ส่งออกสินค้าเกษตร-อาหารไปยุโรป ทำไมต้องแคร์สิ่งแวดล้อมและสัง

ส่งออกสินค้าเกษตร-อาหารไปยุโรป ทำไมต้องแคร์สิ่งแวดล้อมและสัง

แม้จะเป็นช่วงต่อสู้กับโควิด-19 และเศรษฐกิจขาลง ที่เศรษฐกิจโลกไม่ได้เฟื่องฟูและสดใสนัก แต่ธุรกิจส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารมีแนวโน้มไปได้ดี

โดยเฉพาะตลาดยุโรปที่ยังมีกำลังซื้อสูง แต่นอกจากเรื่องมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่สูงแล้ว ไม่มีธุรกิจไหนที่สามารถปฏิเสธการดำเนินธุรกิจอย่าง ยั่งยืนและ มีจรรยาบรรณไปได้เพราะผู้บริโภคยุโรปให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและความอย่างยั่งยืนมากขึ้น ทำให้ประเด็นด้านสังคมเหล่านี้ถูกนำมาผูกโยงกับดำเนินธุรกิจและการค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัยของต้องมาก่อน

เมื่อพูดถึงธุรกิจส่งออกเกษตรและอาหาร สหภาพยุโรปเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่มีกำลังซื้อสูงที่สุดในโลกแต่ขณะเดียวกันก็มีนโยบายและมาตรการควบคุมด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของอาหารที่เข้มงวดในระดับโลกและมีกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารที่สลับซับซ้อน

นโยบายและมาตรการที่เกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารของสหภาพยุโรปมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองสุขอนามัยและความปลอดภัยของประชากรและผู้บริโภคยุโรปและอ้างอิงตามมารตรฐานสากลหลัก นอกจากมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้กับสินค้าเกษตรและอาหารที่ผลิตในยุโรปแล้วยังครอบคลุมถึงและบังคับใช้กับสินค้าเกษตรและอาหารที่สหภาพยุโรปนำเข้าจากประเทศที่สามเพื่อมาจำหน่ายและบริโภคในตลาดสหภาพยุโรปด้วย

ผู้ประกอบการในธุรกิจอาหาร ได้แก่ผู้ผลิต ผู้แปรรูป และผู้ส่งออก (ซึ่งมีความรับผิดชอบร่วมกับผู้นำเข้า) ของสินค้าเกษตรและอาหารจากประเทศที่สามรวมทั้งประเทศไทยที่ส่งสินค้าไปจำหน่ายในตลาดสหภาพยุโรปต้องปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารให้ได้ก่อนจะสามารถส่งออกมายังตลาดสหภาพยุโรป

มาตรฐานด้านสังคมและความยั่งยืนเป็นเครื่องมือเพื่อเปิดตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่ม

จริงๆ กระแสด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืนเกิดมาจากความสนใจของผู้บริโภคยุโรปเกี่ยวกับ “เรื่องราว เบื้องหลัง” ว่าสินค้าและบริการ ที่เลือกอุปโภคและบริโภคนั้นมีแหล่งที่มาจากไหนอย่างไร ใช้วัตถุดิบอะไร ขั้นตอนในการผลิตรักษาสิ่งแวดล้อมหรือไม่ มีการกดขี่แรงงานหรือใช้แรงงานเด็กหรือไม่ และมีส่วนร่วมในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืนมากน้อยเพียงไร

ตามที่เห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ในสื่อต่างประเทศ และการนำเสนอเรื่องราวโดยกลุ่มประชาสังคมที่คอยจับตาความรับผิดชอบและจรรยาบรรณของการภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อส่งออกจากเอเชีย อยู่เนืองๆ อาทิ กะทิที่รับประทาน ใช้ลิงขึ้นไปเก็บมะพร้าวจริงหรือ (ฝรั่งมองว่าทรมานสัตว์) กุ้งที่รับประทานทานใครเป็นคนแกะ มีการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับหรือไม่ ปลาที่เราซื้อนั้นจับมาจากไหน ทำลายสิ่งแวดล้อมและมาจากการทำประมงเถื่อนหรือไม่ ผลไม้ที่เรารับประทานปลูกแบบไหนรักษาสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ฯลฯ ต้องยอมรับว่าในยุโรปมีผู้บริโภคสนใจและตั้งคำถามเหล่านี้เพิ่มขึ้น ไม่ได้สนใจเพียงเรื่องความปลอดภัยของอาหารเพียงอย่างเดียว

เมื่อผู้บริโภคยุโรปสนใจกับประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมดังกล่าวจึงเป็นแรงกดดันให้ภาคธุรกิจยุโรปต้องดำเนินการด้านสังคมและความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นไปด้วย ไม่ใช่เพียงสินค้าและบริการที่ผลิตในยุโรปเอง แต่ยังรวมไปถึงเครือข่ายธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้า ตั้งแต่การเพาะปลูก การผลิต แปรรูป ในประเทศที่สามรวมทั้งไทย ที่ส่งออกไปขายไปตลาดยุโรป ก็ต้องปรับตัวเพื่อดำเนินการตามมาตรฐานด้านสังคมและความยั่งยืนมากขึ้นไปด้วย

ปัจจุบัน มีมาตรฐานด้านสังคงและความยั่งยืน(Social and Sustainability Standards) เกิดขึ้นมากมายเป็นหลายร้อยตรามาตรฐานทั้งในระดับสากลในยุโรปเองก็มีอยู่กว่า 200 ตรามาตรฐานมาตรฐานที่กำหนดโดยภาคเอกชนเหล่านี้โดยทั่วไปเป็นมาตรฐานที่สูงกว่า และปฏิบัติตามได้ยากกว่ามาตรฐานและข้อกำหนดระดับพื้นฐานที่กำหนดโดยภาครัฐข้างต้น(ทั้งภาครัฐในระดับสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิก)จนบางครั้ง มาตรฐานด้านสังคมและความยั่งยืนเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นเรื่องของการสร้างข้อกีดกันทางการค้า

แต่อยากให้มองว่า มาตรฐานภาคเอกชนเหล่านี้เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจกล่าวคือไม่ได้บังคับใช้เป็นข้อบังคับของสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกเหมือนมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัยแต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆและการปฏิบัติตามมาตรฐานและการติดฉลากภาคเอกชนเหล่านี้ถือเป็นโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรและอาหารจากไทยในตลาดสหภาพยุโรป

แต่หากไม่ปฏิบัติตามหรือทำไม่ได้ก็อาจกลายเป็นเครื่องกีดกันทางการค้าไปได้กล่าวคืออาจหมดโอกาสในการเข้าไปตลาดยุโรปไปได้ เพราะผู้ซื้อยุโรปอาจไม่เลือกซื้อ หากสินค้าทำไม่ได้มาตรฐานดังกล่าว แม้จะทำได้ตามกฎระเบียบขั้นต่ำของสหภาพยุโรปแล้วก็ตาม ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการรักษาตลาดการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังตลาดสหภาพยุโรปไว้จึงไม่ควรละเลยประเด็นด้านสังคมและความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจดังกล่าว

ในกระแสที่ผู้บริโภคยุโรปใส่ใจมากเกี่ยวกับผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของสินค้าและบริการที่จะเลือกใช้ เพียงแค่สินค้าที่ได้คุณภาพและมาตรฐานด้านปลอดภัยตามข้อกำหนดของยุโรป และมีราคาเหมาะสมนั้นยังอาจไม่เพียงพอที่จะ มัดใจให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าของตนได้แต่ต้องแคร์เรื่องสังคมและความยั่งยืนไปพร้อมๆ กันด้วย

[ ดร. อาจารี ถาวรมาศ เป็นผู้บริหารบริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปสำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.euหรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd ]