“ดีพซายน์ ไฮเทค” กับธุรกิจนวัตกรรม

“ดีพซายน์ ไฮเทค” กับธุรกิจนวัตกรรม

คำว่า “นวัตกรรม” ในยุคนี้สมัยนี้ดูจะเป็นคำพื้นฐานที่ทุกคนฟังแล้วเข้าใจว่าหมายถึงอะไร

แต่เมื่อลองไปถามแบบจริง ๆ จัง ๆ ว่า แต่ละคนเข้าใจว่า “นวัตกรรม” หมายถึงอะไร ก็มักจะได้คำตอบที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่แล้ว จะเทียบเคียงคำว่า “นวัตกรรม” กับ “สิ่งใหม่” ที่ตนเองยังไม่เคยเห็นหรือเคยได้ยินได้ฟังมาจากที่อื่นว่า เป็น “ของใหม่”

ส่วนใหญ่ สามารถเทียบเคียงได้ถูกต้องว่า “นวัตกรรม” หมายถึงความใหม่ในเชิงธุรกิจการค้า มากกว่าที่จะหมายถึงความใหม่ในด้านอื่น ๆ

เช่น เพลงออกใหม่ล่าสุด ภาพยนตร์เรื่องใหม่ หรือ นวนิยายใหม่ ก็ไม่นับกันว่าเป็น “นวัตกรรม”

ถ้าจะคุยกันต่อไปว่า แล้วเจ้า “นวัตกรรม” นี้ มันมาจากไหน? คำว่า “วิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี ก็จะติดตามมาในความหมายว่า ทั้ง “วิทยาศาสตร์” และ “เทคโนโลยี” นี่แหละที่เป็นต้นทางของการเกิด “นวัตกรรม”

ดังนั้น ความเชื่อต่อมาว่า หากจะเป็น “นวัตกรรม” ระดับสุดยอด ก็ต้องมาจาก ดีฟซายน์” (Deep Science) ซึ่งหมายถึง วิทยาศาสตร์ขั้นสูง หรือวิทยาศาสตร์เชิงลึก หรือไม่ก็ต้องมาจากไฮเทค” (High Tech) หรือ เทคโนโลยีขั้นสูง หรือ เทคโนโลยีทันสมัยล่าสุด

เมื่อพิจารณาเชิงตรรกะให้มากขึ้น ทั้ง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ นวัตกรรม ต่างก็มีสายสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด

โดย วิทยาศาสตร์ จะเป็นการศึกษาค้นคว้าของมนุษย์เพื่อค้นหาคำตอบให้ได้ว่า ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในธรรมชาติ เกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งคำตอบนั้น ๆ จะต้องเป็นที่ยอมรับในกลุ่มคนส่วนใหญ่ว่า เป็นคำตอบที่เห็นพ้องต้องกันว่า เป็นความจริงที่ยืนยันได้ ผ่าน “ทฤษฎี” หรือ “สมการ” การคำนวณ ตามหลักเกณฑ์เฉพาะ

ทำให้การศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องยากที่ไม่มีผู้อยากเรียน แม้จะตัดสินใจเรียนแล้ว ก็ไม่รู้จะนำความรู้ที่ได้มาใช้ประโยชน์ในอาชีพการงานหรือการดำรงชีวิตได้อย่างไร

ส่วน เทคโนโลยี นั้น จะหมายความถึงวิธีการที่จะนำความรู้ทาง วิทยาศาสตร์ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ผ่านเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักร ที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ทำให้มนุษย์ทั่วไป เข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของ เทคโนโลยี ได้ง่ายกว่า เพราะ เทคโนโลยี เป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม มนุษย์สามารถมองเห็น หรือสัมผัสได้โดยตรง

ยกตัวอย่าง เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือ โทรศัพท์มือถือ ในปัจจุบัน ที่เป็นอุปกรณ์เครื่องใช้อำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์อย่างมากมาย เป็น เทคโนโลยี ที่มีรากฐานมาจาก วิทยาศาตร์ ด้านฟิสิกส์ไฟฟ้าและการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอน ที่ต้องใช้สมการและการคำนวณที่ซับซ้อน กว่าที่จะทำให้สมการเหล่านั้น กลายมาเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ผู้ใช้งาน โดยไม่ต้องความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด

ส่วน นวัตกรรม นั้น ส่วนใหญ่จะหมายถึงการนำ เทคโนโลยี ออกสู่ตลาดเพื่อให้คนทั่วไปสามารถหาซื้อมาใช้ได้ ดังนั้น นวัตกรรม จึงมีความใหม่อยู่เพียงชั่วขณะใดขณะหนึ่ง และเมื่อ นวัตกรรม ที่เป็นสิ่งใหม่จะผู้คนรู้จักใช้งานได้เป็นอย่างดีแล้ว นวัตกรรม นั้น ก็จะกลายเป็นของธรรมดา ที่ไม่ถูกกล่าวถึงว่าเป็น นวัตกรรม อีกต่อไป หรือถูกลืมไปเลยว่า มันเคยเป็น นวัตกรรม มาก่อน

ดังนั้น นักธุรกิจนวัตกรรม หรือที่มักเรียกกันว่า ธุรกิจสตาร์อัพ ในปัจจุบัน จึงต้องพยายามแสวงหา เทคโนโลยีใหม่ หรือติดตามการค้นพบใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ใหม่ ๆ เหล่านั้น มาเปลี่ยนเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจในเชิงพาณิชย์ หรือเชิงการตลาด ให้มนุษย์ทั่วไป ได้ใช้ประโยชน์จากการค้นพบหรือการประดิษฐ์อุปกรณ์ เครื่องมือ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ เหล่านั้น

ถ้าจะเป็นนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยี ก็จะต้องแสวงหาเทคโนโลยี ประเภท ไฮเทคหรือ ถ้าจะเป็นนวัตกรรมที่อิงองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ก็จะต้องเป็นองค์ความรู้ ประเภท ดีพซายน์

สำหรับบริบทของเมืองไทยบ้านเรา “ดีพซายน์” และ “ไฮเทค” ที่เป็นผลผลิตของเราเอง ที่สร้างผลตอบแทนทั้งในด้านธุรกิจและสังคมที่สูงกว่าการทำสินค้าที่อาศัยเทคโนโลยีหรือตัวอย่างจากการใช้วิทยาศาสตร์ที่ค้นพบจากต่างชาติ จะมีเส้นทางเดินอย่างไรก็ต้องคอยติดตามกันดู

ในขณะที่สถิติชี้บ่งอย่างชัดเจนว่า เยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติเลือกสนใจศึกษาวิชาในสายวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ ในระดับมหาวิทยาลัย มีจำนวนลดลงอย่างน่าเป็นกังวล

แต่ทุกคนก็ยังใฝ่ฝันที่จะเป็นผู้ใช้นวัตกรรมในระดับ ดีพซายน์และ ไฮเทคอย่างไม่ลดละ!!!