มังกรดิจิตอล ฝ่ามรสุมสงครามการเมือง

มังกรดิจิตอล ฝ่ามรสุมสงครามการเมือง

เชื่อว่าคงไม่มีนักลงทุนที่ไม่รู้จักหุ้นกลุ่มเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ที่เรียกรวมกันว่ากลุ่ม “FAANG”

ประกอบด้วยหุ้น 5 บริษัท ได้แก่ Facebook, Amazon, Apple, Netflix และ Google ซึ่งทั้ง 5 บริษัทล้วนมีส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวอเมริกันและอีกหลายประเทศทั่วโลก จนทำให้หุ้นเหล่านี้สร้าง          ผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น เติบโตหลายเท่าตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หากข้ามมาอีกซีกโลกนึง ในประเทศจีนก็มีบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เช่นเดียวกัน โดยเรียกรวมกันว่า “BAT” ประกอบด้วย 3 บริษัท ได้แก่ Baidu, Alibaba และ Tencent ซึ่งชาวจีนกว่าพันล้านรายล้วนต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ จากทั้ง 3 บริษัทนี้ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าออนไลน์ การสื่อสารผ่าน Social Network รวมถึงกิจกรรมบันเทิง และด้วยอัตราเติบโตของการใช้อินเตอร์เน็ตในจีน ที่ควบคู่มากับการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง ทำให้ราคาของหุ้นเทคโนโลยีในจีนปรับเพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน

โดยธุรกิจที่เป็นที่รู้จักของ BAT คือ

  • Baidu ทำธุรกิจ Search engine อันดับหนึ่งของจีน เปรียบเสมือน Google ที่ทั่วโลกใช้ โดย Baidu สามารถสร้างรายได้ค่าโฆษณาได้มหาศาลจากการให้ผู้ประกอบการซื้อพื้นที่โฆษณาได้บนหน้าแรกของการค้นหา
  • Alibaba บริษัทซื้อขายออนไลน์ (E-Commerce) ยักษ์ใหญ่ มีทั้งค้าปลีก ค้าส่ง พร้อมระบบโลจิสติกส์ครบวงจร เปรียบเสมือน Amazon ในสหรัฐฯ นอกจากนี้ Alibaba ทำธุรกิจให้บริการทางการเงินดิจิตอล (Fintech) ผ่านบริษัท Ant Financial ซึ่งประกอบด้วยบริการลงทุนออนไลน์ โอนเงินออนไลน์ ปล่อยกู้ และที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือกระเป๋าเงิน Alipay ที่ชาวจีนใช้อย่างแพร่หลาย
  • Tencent ผู้พัฒนาเกมส์ออนไลน์ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ทั้งเกมส์บนคอมพิวเตอร์และมือถือ นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของแอพพลิเคชั่น WeChat ที่ชาวจีนนับพันล้านรายใช้งานอยู่ ซึ่งเปรียบเสมือน Whatsapp และ Line ที่ทั่วโลกใช้งาน

แน่นอนว่าการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีในจีนย่อมมาพร้อมกับความผันผวน โดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งกับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์ ได้ประกาศห้ามชาวอเมริกันทำธุรกรรมกับแอพพลิเคชั่น Tik Tok ของบริษัท Bytedance และแอพพลิเคชั่น WeChat ของบริษัท Tencent โดยอ้างถึงประเด็นความมั่นคงของชาติ นำมาซึ่งความกังวลต่อการดำเนินธุรกิจของหุ้นเทคโนโลยีแดนมังกรในอนาคต แต่หากมาดูสัดส่วนรายได้แล้วพบว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 นั้นเน้นทำธุรกิจในประเทศจีนเป็นหลัก มีสัดส่วนรายได้จากนอกประเทศเพียงแค่ 1% สำหรับ Baidu 7% สำหรับ Alibaba และ 10% สำหรับ Tencent

อีกหนึ่งประเด็นขัดแย้งก็คือ สหรัฐฯ ได้ออกกฎเกณฑ์เพื่อโจมตีบริษัทสัญชาติจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยมีโทษสูงสุดคือการต้องออกตลาดหุ้น (Delist) ในประเด็นนี้หลายบริษัทได้ป้องกันโดยทำการ    จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงควบคู่ไปด้วย (Dual listing) โดยตั้งแต่ต้นปี 2020 บริษัท JD.com ที่ทำธุรกิจ E-Commerce และบริษัท Netease ซึ่งทำธุรกิจเกมส์ ได้ระดมทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงรวมมูลค่ากว่า 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนบริษัท Alibaba ได้ทำการระดมทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงแล้วตั้งแต่ปี 2019

นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังมุ่งเป้าไปที่ผู้นำด้านเทคโนโลยีบริษัทอื่นๆ ในจีนด้วย เช่น บริษัท Huawei ซึ่งเป็นผู้ผลิต Smartphone รายใหญ่ของโลกและผู้นำในเทคโนโลยี 5G และล่าสุดในวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศว่ากำลังพิจารณาแบนบริษัท Semiconductor Manufacturing International Corporation (SMIC) ผู้ผลิต Chips รายใหญ่ของจีน โดยจะส่งผลให้บริษัทจีนเข้าถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในสหรัฐฯ ได้ยากขึ้น ซึ่งนั่นทำให้จีนต้องเร่งพัฒนากระบวนการผลิตในประเทศให้ครบวงจรเพื่อลดการพึ่งพาต่างชาติในอนาคต

ในช่วงนี้จนถึงการเลือกสหรัฐฯ คาดว่าประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะต้องถูกหยิบยกขึ้นมาหาเสียงเพื่อเรียกคะแนนนิยมจากชาวอเมริกัน และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในจีนก็คงจะต้องถูกโจมตีอย่าง    หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาหุ้นยักษ์ใหญ่เหล่านี้ได้ผ่านมรสุมความผันผวนมามากมาย ทั้งมรสุมการลดค่าเงินหยวนในปี 2015 สงครามการค้าในปี 2018-2019 และการระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 ซึ่งล้วนกระทบต่อเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลก อีกทั้งยังส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงแรง แต่ที่สุดแล้วความผันผวนของราคาหุ้นก็เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

ในระยะข้างหน้ามังกรดิจิตอลจะต้องฝ่ามรสุมสงครามเทคโนโลยี รวมถึงความไม่แน่นอนอื่นๆ ดังนั้นการลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคฯ ในจีนจึงจะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์รอบด้าน ทั้งปัจจัยพื้นฐานของบริษัทและปัจจัยภายนอก เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ลงทุนได้ในระยะยาว