Cultural Innovation: เก่ากับใหม่ ไปด้วยกัน

Cultural Innovation: เก่ากับใหม่ ไปด้วยกัน

อนาคตหรืออดีตดีกว่ากัน? คำถามนี้คงตอบแบบเหมารวมยากถ้าต้องเลือกระหว่าง อนาคต หรืออดีต เพราะทั้งอนาคตหรืออดีตก็มีหลากหลายมิติ

แต่ละยุคล้วนมีข้อดีและข้อเสียต่างกันไป

ในวันนี้ คนจำนวนมากอยากพุ่งทะยานก้าวไปสู่อนาคตที่เต็มไปด้วยความล้ำยุคทันสมัยแต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังอยากย้อนเวลากลับไปในอดีตยังคิดถึงความทรงจำที่เคยมี

ในมิติของพื้นที่ สถานที่หนึ่งๆ ถูกอัดแน่นไปด้วยความทรงจำความสัมพันธ์ของคน วิถีชีวิต การกินอยู่ อาหาร อาชีพภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรมที่มีคุณค่าของผู้คน

หากเราพูดถึงอนาคตเราย่อมคิดถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมแต่คำว่านวัตกรรมมีความหมายกว้างกว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยีเท่านั้น เพราะยังหมายถึงนวัตกรรมทางความคิด การคิดค้นสิ่งใหม่ ทำด้วยกระบวนการใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆที่ต่างไปจากเดิมเพื่อหวังมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลง

นวัตกรรมทางวัฒนธรรม (Cultural Innovation) จึงเป็นการสร้างนวัตกรรมที่ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ พร้อมๆกับทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคม ช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมที่มีมาแต่เดิม ตลอดจนสร้างสรรค์วัฒนธรรมใหม่ที่ดีงาม

นวัตกรรมทางวัฒนธรรมอาจเป็นสิ่งใหม่ที่เรายังไม่ค่อยได้ยินกันมากนักแต่ความจริงแล้วการสร้างนวัตกรรมทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะวัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่ง วัฒนธรรมมีชีวิตและมีหลายมิติ เราจำเป็นต้องเปิดพื้นที่และเปิดมิติเวลาไปพร้อมๆกัน ซึ่งนวัตกรรมทางวัฒนธรรมจะเป็นโซลูชั่นที่ช่วยเพิ่มคุณค่าในเชิงเศรษฐกิจพร้อมๆกับการตอบโจทย์แก้ปัญหาเชิงสังคมและวัฒนธรรมไปด้วย

การผสมผสานทั้งเทคโนโลยี ดิจิทัล พลังโซเชียลมีเดีย นวัตกรรมแห่งอนาคต กระบวนการคิดสิ่งใหม่ๆ ลงไปกับเรื่องราว ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความทรงจำห้วงเวลาในอดีตได้อย่างลงตัวจึงเป็นการสร้างสรรค์ที่มีคุณค่า ทั้งตัวเงิน และคุณค่าทางจิตใจ ตัวอย่างเช่น ชุมชนย่านเก่าแก่ถ้าพัฒนามาเป็นย่านสร้างสรรค์ได้ก็จะทำให้คุณค่าที่มีมาตั้งแต่อดีตพลิกฟื้นมีชีวิตชีวาอีกครั้ง เชื่อมโยงเรื่องราวของย่าน ผู้คน ธุรกิจดั้งเดิม เข้ากับธุรกิจสร้างสรรค์ใหม่ๆและกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในพื้นที่อย่างเข้มข้น

หัวใจสำคัญของการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ คือความร่วมมือของคนในพื้นที่ ความเข้าใจความยอมรับจากคนในพื้นที่ ความมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ตัวอย่างที่น่าสนใจของการเริ่มพัฒนาย่านสร้างสรรค์ คือ นิทรรศการผู้คนแห่งสงขลาหรือ Portrait of Songkhla ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจากงานนิทรรศการภาพถ่ายผู้คนแห่งเจริญกรุงหรือ Portrait of Charoenkrung โดยผู้ทำโครงการนี้ก็คือโรงเรียนถ่ายภาพสังเคราะห์แสง ร่วมกับ Creative Economy Agency (CEA) ซึ่งได้เปลี่ยนพื้นที่เจริญกรุงที่เงียบเหงาให้กลายเป็นย่านสร้างสรรค์แห่งใหม่ของกรุงเทพ

Portrait of Songkhla เป็นตัวอย่างเครื่องมือเชิงนวัตกรรม(innovative tool) ที่แม้ว่าถ้ามองเผินๆ จะเป็นแค่ภาพถ่ายของชุมชนและผู้คนในชุมชนนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีคุณค่าที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าซ่อนอยู่ ก่อนจะมาเป็น Portrait of Songkhla ช่างภาพท้องถิ่นต้องมาพูดคุยทำความรู้จักกับคนในพื้นที่เพื่อขอถ่ายภาพและให้เล่าถึงความเป็นมาของครอบครัวตัวเอง เรื่องราวบางอย่างคนในชุมชนอาจลืมเลือนไปครอบครัวอาจไม่เคยถ่ายรูปด้วยกันมาเป็นเวลานานแล้วกิจกรรมดังกล่าวทำให้ได้ระลึกถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวกับชุมชนและยังทำให้เกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนภายนอกกับชุมชนช่วยสร้างอัตลักษณ์ให้กับเมือง จุดประกายให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ต่อยอดความคิดของคนรุ่นก่อนให้เป็นอาชีพใหม่อีกด้วย

กิจกรรมการถ่ายภาพแบบนี้ช่วยละลายกำแพงที่มีระหว่างผู้คนได้อย่างมาก กิจกรรมแบบนี้ทำให้คนในวัยต่างๆที่เติบโตมาในย่านเดียวกันคนละยุคสมัยได้แชร์มุมมอง เปิดพื้นที่ เปิดใจเห็นถึงความคิดความแตกต่าง ภาพถ่ายเป็นเพียงแรงจูงใจเริ่มต้นที่ทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วม แต่กระบวนการตั้งแต่ต้นจนมาถึงวันที่จัดนิทรรศการ Portrait of Songkhla ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชน เกิดการเปลี่ยนแปลงข้างในใจคน นอกจากนี้ยังเป็นการชูคุณค่าของเมือง และนี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้คนในพื้นที่มีความประทับใจในพื้นที่ของตนเอง กระบวนการนี้กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน (ownership) ของคนในพื้นที่

แต่ละย่านแต่ละชุมชนพื้นที่ของประเทศไทยเรามีเสน่ห์ที่น่าสนใจอีกมากมายหลายแห่งการเพิ่มเรื่องราวเรื่องเล่าช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับการท่องเที่ยวสินค้าและบริการสร้างสรรค์ การเพิ่มกระบวนการใหม่ๆที่เป็นเครื่องมือเชิงนวัตกรรมลงไปในพื้นที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม

เราอาจพูดได้ว่านวัตกรรมทางวัฒนธรรมและการออกแบบเชิงสร้างสรรค์สามารถนำไปสู่การสร้างมูลค่าที่เป็นตัวเงินยกระดับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์สร้างโอกาสให้กับคนในพื้นที่กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างดียิ่งไปกว่านั้นสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีความสำคัญหรือคุณค่าแค่เพียงตัวเงินเท่านั้นหากแต่ยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจเป็นสุนทรียศาสตร์ช่วยหล่อหลอมผู้คนส่งต่อเรื่องราวรากเหง้าของคนจากรุ่นสู่รุ่น และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการสร้างอนาคตที่ดี

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายความเป็นไปได้ ภาพอนาคตที่ดีที่สุดก็คือ การสร้างขึ้นมาด้วยตัวพวกเราเอง แต่อย่าลืมว่าการก้าวสู่อนาคตที่ดี เราต้องคิดถึงอดีต ปัจจุบันและอนาคตไปพร้อมๆกันด้วย เพราะเรามีอนาคตที่ดีไม่ได้ หากไม่มีปัจจุบันที่ดีและลืมเลือนบทเรียนหรือสิ่งดีๆ ในอดีตไป

/////////////////////

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/