ข้อสังเกตเพื่อแก้ไข รธน.ที่เกี่ยวกับศาล

ข้อสังเกตเพื่อแก้ไข รธน.ที่เกี่ยวกับศาล

จากการที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ซึ่งผมได้มีส่วนร่วมเป็นกรรมาธิการฯด้วยนั้น ได้เสนอรายงานฯต่อสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีเนื้อหาที่น่าสนใจเป็นอันมาก แต่มีประเด็นหนึ่งมักจะไม่มีคนกล่าวถึงมากนัก แต่เป็นประเด็นที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งประเด็นหนึ่ง ซึ่งก็คือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศาล ผมจึงจะขอนำข้อสังเกตความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มาเสนอโดยย่อ ดังนี้

(1)ควรกำหนดให้มีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้พิพากษาและตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำชี้ขาดในบางคดีที่อาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือขัดต่อความรู้สึกของสังคมและประชาชนหรือมีข้อสงสัยหรือมีข้อโต้แย้งที่มีเหตุผลทางวิชาการน่าเชื่อได้ว่าคำพิพากษาหรือคำชี้ขาดของศาลไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือในบางกรณีอาจมีข้อสงสัยที่มีเหตุอันสมควรเชื่อได้อย่างสมเหตุสมผลที่มีพยานหลักฐานพอสมควรว่าการใช้ดุลพินิจพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาและตุลาการนั้นอาจเกิดจากการถูกแทรกแซงจากปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยภายในศาลเองหรือเกิดจากความมีอคติของ ผู้พิพากษาและตุลาการหรือเกิดจากความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายหรือไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือหลักกฎหมายหรือระเบียบของศาลในการพิจารณาพิพากษาคดีหรือที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะหรือความมั่นคงของประเทศอย่างรุนแรงเพื่อเป็นการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและประโยชน์สาธารณะที่ได้รับผลกระทบจากคาพิพากษาดังกล่าว

(2)ควรมีบทบัญญัติที่เป็นหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดีให้มีความเป็นอิสระจากผู้บังคับบัญชาของศาลอย่างแท้จริง โดยควรกำหนดให้ชัดเจนว่าการบังคับบัญชาในศาลจะต้องเป็นการบังคับบัญชาในงานธุรการเท่านั้น ลำดับชั้นและอาวุโสของผู้พิพากษาและตุลาการไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาในการพิจารณาพิพากษาคดี คำพิพากษาคำสั่งและคำชี้ขาดใดของศาลที่เป็นผลจากการแทรกแซงไม่ว่าในกรณีใดให้มีผลเป็นโมฆะโดยให้ผู้มีส่วนได้เสียกับคำพิพากษาคำสั่งและคำชี้ขาดนั้นสามารถใช้สิทธิโต้แย้งและพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อศาลได้

(3)การตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาและตุลาการโดยเฉพาะในเรื่องของการใช้ดุลพินิจและการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้พิพากษาและตุลาการนั้น ควรกำหนดให้มีการตรวจสอบในลักษณะ ถ่วงดุลอำนาจในระบอบประชาธิปไตยกันได้ในระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ แต่ปัจจุบันกลับให้องค์กรบริหารหรือองค์กรปกครองของฝ่ายตุลาการตรวจสอบกันเอง แต่ฝ่ายตุลาการกลับสามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติได้ ดังนั้นสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยและถือว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยจึงควรมีอำนาจตรวจสอบการใช้ดุลพินิจในการทำคำพิพากษา คำสั่งและคำชี้ขาดของฝ่ายตุลาการได้ภายใต้หลักเกณฑ์ที่เหมาะสมซึ่งถือได้ว่าเป็นการถ่วงดุลการใช้อำนาจขององค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญซึ่งกันและกันอันเป็นกระบวนการในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

(4)ควรให้มีบทบัญญัติที่จะกำหนดให้มีวิธีการหรือมาตรการหรือกลไกในการคุ้มครองการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาและตุลาการให้เป็นไปโดยอิสระได้อย่างแท้จริง รวมทั้งกลไกในการควบคุมการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาและตุลาการไม่ให้เกิดการใช้ดุลพินิจโดยมีอคติหรือไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมให้มากกว่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

(5)ปัจจุบันปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดี สำหรับผู้มีรายได้น้อยก็เป็นประเด็นที่พึงได้รับการแก้ไขเพราะประชาชนผู้ยากไร้หรือมีรายได้น้อยมักจะไม่มีรายได้เพียงพอที่จะนำมาใช้จ่ายเป็นค่าทนายความหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการดำเนินคดีซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นการเสียความยุติธรรมที่รัฐพึงเข้ามามีส่วนช่วยเหลือมิฉะนั้นจะก่อให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมและความไม่เสมอภาคในสังคมและจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าจะหาความยุติธรรมได้ก็ต่อเมื่อมีเงินเท่านั้นอันจะเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาสังคมต่อไป

(6)ควรกำหนดให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิของประชาชนในการเสนอพยานหลักฐานต่อศาลที่เป็นศาลพิเศษ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ โดยต้องเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิแสดงพยานหลักฐานของตนต่อศาลได้อย่างเต็มที่ดังจะพบว่าการพิจารณาคดีบางคดีของศาลรัฐธรรมนูญไม่เปิดโอกาสให้คู่ความนำพยานหลักฐานเข้าสืบและประชาชนไม่สามารถทราบข้อเท็จจริงได้ว่าเพราะเหตุใดศาลรัฐธรรมนูญจึงใช้ดุลพินิจไม่รับฟังพยานหลักฐานเป็นต้น

(7)รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระรวมทั้งผู้พิพากษาและตุลาการด้วยเพื่อให้กระบวนการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการควบคุมให้ผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมิเช่นนั้นอาจถูกยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์เช่นนี้ไว้จึงทำให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ไม่มีกระบวนการถ่วงดุลตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้ที่ดำรงตำแหน่งในอำนาจอื่นดังเช่นที่เคยบัญญัติมาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จึงควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจในการถอดถอนผู้พิพากษาและตุลาการได้เหมือนการถอดถอนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอื่นตามรัฐธรรมนูญ

(8)การตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มุ่งหมายที่จะแทรกแซงการใช้ดุลพินิจของฝ่ายตุลาการโดยเฉพาะเรื่องละเมิดอำนาจศาล นั้นโดยเจตนารมณ์ของกฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อให้ศาลสามารถควบคุมและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเป็นไปอย่างเรียบร้อยกฎหมายจึงบัญญัติให้ศาลมีอำนาจในเรื่องการละเมิดอำนาจศาลซึ่งเป็นข้อยกเว้นเรื่องส่วนได้เสียในการดำเนินคดีโดยกำหนดให้ศาลซึ่งถือเป็นคู่กรณีสามารถพิจารณาพิพากษาคดีละเมิดอำนาจศาลได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการและวิธีพิจารณาคดีอย่างเช่นคดีทั่วไปดังนั้น การกระทำที่จะเป็นการละเมิดอำนาจศาลจึงควรใช้ บังคับเฉพาะกับกรณีที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีเท่านั้น

จากที่กล่าวมาข้างต้นคงจะพอเป็นประโยชน์และเป็นสาระสำคัญสำหรับผู้ที่จะไปแก้ไขเพิ่มเติมหรือแม้แต่การยกร่างใหม่ทั้งฉบับก็ตามบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ