้วยปรากฎดังเหตุผลที่ให้ไว้กับสาธารณะ เสมือนกับการทิ้งบอมบ์หรือโยนระเบิดลูกใหญ่ หรือเป็น “การสร้างอุบัติการณ์ให้เราได้ฉุกคิดมิใช่เฉพาะวงการสื่อสารมวลชนแต่รวมทั้งให้สังคมได้หันกลับมาย้อนดูตัวเองว่า พวกเรากำลังทำอะไรกันอยู่ ทั้งที่เรียกร้องเสรีภาพ และความเป็นประชาธิปไตยกันสุดกู่ แต่หากท่านได้ “อำนาจ” อย่างที่ท่านต้องการมาจริงๆ ท่านจะยังกล้าปกครองประเทศหรือสังคมที่มีคนส่วนหนึ่งมี “คุณภาพ” และ “ความอ่อนไหว” เช่นที่เราเห็นกันอยู่ในทุกวันนี้อยู่อีกหรือไม่