หมดยุคเป้าหมายเงินเฟ้อ

หมดยุคเป้าหมายเงินเฟ้อ

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ นักการเงิน และนักลงทุนทั้งหลาย ข่าวจากการสัมมนาวิชาการของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) หรือ Jackson Hole ในปลายเดือน ส.ค.2563

น่าตื่นเต้นมาก เพราะสาระสำคัญคือ Fed จะยอมปล่อยให้เงินเฟ้อขึ้นเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2% โดยไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย บ่งชี้ว่าดอกเบี้ยจะต่ำเป็นเวลายาวนาน แต่น้อยคนที่จะทราบว่า นัยยะของสารที่ Fed จะสื่อนั้นสำคัญเกินกว่านั้น เพราะเป็นการบ่งชี้ถึงการสิ้นสุดของยุคนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นแต่เสถียรภาพเป็นหลักจนละเลยเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจ

นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 70-80 เป็นต้นมา ที่เงินเฟ้อทั่วโลกรวมถึงในสหรัฐอยู่ในระดับประมาณ 10-20% ต่อปี ทำให้ข้าวของแพง ผู้คนกักตุนสินค้า และเศรษฐกิจตกต่ำ ทางการทั่วโลกต่างเห็นว่าเงินเฟ้อเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของประชาชน ตามคำกล่าวของประธานาธิบดี เจอราล์ด ฟอร์ด ของสหรัฐ 

ด้วยแนวคิดเช่นนั้น ทางการทั่วโลกก็ได้ให้ดาบอาญาสิทธิ์กับธนาคารกลางในการคุมเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในระดับเกือบ 10% ให้อยู่หมัด ด้วยการลดปริมาณเงินอย่างรุนแรง ยุคนี้จึงมีชื่อว่า ยุคนโยบายการเงินนิยม (Monetarism)

ผ่านมาสู่ทศวรรษที่ 90 ด้วยเงินเฟ้อและสัดส่วนหนี้สาธารณะที่ลดลง นโยบายการเงินทั่วโลกก็เริ่มปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคใหม่ ที่ตั้งเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย(Inflation targeting) โดยเชื่อว่าเงินเฟ้อที่ขยายตัวอย่างอ่อนๆ เช่น 2-3% จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ เพราะจะทำให้ผู้คนอยากที่จะจับจ่าย แต่ไม่รุนแรงจนต้องกักตุนสินค้า

นโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อนี้ อยู่บนทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อว่า Phillips Curve ที่เชื่อว่าเงินเฟ้อและการว่างงานมีความสัมพันธ์ผกผันกัน กล่าวคือ หากทางการต้องการให้อัตราว่างงานอยู่ในระดับต่ำ (บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจดี) จะต้องทำให้เกิดเงินเฟ้อขึ้น แต่เมื่อเงินเฟ้อขึ้นสูงจนผู้คนเชื่อว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงยาวนานแล้วนั้น ผู้คนจะกักตุนสินค้า ทำให้ของขาดตลาด สินค้าราคาแพง และเศรษฐกิจตกต่ำ (หรือที่เรียกว่า Stagflation)

ดังนั้น การที่ให้ธนาคารกลางตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับให้ความเป็นอิสระกับธนาคารกลาง จะทำให้ผู้คนเชื่อมั่นว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ธนาคารกลางจะดูแลไม่ให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นเกินเป้าหมาย

แต่หลังจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เป็นต้นมา ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นกลับด้านกัน คือแทนที่จะมีปัญหาเงินเฟ้อ ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วกลับเผชิญกับปัญหาไร้เงินเฟ้อ (Disinflation) โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยไม่เคยปรับไปถึงเป้าหมายเลย ขณะที่บางที่ เช่น ญี่ปุ่นและไทย เข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) หรือเงินเฟ้อตกต่ำระยะยาวจนผู้คนเชื่อว่าเงินเฟ้อจะไม่สามารถปรับเข้าสู่เป้าหมายได้ในอนาคต

สาเหตุที่เงินเฟ้อไม่ปรับไปถึงเป้าหมายมีหลายประการ เช่น (1) ภาวะสังคมสูงวัยทั่วโลก ทำให้ความต้องการ (Demand) ในสินค้าและบริการไม่มากเท่าคนหนุ่มสาว เมื่อ Demand ไม่มี ราคาก็ขึ้นไม่ได้ (2) เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งการขุดเจาะ เสาะหาทรัพยากรธรรมชาติทำได้ง่ายขึ้น และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ๆ เช่น Smart phone ที่รวมอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ อีก

เมื่อเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะต่ำยาว (ซึ่งจะยิ่งมากขึ้นหลัง COVID-19 ที่จะกด Demand และทำให้เศรษฐกิจตกต่ำยาวยิ่งขึ้น) แต่นโยบายการเงินเป็นแบบเดิม กล่าวคือ พร้อมจะขึ้นดอกเบี้ยหากธนาคารกลางคาดว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้นโยบายการเงินตึงตัวเกินไปมาโดยตลอด โดยเฉพาะในปี 2018 ที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องถึง 4 ครั้ง และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐในปี 2019 ชะลอตัวลงถึงกว่า 1 Percentage point เมื่อเทียบกับปี 2018 

ดังนั้น Fed จึงเปลี่ยนเป้าหมายนโยบายการเงิน โดยมีสาระสำคัญ 4 ประการ คือ (1) ลดความสำคัญของเป้าหมายเงินเฟ้อลง โดยใช้คำว่า “Average flexible inflation targeting” แปลว่า Fed จะยอมให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น (Overshoot) เกินเป้าหมายเดิมที่ 2% ได้ (2) ไม่ผูกมัดตัวเองกับสมการเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตายตัว แต่จะเพิ่มความยืดหยุ่น (3) ส่งสัญญาณว่า อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไปเป็นความเสี่ยงรุนแรงของเศรษฐกิจ และ (4) เชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเงินเฟ้อและอัตราว่างงานหรือ Phillips Curve ลดลง บ่งชี้ว่า Fed เชื่อว่าสามารถกดอัตราว่างงานให้ต่ำลงมากๆ โดยไม่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้

ผู้เขียนจึงเชื่อว่า นับจากนี้ไป สิ่งที่ Fed จะหันมาโฟกัสเป็นอันดับแรก คือ อัตราว่างงานที่เป็นหนึ่งในเครื่องชี้วัดการเติบโตของเศรษฐกิจ อันเป็นการเปลี่ยนยุคของการทำนโยบายการเงิน จากเป้าหมายเงินเฟ้อหรือ Inflation targeting เป็นเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจ หรือ Economic growth targeting

ผู้เขียนเชื่อว่า นัยยะของการเปลี่ยนนโยบายเช่นนี้มหาศาล เพราะนั่นหมายความว่า Fed จะกดดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับต่ำยาวนานอย่างน้อย 5 ปี เพราะอัตราว่างงานและอัตราเงินเฟ้อที่ Fed คาดการณ์เองในช่วง 3 ปีข้างหน้าก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายมาก (อัตราว่างงานอยู่ที่ 5.5% ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 1.7% ต่ำกว่าเป้าหมายระยะยาวที่ 4.0% และ 2.0% ตามลำดับ) และไม่น่าจะฟื้นขึ้นมาสู่เป้าหมายได้ใน 5 ปีข้างหน้า

นั่นแปลว่า ธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ จะต้องทำนโยบายการเงินผ่อนคลายมากและยาวนานเช่นเดียวกับ Fed หาไม่แล้ว ค่าเงินของประเทศที่ทำนโยบายการเงินตึงตัวกว่า (ลดดอกเบี้ยน้อยกว่าหรือไม่ทำ QE ในระดับที่ใกล้กับสหรัฐ) เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่จะแข็งค่าขึ้น ทำให้รายได้จากส่งออกสินค้าและบริการในรูปเงินสกุลท้องถิ่นลดลง รวมถึงทำให้เงินเฟ้อต่ำและมีความเสี่ยงเงินฝืด 

Fed ได้เปลี่ยนจากเป้าหมายเงินเฟ้อมาเป็นเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจแล้ว ประเทศใดที่ยังยึดเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ เศรษฐกิจประเทศนั้นก็จะตกต่ำกว่าเป้าชนิดฉุดไม่อยู่อย่างแน่นอน และเมื่อนั้น คนที่ได้รับผลกรรมก็ได้แก่ลูกหลานของประเทศนั้นเอง หาใช่ใครไม่

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]