บ่มทักษะแห่งอนาคตฝ่ากระแสความไม่แน่นอน

บ่มทักษะแห่งอนาคตฝ่ากระแสความไม่แน่นอน

สวัสดีครับ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้นักเรียนและเยาวชนมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก

และทำให้มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (Ed-tech) ในรูปแบบใหม่ๆ อย่างแพร่หลาย เราจะเห็นได้ว่าสถาบันการศึกษาทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยแทบจะทุกแห่งทั่วโลกกำลังทำงานอย่างหนักในการปรับและออกแบบหลักสูตรเพื่อให้เหมาะกับการเรียนการสอนระยะไกลและการเรียนจากที่บ้าน ในช่วงแรกอาจจะเกิดความท้าทายอยู่บ้างในแง่ของเทคโนโลยีเนื่องจากวิกฤตครั้งนี้เป็นตัวเร่งให้เกิดความปกติแบบใหม่ซึ่งไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ในขณะเดียวกันนับว่าเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสการเรียนรู้รูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21 เช่นกัน

เมื่อพิจารณาในรายละเอียด เราจะเห็นว่าในหลายๆ อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ อาชีพที่เป็นที่ต้องการในตลาดตอนนี้มักจะไม่เป็นที่รู้จักมากนักในช่วง 5 หรือ 10 ปีก่อน เนื่องจากโลกของเราหมุนไปอย่างรวดเร็วตามกระแสของโลกาภิวัตน์ ในอนาคตจะมีเด็กๆ กว่า 65% ที่ประกอบอาชีพซึ่งยังไม่มีในตลาด ณ ตอนนี้ ในความเป็นจริงแล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษารวมไปถึงแนวทางในการเรียนการสอนเพื่อให้ก้าวทันกับความต้องการของตลาดตลอดเวลา

ข้อมูลของ World Economic Forum แสดงให้เห็นว่าในระยะเวลาเพียง 5 ปีนับจากนี้ ทักษะ 35% ที่จำเป็นในการจ้างงานในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไป นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับหลายประเทศที่จะต้องมุ่งเน้นการสร้างบุคลากรที่มีทักษะที่เหมาะสม อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับสถานศึกษาที่ต้องบ่มเพาะแรงงานที่มีทักษะสำหรับอนาคตตามพลวัตแห่งการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากอิทธิพลของเทคโนโลยีดิจิทัล

หากพิจารณาผลกระทบต่อตลาดแรงงาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (The International Labour Organization) รายงานว่าการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาทำให้ประชาชนกว่า 305 ล้านคนทั่วโลกต้องตกงาน ซึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักกว่าใครเพื่อนก็คงจะหนีไม่พ้น อุตสาหกรรมการผลิต สายการบิน ร้านค้าปลีก และภาคการท่องเที่ยวซึ่งถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงภาคเศรษฐกิจของประเทศไทยและยังเป็นแหล่งงานยอดนิยมสำหรับบัณฑิตจบใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นครั้งแรก

ลิงค์อิน (LinkedIn) สังคมออนไลน์ที่มุ่งเน้นด้านการสร้างเครือข่ายธุรกิจได้วิเคราะห์และระบุทักษะที่เป็นที่ต้องการของนายจ้างมากที่สุด พร้อมตั้งคำถามว่าจะใช้ทักษะดังกล่าวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างไร ข้อมูลที่ได้ชี้ให้เห็นว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่าง “ความสามารถด้านอาชีพ (Hard Skills)” และ “ทักษะด้านสังคม (Soft Skills)” นายจ้างส่วนใหญ่มักจะเทใจให้คะแนนกับพนักงานหรือบุคลากรที่มีทักษะด้านสังคม สอดคล้องกับการสำรวจขององค์กรระดับโลกทั้ง Deloitte และ World Economic Forum ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชุดของทักษะที่มีความจำเป็นมากที่สุดสำหรับการทำงานในอนาคต ซึ่งประกอบไปด้วยทักษะที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่

1. ทักษะด้านการสื่อสาร (Communication) นับว่าเป็นทักษะที่จำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่หลายคนต้องทำงานระยะไกล ไม่เพียงแต่เฉพาะนายจ้างเท่านั้น พนักงานเองก็จำเป็นต้องพัฒนาทักษะการสื่อสารในรูปแบบดิจิทัลอย่างเหมาะสม ผ่านการใช้อีเมลหรือการเขียนข้อความ 2. ทักษะการแก้ปัญหา (Problem-solving) เริ่มต้นด้วยการแยกองค์ประกอบของปัญหา จากนั้นจึงไปหาข้อมูล และท้ายสุดคือเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมในการจัดการกับปัญหา 3. ทักษะการวิเคราะห์ (Analytical skills) ทุกธุรกิจกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านงบประมาณและความจำเป็นที่จะต้องลดขนาดองค์กร หากพนักงานมีทักษะการคิดและวิเคราะห์เพื่อหาทางแก้ปัญหาใหม่ๆ ก็จะช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินกิจการผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากได้ 4. ทักษะการบริการลูกค้า (Customer Service) ในยุคที่ตลาดอีคอมเมิร์ซกำลังกลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับชีวิตยุคใหม่ การสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์นับว่าปัจจัยที่สำคัญในการรักษาฐานลูกค้า 5. ทักษะการเป็นผู้นำ (Leadership) ที่ประกอบไปด้วยการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา ความตระหนักรู้ว่าต้องทำสิ่งใดก่อนและหลัง รวมไปถึงการเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม

ด้วยปัจจัยที่กล่าวมาแสดงให้เห็นได้ว่า การสร้างบุคลากรที่ถึงพร้อมด้วยทักษะที่จำเป็นตั้งแต่อยู่ในช่วงการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยเพื่อป้อนตลาดนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และบัณฑิตป้ายแดงนี่เองจะเป็นพลังขับเคลื่อนและทำให้ภาคเศรษฐกิจสามารถคงอยู่ได้ ช่วงนี้นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับทุกภาคส่วนที่จะหันหน้าเข้ามาปรึกษาและร่วมกันหาแนวทางเพื่อสร้างบุคลากรที่มีทั้งทักษะด้านสังคมและทักษะด้านการทำงานที่แข็งแกร่งตามความต้องการของตลาดในโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปครับ