การเรียนรู้ของผู้ใหญ่

การเรียนรู้ของผู้ใหญ่

ในเศรษฐกิจยุคโควิดนี้ เรื่องหนึ่งที่พูดและเขียนกันถึงเยอะพอสมควรคือ ความจำเป็นที่คนจะต้องเรียนรู้ทักษะและความสามารถใหม่ๆ

หรือที่นิยมเรียกกันว่า Reskill/Upskill ทั้งสำหรับกลุ่มพนักงานที่ทำงานอยู่ในองค์กรและจะต้องปรับทักษะ ความรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และสำหรับคนอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและจะต้องพัฒนาทักษะความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้สามารถทำงานและมีรายได้มาดูแลตนเองและครอบครัว

มีการพูดและเขียนถึงความสำคัญ ความจำเป็น ความเร่งด่วนของการ Reskill/Upskill กันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งองค์กรเอกชน หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ ก็หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี มีประเด็นเล็กๆ ประการหนึ่งที่ยังไม่ค่อยได้รับการตระหนักถึงเท่าไร นั่นคือบุคลากรทั้งในและนอกองค์กรที่จะต้อง Reskill/Upskill เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ใหญ่ ที่มีประสบการณ์ในการทำงานมาในระดับหนึ่ง กระบวนการในการเรียนรู้ของบุคคลเหล่านี้ย่อมแตกต่างจากเด็กๆ หรือนิสิตนักศึกษาที่ยังขาดประสบการณ์ในการทำงาน ดังนั้น รูปแบบและวิธีการเรียนรู้ที่จัดเตรียมสำหรับการ Reskill/Upskill จะต้องแตกต่างไปจากเดิม

การเรียนรู้ของผู้ใหญ่นั้นแตกต่างจากของเด็กๆ เนื่องจากผู้ใหญ่มีความรู้และประสบการณ์ชีวิตมาในระดับหนึ่ง ดังนั้นสิ่งที่คนเหล่านี้แสวงหาคือการเรียนรู้อย่างต่อยอดและต่อเนื่องที่สอดคล้องกับสิ่งที่ตนเองสนใจ ต้องการและจำเป็น ขณะเดียวกันเนื่องจากผู้ใหญ่เข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้อง Reskill/Upskill ตนเอง

ดังนั้นแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ย่อมมีสูง ซึ่งจากทั้งสองประเด็นทำให้ผู้ใหญ่ควรจะสามารถออกแบบการเรียนรู้ของตนเองได้ และบทบาทของผู้สอนก็ต้องเปลี่ยนไปจากการเป็นครูหรืออาจารย์ เป็น Mentor, Coach, Facilitator หรือแม้กระทั่งเป็นเพื่อน

การเรียนรู้ของผู้ใหญ่จึงควรจะเริ่มต้นผลลัพธ์ที่ผู้เรียนจะได้รับก่อน จริงอยู่การเรียนรู้ในทุกระดับก็จะต้องเริ่มจากผลลัพธ์การเรียนรู้ แต่สำหรับผู้ใหญ่แล้วเรื่องนี้จะมีความสำคัญมากกว่าปกติ ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้เรียนย่อมต้องการจะรู้ถึงสิ่งที่ตนเองจะได้รับจากการเรียนรู้ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ขณะเดียวกันในกระบวนการเรียนรู้ของผู้ใหญ่นั้นก็ไม่ควรจะใช้รูปแบบเดียว แต่ควรจะเป็นลักษณะผสมผสานระหว่างประสบการณ์เรียนรู้ รูปแบบต่างๆ ทั้งในห้องเรียน ออนไลน์ ประสบการณ์จริง หรือการจำลองสถานการณ์ ที่สำคัญคือผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่จะสมาธิสั้นกว่าเด็กๆ รวมทั้งจากประสบการณ์ที่มีมากกว่า ทำให้สามารถย่นย่อได้ทั้งเนื้อหาและเวลาในการเรียนรู้

แนวคิดของ Bite-sized education และ Micro learning เป็นแนวคิดที่นิยมสำหรับการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ โดยแทนที่จะเป็นเนื้อหาความยาว 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ก็จะกลายเป็นโมดูลสั้นๆ ไม่เกิน 5-7 นาที (บางแห่งอาจจะ 2 นาที) ที่สามารถนำเสนอเนื้อหาที่สำคัญและจำเป็นลงไปในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที ในบางองค์กรแล้ว Micro learning เป็นการนำเสนอข้อมูลและความรู้ ที่สำคัญและจำเป็นสำหรับพนักงานและผู้เรียน ในสถานการณ์ที่ต้องการ เพื่อนำมาการแก้ไขปัญหาหรือสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่

นอกจากนี้สำหรับผู้ใหญ่แล้ว การได้มีส่วนร่วมในการออกแบบรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมของตนเองก็เป็นสิ่งที่สำคัญ (บางตำราเรียกว่า Self-directed learning) ในองค์กรหลายแห่ง หน้าที่ของฝ่ายพัฒนาบุคลากรคือการจัดเตรียมเนื้อหาและรูปแบบในการเรียนรู้ที่หลากหลายไว้ และเปิดโอกาสให้พนักงานได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้และผลลัพธ์ตามที่ตนเองต้องการ

จะได้เห็นได้ว่าการเรียนรู้ของผู้ใหญ่นั้นมีความแตกต่างจากการเรียนรู้ของเด็ก หรือนิสิตนักศึกษาพอสมควร ดังนั้นการจะนำเรื่องของ Reskill/Upskill มาใช้ก็ต้องอย่าลืมในพฤติกรรมและกระบวนการเรียนรู้ของบุคคลเหล่านี้ด้วย ที่สำคัญคือผู้ที่ผ่านกระบวนการ Reskill/Upskill เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องการเครื่องยืนยันว่าตนเองได้เกิดการเรียนรู้ในทักษะใหม่ๆ และใช้หลักฐานดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำหรับความก้าวหน้าในวิชาชีพหรือในการหางาน

ดังนั้น ประกาศนียบัตรต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น การสอบผ่านหรือได้รับประกาศนียบัตรต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลผู้นั้นมีทักษะและความรู้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้