“เสมือน” และ “จริง” ในยุคโควิด

“เสมือน” และ “จริง” ในยุคโควิด

“สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” และ“ความจำเป็นสร้างสิ่งสร้างสรรค์” เป็นความจริงมานานแล้วในยุคโควิด-19ระบาดนี้ก็เช่นกัน

การจำเป็นต้องทำตามตามประเพณีท่ามกลางสภาพปัญหาทำให้เกิดการปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อสร้าง“ความเคารพเสมือน”ของคนญี่ปุ่นอย่างน่าสนใจ

คนญี่ปุ่นเชื่อกันมานานว่าทุกเดือน ส.ค.ของทุกปี วิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วจะฟื้นขึ้นมาในช่วงเวลานี้ที่มีชื่อเรียกว่า Obon ลูกหลานจะแสดงความรำลึกถึงบรรพบุรุษด้วยการวางอาหารที่แท่นในบ้าน มารวมตัวกันในเทศกาลและร่วมเริงระบำ ที่มีชื่อว่า Bon Odori (สมัยปัจจุบันไม่ทำกันเคร่งครัด)

ลูกหลานจะกลับบ้านไปอยู่กันพร้อมหน้าและไปสุสานเพื่อคารวะบรรพบุรุษคล้ายกับงานเช็งเม้งของคนจีนอย่างไรก็ดีในยามนี้คนญี่ปุ่นหลีกเลี่ยงการเดินทางเพราะกลัวติดโควิด ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะมีสถิติติดเชื้อและเสียชีวิตน้อยก็ตาม(ณ สิ้นเดือน ส.ค.2563 สถิติคือเป็น โควิด 69,599 คน ตาย 1,319 คน) แต่การกลับมาระบาดอีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น โตเกียวและโอซาก้า ทำให้ผู้คนยังคงหวาดหวั่น

คนญี่ปุ่นโดยปกติก็ถือเรื่องอนามัยเป็นสิ่งสำคัญอยู่แล้ว(เด็กทุกคนเมื่อกลับถึงบ้านอย่างแรกที่ทำคือล้างมือ)และระแวดระวังเรื่องสุขภาพในช่วงโควิดระบาดจึงยิ่งระวังตัวมากยิ่งขึ้น เทศกาลObonในเมืองต่างๆ ถูกยกเลิก การเดินทางมาพบกันของครอบครัวก็ทำได้เพียงติดต่อออนไลน์เท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะไปทำร้ายญาติผู้ใหญ่ด้วยเชื้อโควิด คำถามก็คือแล้วการไปเยี่ยมสุสานที่ฝังบรรพบุรุษที่เป็นเรื่องสำคัญซึ่งบางคนทำกันมาทุกปีจะทำอย่างไร

คนญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นชาติที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง ผลงานเช่นหม้อหุงข้าวไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ (ใช่ครับญี่ปุ่นมีมาก่อน iphone ของ Steve Jobs) เก้าอี้นวด สารพัดเครื่องไฟฟ้ารูปแบบและชนิดนาฬิกานับไม่ถ้วน รถยนต์กึ่งไฟฟ้า(hybrid) ประดิษฐกรรมเกี่ยวกับเครื่องยนต์ รถยนต์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในบ้าน ฯลฯ ดังนั้นในเรื่องการไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน โดยไม่ต้องเดินทางไปจึงไม่ใช่เรื่องยาก

การแข่งขันในระบบเศรษฐกิจเสรี ทำให้มีบริษัทนำเสนอประสบการณ์ที่เป็น virtual reality (ของจริงเสมือน) ของการไปคารวะสุสานจ่ายเงิน ¥25,000 เยน ( 7,500บาท) ก็สามารถไปเยี่ยมสุสานของบรรพบุรุษเพียงนั่งอยู่ที่บ้านผ่านการมองกล้องที่ทำให้เห็นภาพกว้างเสมือนจริงรอบตัวชนิด 360°

เมื่อเห็นภาพที่ต้องการแล้ว ผู้มีกล้องติดไว้ที่ศีรษะจะคุกเข่าหรือย่อตัวทำความเคารพหรือแสดงความเคารพอย่างใดก็ได้ จะมีผลไม้ใส่จานวางไว้ข้างหน้าพร้อมกับจุดธูปด้วยก็ไม่ผิดกติกาใด ความเครียดของผู้ที่ถือเป็นภารกิจสำคัญประจำปีในการไหว้บรรพบุรุษก็จะลดลงเพราะตนเองได้ “ไป” ที่สุสานจริงได้กราบไหว้เหมือนทุกครั้งที่เคยกระทำมาจริงๆ

ธุรกิจเช่นนี้มาแรงในสังคมที่มีจำนวนคนมากไปคารวะที่สุสานพร้อมทำความสะอาดต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานเนื่องจากเป็นสังคมที่อายุยืน สำหรับคนที่ทำความสะอาดไม่ไหวก็มีบริษัทรับจ้างตัดหญ้า เก็บขยะรอบบริเวณ รับจ้างไปไหว้แทนหรือบางครอบครัวก็มีตัวแทนไปไหว้โดยเอาดอกไม้ใส่แจกันจุดธูปพร้อมด้วยอาหารและผลไม้และส่งภาพไลฟ์สดไปยังสมาชิกคนอื่นๆของครอบครัว

ตัวอย่าง Virtual Reality ในเรื่องอื่นๆ ก็ได้แก่การมองกล้องและเสมือนว่าตนเองไปนั่งอยู่บนอัฒจรรย์ดูการแข่งขันชิงชนะเลิศวิ่ง 100 เมตร ซึ่งถือว่าป็นสุดยอดของการแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก อีกตัวอย่างก็คือคอนเสริตที่ Elvis Presley ผู้ล่วงลับไปแล้วตั้งแต่ค.ศ.ยืนร้องเพลงและเต้นให้ดูบนเวทีที่มีไฟจากจอภาพสาดส่องลงมา ที่เราเห็นเช่นนั้นก็เพราะมันเป็น “ของจริงเสมือน” กล่าวคือใช้ภาพเขาในอดีต 2 มิติปรับเป็น 3 มิติ(กว้าง-ยาว-หนา) มาร้องเพลงและเต้นให้คนดู

ผู้เขียนเคยดูภาพยนตร์ซีรีส์เรื่อง Black Mirror ซึ่งตอนหนึ่งเป็นเรื่องที่ชายคนหนึ่งตายไปแล้วและบริษัทเสนอ “สินค้า” ให้แก่ภรรยาหม้าย ในรูปของข้อความโต้ตอบจากเขาเป็นแชทส์และภาพเคลื่อนไหวที่ส่งให้ภรรยาเสมือนว่าเขายังมีชีวิตอยู่ บริษัททำได้โดยตัดต่อข้อความที่เขาเคยส่งในอดีตทั้งหมดเพื่อตอบโต้กับภรรยาเสมือนเขายังไม่ตาย ภาพเคลื่อนไหวที่ส่งมาก็ตัดต่อจากวิดีโอที่ได้อัพโหลด ในอดีตบริษัทเอามาตัดต่อให้ดูตามที่ภรรยาต้องการ ปรากฏว่า ข้อความโต้ตอบวิดีโอที่ส่งมาจากสามีและสุดท้าย ภาพเสมือนของสามีที่ปรากฏตัว(คล้ายภาพของElvis) ทำให้เธอหลงเพ้อไปว่าเขายังมีชีวิตอยู่จนต้องตรอมใจเป็นอันมากเพราะสิ่งที่เป็น เสมือนมันขัดแย้งกับ ความจริงว่าเขาได้ตายไปแล้ว

Black Mirror เป็นซีรีส์ที่ดูแล้วน่ากลัวมากเพราะเกี่ยวกับชีวิตและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีความเป็นไปได้ว่า จะมีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คนในสมัยหน้า

ในเรื่อง Virtual Reality ของการไหว้บรรพบุรุษประจำปี ผู้เขียนจะไม่ประหลาดใจเลย หากในอนาคตผู้ที่ไปร่วมงานสวดพระอภิธรรมหรืองานปลงศพ(คำโบราณที่น่าฟังกว่าเผาศพ)ในบ้านเราเป็นเรื่อง“เสมือน” กล่าวคือไม่ได้ไปในงานสวดจริงหรือปลงศพจริงที่วัดหากไปสถานที่ทางศาสนาที่ตั้งไว้ 4 มุมเมือง เนื่องจากสภาพการจราจรและระยะทาง แขกและเจ้าภาพจะเห็นภาพซึ่งกันและกันผ่านจอ แขกที่ไปก็เสมือนกับไปร่วมงานจริงเกิดความสะดวกในการต้อนรับของเจ้าภาพและสะดวกต่อแขกในการเดินทาง ต่อไปอาจยิ่งกว่านั้นคือแขกไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน แต่สามารถร่วมงานออนไลน์เช่นเดียวกับ Work-From-Home หรือประชุมออนไลน์ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตใหม่ในปัจจุบัน

อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้เพราะเมื่อสมัยก่อนที่เครื่องแฟกซ์มีราคาแพง ผู้เขียนพูดในคลาสเรียนว่าต่อไปผู้เรียนจะสื่อสารถึงกันและช่วยกันทำการบ้านผ่านแฟกซ์ ทุกคนหัวเราะเพราะไม่น่าเป็นไปได้ แต่ปัจจุบันเป็นยิ่งกว่านั้นอีกมากเพราะเห็นหน้าและตอบโต้กันทันทีพร้อมกับหลายๆคนจากทั่วโลกก็ยังได้

อีกไม่นานเมื่ออุปกรณ์และเครื่องมือ Virtual Reality มีราคาถูกลงเราจะเห็นการแพร่หลายของการใช้กล้องดูเหตุการณ์เสมือนดังเรื่องญี่ปุ่นข้างต้น พร้อมทั้งมีเหตุการณ์เสมือนขายในทุกเรื่องเช่นเสมือนนั่งอยู่ริมทะเลหรือดูฟุตบอลอาชีพหรือฟุตบอลโลก(ทั้งสดและเทป)ที่มีความลึกของภาพแบบ 3 มิติ หรือเสมือนอยู่ร่วมในเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่างๆ จริง ทั้งเรื่องดีและเรื่องเอ็กซ์

Virtual Reality ของการคารวะสุสานบรรพบุรุษของญี่ปุ่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้ไอเดียทางธุรกิจแก่ผู้สนใจที่ขยายไปได้ในหลายเรื่อง เช่น การท่องเที่ยว(เสมือนเดินทางไปอยู่ในสถานที่นั้นจริงๆ) โดยนั่งอยู่ในห้องไม่ต้องเดินทางให้เสียเงินหรือมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หรือย้อนกลับไปร่วมอยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์หรือการเฉลิมฉลองที่มีความสุขของสังคมตนเอง

สิ่งที่น่ากลัวก็คือคนที่มีปัญหาทางจิตที่ไม่สามารถแยกสิ่งที่เป็นเสมือนกับจริงได้จะเกิดความสับสนทางจิตจนอาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้ ในสังคมเช่นในเรื่องมือปืนที่ไล่ยิงคนเสมือนที่เล่นในเกมส์โดยแยกแยะไม่ได้ว่าเป็นโลกจริงหรือโลกเสมือน

“เสมือน”และ“จริง”อาจทดแทนกันได้ด้วยเทคโนโลยี แต่“ความดีความงาม ความจริงและความเจริญ” นั้นไม่อาจหาสิ่งเสมือนทดแทนได้อย่างแน่นอน