“วิชา มหาคุณ” เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ เมืองไทย

“วิชา มหาคุณ” เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ เมืองไทย

สิ่งที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวขึ้นหลังได้อ่านเอกสารของคณะกรรมการชุดของอาจารย์วิชา มหาคุณ

ที่ได้รับมอบหมายให้ทำความกระจ่างในคดีซึ่งน่าจะอยู่ในความสนใจของประชาชนมากที่สุดคดีหนึ่งในประวัติศาสตร์ คือคดีของ “บอส อยู่วิทยา” ที่บางทีอาจเคยได้ยินคนทั่วไปเรียกว่า "ลูกกระทิงแดง"

ความเห็นของนายกรัฐมนตรีต่อรายงานฉบับดังกล่าว ปรากฏชัดในถ้อยคำที่กล่าวในเฟซบุ๊คส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีที่ระบุไว้ประมาณว่า เมื่อได้อ่านรายงานฉบับนี้แล้วรู้สึกเศร้าใจต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นอันมาก และเห็นถึงผู้เสียหายว่ามีอยู่อย่างน้อยๆ สองส่วน คือตัวตำรวจผู้ตายซึ่งเสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ และประเทศไทยเป็นผู้เสียหาย แต่หากจะเพิ่มให้ชัดลงไปอีก เราพบว่าประชาชนคนไทยที่มีจิตสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี ต่างรู้สึกอับอาย และแทบสิ้นศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมเมื่อได้ติดตามความคืบหน้าการทำคดีของพนักงานสอบสวนหลายชุดที่ผ่านมา

ท่านผู้อ่านที่ติดตามบทความของผมในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จะจำได้ดีว่า ผมเกาะติดคดีนี้มานับแต่ต้น เพราะมีความเห็นและประสบการณ์ตรงกับในรายงานของท่านอาจารย์วิชาฯ ที่ตระหนักดีว่า "กระบวนการยุติธรรมของบ้านเรามีราคาค่างวดสูงมาก"คนร่ำรวยไม่ใช้บริการทนายอาสา ที่ถึงกับเคยได้ยินชาวบ้านที่อาจไม่เข้าใจที่มาที่ไป พากันเรียกว่า "ทนายอนาถา" เพราะเป็นบริการที่มีให้กับผู้ยากไร้ หรือไม่มีทุนทรัพย์จะจ้างทนายฝีมือดี ดังนั้น "ความเสี่ยง" ย่อมมีแนวโน้มที่จะสูงกว่าการได้มืออาชีพ ซึ่งค่าจ้างจะแพงและสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ผมเคยแนะนำผู้ที่มาบ่นให้ฟังเมื่อเห็นสิ่งไม่ดีไม่งามอันเกิดจากความมักง่าย การขาดวินัย การไม่เคารพกฎหมายของคนบางกลุ่มบางพวก เช่น ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกคนมีพรรคมีพวกกลั่นแกล้ง หรือแม้แต่คดีจราจรในเรื่องคล้ายๆ กรณีของ บอส อยู่วิทยา ผมเห็นและรับรู้เรื่องเหล่านี้กระทั่งชินชาและเข้าใจดีว่าคดีจราจรที่มีคนตาย ในทางภาษาคนทำงานกฎหมายเขาเรียกว่า “เป่าง่าย” คำคำนี้ คงไม่ต้องแปลให้เสียเวลา ย่อมรู้กันดีว่าหมายถึงการหาทางช่วยเหลือในทางคดีให้กับผู้มีความพร้อม เพราะ คนตายย่อมไม่มีโอกาสมาพูดมาแก้ต่างในสิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นจริงไม่มีใครทราบได้

ซึ่งตรงกับสิ่งที่รายงานฉบับที่กำลังกล่าวถึงนี้ ยกประเด็นมาให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลตั้งแต่ต้นๆ ของรายงาน ที่สะท้อนไม่เพียงข้อบกพร่อง ความไม่เป็นมืออาชีพของบางฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงความเชื่อที่ว่าเป็นไปได้ที่มีการสมคบคิดกระทำการช่วยเหลือกันเพื่อให้พ้นผิด

เมื่อได้อ่านงานของคณะทำงานที่ท่านอาจารย์วิชาฯ เป็นประธาน ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงสมัยเรียนหนังสือในต่างประเทศ ที่เมื่อเรียนเรื่องกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในสหรัฐ จะมีองค์กรที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือกระทรวงยุติธรรมซึ่งชื่อคงชัดเจนดีว่า ดูแลความเป็นธรรมให้กับสังคม องค์กรที่สังกัดกระทรวงยุติธรรมที่ว่านี้ มีชื่อย่อๆ ว่า LEAA หรือ (Law Enforcement Assistance Administration) เสมือนหน่วยงานที่ทำหน้าที่คอยช่วยคิดแนะนำเสนอแนวทางต่างๆ ในการปรับปรุงปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี ลินดอน บี จอห์นสัน ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น

มีชื่อเสียงเรียงนามของประธานคณะกรรมการ LEAA หลายคนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลาย แม้แต่อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไออย่าง เจ เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ (J Edgar Hoover) โดยส่วนตัว ผมถือว่าเป็นอีกท่านหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงในฐานะบุคคลตัวอย่างที่มีคุณูปการกับ LEAA โดยตรง ซึ่งคิดว่าหากจะเทียบเคียงแล้ว อาจารย์วิชาฯ อาจเป็นเหมือน เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ของเมืองไทย

ถึงแม้ในผลสรุปของรายงานจะยังไม่อาจระบุได้ว่า ผลท้ายสุดแล้วผู้ที่จะถูกลงโทษดำเนินคดีตามกฎหมายบ้านเมืองทั้งในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รวมไปถึงความบกพร่องในการสั่งราชการ มอบอำนาจหน้าที่ และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง แต่ความชัดเจนและความกล้าหาญที่จะตีแผ่เรื่องต่างๆ ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของสาธารณชนได้เป็นสิ่งสำคัญ และทำให้ผมซึ่งประกอบกรรมดี ทำความดีอย่างสม่ำเสมอ มีกำลังใจที่จะทำความดีต่อไป