เครื่องแบบนักเรียนนักศึกษา

เครื่องแบบนักเรียนนักศึกษา

1 ในเหตุผลของฝ่ายที่ต้องการให้คงไว้ซึ่งการใส่ชุดนักเรียนคือ “เครื่องแบบนักเรียนนักศึกษา” ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่าย เหตุผลนี้เป็นจริงหรือไม่?

ส่วนประเด็นที่ว่า ชุดนักเรียนทำให้มีเอกลักษณ์และช่วยให้ไม่ต้องเสียเวลาคิดเลือกในแต่ละวันว่าจะใส่เสื้อผ้าอะไรนั้น คงจะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครเถียงแน่ การไม่ต้องมานั่งคิดเสียเวลาเลือกเสื้อผ้าย่อมเป็นเรื่องดี แต่การมีเอกลักษณ์ของแต่ละสถาบัน แม้ว่าจะเป็นเรื่องดีแต่มีข้อเสียด้วยหรือเปล่า? 

ประเด็นเรื่องประหยัดจะเป็นจริงในกรณีของครอบครัวคนมีสตางค์พอที่จะจับจ่ายซื้อหาเสื้อผ้าต่างๆ นานามาปรุงแต่งเพื่อไปเรียนหนังสือ การที่สถาบันการศึกษากำหนดกติกาให้มีเครื่องแบบย่อมจะช่วยปิดทางการแต่งตัวเพื่อมาประกวดประชันกัน และที่สำคัญคือ เครื่องแบบนักเรียนนักศึกษาโดยทั่วไปมีราคาถูกกว่าเครื่องแต่งกายที่สวมใส่เวลาไปเที่ยวหรือออกงาน แต่ถ้าเทียบกับกางเกงขาสั้นที่ใส่เล่นอยู่บ้านกับเสื้อกล้ามหรือเสื้อยืดธรรมดาๆ ชุดนักเรียนจะมีราคาแพงกว่า แต่ถ้าจะซื้อกางเกงนักเรียนที่มีคุณภาพพอใช้ได้ ก็ไม่ได้ถึงแพงเวอร์เหมือนกางเกงแฟชั่นต่างๆ แต่ทั้งนี้ โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาไม่ควรบังคับให้นักเรียนนักศึกษาของตนต้องซื้อชุดนักเรียนนักศึกษาที่สถาบันฯจัดหามาให้ ที่มีราคาแพงกว่าท้องตลาด มิฉะนั้น เหตุผลในการมีเครื่องแบบเพื่อความประหยัดก็จะไม่เป็นจริงทันที! 

ขณะเดียวกัน ในกรณีของครอบครัวที่ยากจนขนาดที่ไม่มีเงินพอที่จะซื้อหา เครื่องแบบได้ การบังคับให้ใส่เครื่องแบบย่อมจะเป็นภาระอันหนักอึ้งหรือเป็นภาระที่ไม่สามารถรับได้ มิพักต้องพูดถึงการเสียเงินอย่างฟุ่มเฟือยในการจับจ่ายใช้สอยซื้อเสื้อผ้าที่ไม่ใช่ชุดนักเรียน ดังนั้น “เครื่องแบบ” จึงไม่ได้ช่วยให้เกิดความประหยัดอะไรเลยสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่ยากจน และหากในสถาบันการศึกษา มีนักเรียนที่สามารถมีเงินซื้อ “เครื่องแบบ” ได้ ส่วนคนที่ไม่มีหรือมีด้วยความยากลำบาก การมี “เครื่องแบบ” จะก่อให้เกิดความ “รู้สึก” เหลื่อมล้ำได้ เช่น บางคนต้องใส่เครื่องแบบเก่าๆ ขาดๆ ที่เป็นมรดกตกทอดกันมาจากรุ่นพี่หรือญาติพี่น้อง หรือต้องใส่ซ้ำ เพราะมีเพียงชุดเดียวหรือสองชุด เมื่อต้องใส่ซ้ำ ก็ต้องสวมใส่อย่างระมัดระวัง จะเล่นกีฬาหรือทำอะไรที่ทำให้ชุดสกปรกตามอำเภอใจอย่างนักเรียนที่มีหลายชุดไม่ได้ 

จะเห็นได้ว่า ในกรณีหลังนี้ การมีเครื่องแบบก่อให้เกิดปัญหา !  

แต่ถ้าไม่มีเครื่องแบบเสียเลยจะเกิดอะไรขึ้น? ตอบได้เลยว่า แน่นอนว่าสำหรับสถาบันฯที่นักเรียนส่วนใหญ่เป็นคนมีฐานะ ก็จะเกิดการประกวดประชันการแต่งตัวกันขึ้น ซึ่งในกรณีแบบนี้ มีเครื่องแบบย่อมดีกว่าไม่มี แต่ถ้าสถาบันฯมีทั้งนักเรียนรวยและระดับกลาง การมีเครื่องแบบย่อมจะช่วยให้นักเรียนที่มีฐานะปานกลางไม่ต้องเผชิญกับปัญหาการเปรียบเทียบ แต่ถ้าสถาบันฯประกอบไปด้วยนักเรียนรวย-กลางและจน การมีเครื่องแบบก็ยังเป็นเรื่องดีและประหยัดอยู่ดี เพียงแต่สถาบันฯควรจะช่วยแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียนยากจนให้สามารถมีเครื่องแบบนักเรียนได้ หากขัดสน เพราะสถาบันฯที่มีนักเรียนรวย-กลาง-จน ก็ย่อมต้องเป็นสถาบันฯ ที่มีระดับมากกว่าสถาบันฯที่มีแต่นักเรียนจนเสียส่วนใหญ่ ส่วนสถาบันฯที่มีแต่นักเรียนนักศึกษาที่ขัดสน ก็น่าจะยืดหยุ่นที่จะยอมให้นักเรียนของตนสวมใส่อะไรมาก็ได้ นั่นคือ ไม่มีเครื่องแบบเสียเลย! เพราะจากเงื่อนไขที่นักเรียนส่วนใหญ่ยากจน นักเรียนส่วนใหญ่คงจะพอใจที่จะใส่เสื้อผ้าเท่าที่พอมีอยู่มากกว่าจะไปสรรหาซื้อเสื้อผ้าตามกระแสแฟชั่นมาประกวดประชันกัน เพราะมันจะถูกปฏิเสธหรือเขม่นโดยกระแสค่านิยมตามฐานะของคนส่วนใหญ่  

แต่โดยรวมๆแล้ว การมีเครื่องแบบย่อมจะช่วยให้เกิด “การประหยัด” ได้มากกว่าจะปล่อยให้ใส่ตามใจ (ตามฐานะ) เครื่องแบบช่วยลดความเหลื่อมล้ำ-ความไม่เสมอภาค อีกทั้งไม่ต้องเสียเวลามานั่งคิดเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมรองเท้ากระเป๋า

พูดถึง “กระเป๋านักเรียน” ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบ การออกระเบียบให้ใช้ “กระเป๋านักเรียน” ตามกติกาของโรงเรียนก็จะเป็นการช่วยประหยัด หาก กระเป๋าตามแบบ นั้นมิได้มีราคาแพงและสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดไม่ต่างจากชุดนักเรียน แต่หากบางสถาบันฯกำหนด แบบของกระเป๋าที่เป็นกระเป๋าราคาแพง ก็ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ของการมี แบบยกเว้นว่าจะเป็นสถาบันฯที่เน้นรับคนร่ำรวยเท่านั้น (แต่ก็ยังดีที่ไม่ปล่อยให้มีการประกวดประชันกระเป๋าหรือชุดกันอย่างเสรี)

ต่อมาคือประเด็นเรื่อง “เอกลักษณ์” การมีเครื่องแบบที่เป็นเอกลักษณ์ย่อมจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจในสถาบันฯพร้อมๆ ไปกับความบ้าคลั่งสถาบัน และพร้อมๆ ไปกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วย เช่น เครื่องแบบนิสิตจุฬาฯ แม้ว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำภายในสถาบันฯเดียวกัน แต่ก็สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างสถาบันฯ แต่ขณะเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำนี้ก็มาพร้อมๆ กับความภาคภูมิใจด้วยมิใช่หรือ?และเป็นแรงจูงใจในการมุมานะเพื่อจะสอบเข้าเป็นนิสิตของสถาบันฯ ยิ่งความเหลื่อมล้ำทางฐานะทางเศรษฐกิจสังคมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้บุตรหลานสามารถทำคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ดีกว่าคนที่มีฐานะยากจนกว่า การมีเครื่องแบบก็จะกลับให้ให้ผลในแง่ลบต่อสังคมโดยรวม แต่แน่นอนว่า การมีเครื่องแบบย่อมจะเป็นเรื่องดีสำหรับการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันภายในมหาวิทยาลัย

ขณะเดียวกัน การมีเครื่องแบบทำให้นักเรียนนักศึกษา(จำนวนไม่น้อย) ต้องระมัดระวังในพฤติกรรมหรือการกระทำที่ไม่เหมาะสมกับวัยและสถานะของการเป็นนักเรียนนักศึกษา มองในแง่ดีก็คือ เครื่องแบบช่วยสร้างวินัยและสำนึกความรับผิดชอบต่อสถาบันฯและต่อสถานะของตนเอง แต่มองในแง่ร้ายก็คือ เครื่องแบบเปรียบเสมือน “พันธนาการ-เครื่องมือควบคุมความประพฤติ” อย่างรุนแรง ไม่ต่างจากชุดของนักโทษ หรือไม่ต่างจากผู้ที่ถูกมองว่ามีศักยภาพที่จะทำอะไรไม่ดีหรือชั่วๆได้อยู่ตลอด และแน่นอนว่า ถ้ามองอย่างอุดมคติ เราย่อมคาดหวังที่จะได้นักเรียนนักศึกษาที่สามารถควบคุมตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยการควบคุมโดยเครื่องแบบที่มีชื่อและเลขประจำตัวปักอยู่บนหน้าอกมิใช่หรือ ?

ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งสองแง่นี้ เราควรจะมาร่วมกันพิจารณาหาข้อเสนอใหม่ๆ ในการที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีและเป็นธรรมที่สุดในสังคม ซึ่งผู้เขียนก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่าควรจะทำอย่างไร?

(ข้อเขียนเคยตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ เดือน ก.ค.2556)