สงกรานต์เดือนเก้า

สงกรานต์เดือนเก้า

“อย่าสาดน้ำได้ไหม ช่วยเห็นใจกันบ้าง ขอให้ช่วยหลีกทาง คนกำลังลอยกระทง” พอจะจำเพลงนี้กันได้ไหมค่ะ

“ลอยกระทงวันสงกรานต์” เพลงของ อ่ำ-อัมรินทร์ นิติพน เมื่อ 20 ปีที่แล้ว!  

นับว่าเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์วงการเพลงไทยที่ตอนนั้นถือว่าค่อนข้าง “ประหลาด” ที่จับเอาสองเทศกาลอย่าง “สงกรานต์” กับ “ลอยกระทง” มารวมไว้ด้วยกัน

วันนี้เรากำลังฉลองเทศกาล “สงกรานต์”  ในเดือน “กันยายน” อีกไม่กี่เดือนก็แทบจะลอยกระทงแล้ว เรียกได้ว่าสิ่งที่เคยเป็นสิ่งประหลาดในเพลงเมื่อ 20 ปีที่แล้ว กลับเกิดขึ้นจริงวันนี้

แม้คนไทยอย่างเรา ๆ จะไม่คุ้นเคยกับสงกรานต์เดือนเก้า เอาจริง ๆ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็ไม่ได้แย่เสมอไป

อย่างไรก็ดี เรามักได้ยินเรื่องคนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ?

John Kotter กูรูด้านการเปลี่ยนแปลงพบว่า มนุษย์ไม่ได้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง แต่ต่อต้านการ “ถูกเปลี่ยนแปลง” เพราะเมื่อเราเป็นผู้เปลี่ยนแปลง เรามักมีเหตุผลที่ต้องเปลี่ยนแปลงและรู้สึกกับการเปลี่ยนแปลงในแง่บวก ในทางตรงข้าม หากเราเป็นผู้ถูกเปลี่ยนแปลง เราจะรู้สึกตรงกันข้าม แม้การเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นเรื่องเดียวกันก็ตาม

สิ่งที่ทำให้มนุษย์ยังคงทำเรื่องเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่เปลี่ยนแปลงเพราะไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนเดี๋ยวนี้!

4 เหตุผลที่คนไม่เห็นความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลง

  1. เคยตัว ยึดติดกับอดีต ขาดวิกฤต อยู่แบบเดิมดีจะตาย เปลี่ยนไปเดี๋ยวยุ่ง เช่น สงกรานต์จัดเดือนเมษายนมาทุกปี ถ้าไม่ใช่เมษายนก็ไม่ใช่สงกรานต์ เตรียมแผนไว้หมดแล้ว เปลี่ยนเดี๋ยววุ่นวาย
  2. มองโลกในแง่ดี อยู่แบบนี้ก็ดีแล้ว เดี๋ยวมันก็ผ่านไป เดี๋ยวมันคงดีขึ้น เช่น จัดสงกรานต์เหมือนเดิมคงไม่เป็นไรมั้ง โควิดคงไม่ติดหรอก บ้านเราเมืองร้อน เชื้อโรคตายหมด
  3. ไม่อยากฟังข่าวร้าย ไม่รับฟังความเห็นมุมมองจากคนที่เห็นต่าง เช่น อย่าเลื่อนเลย เดี่ยวถูกบ่น
  4. วัดความสำเร็จใน “อนาคต” ไม่ตรงจุด ยังเพลิดเพลินกับความสำเร็จใน “อดีต” เช่น วัดผลจากการได้จัดงาน “เสร็จ” ไม่ได้วัดที่ “ความสำเร็จ” ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จด้านความปลอดภัยในสุขภาพ สังคม วัฒนธรรม ประชาชน เศรษฐกิจ เป็นต้น

แน่นอนสถานการณ์วิกฤติโควิดที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ทำให้เราต่างเห็นความจำเป็นที่ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนเดี๋ยวนี้ แม้สงกรานต์ปีนี้จะย้ายมาเดินทางท่องเที่ยวเฉลิมฉลองกันเดือนเก้า แต่นั่นก็ไม่เป็นเหตุที่คนจะลุกขึ้นมาต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เพราะทุกคนต่างเห็นความจำเป็นร่วมกัน

เช่นเดียวกันกับทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงในโลกนี้ ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ตั้งแต่ลุกขึ้นมาดูแลสุขภาพตัวเอง ลดน้ำหนัก จนไปถึงการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ขึ้นมาในระดับองค์กร เช่น การเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร การปฏิรูปธุรกิจ หากสามารถทำให้ผู้เกี่ยวข้องเห็นความจำเป็นที่ต้องขึ้นมาเปลี่ยนเดี๋ยวนี้ ก็จะช่วยให้การต่อต้านลดลง และช่วยรวมพลังผลักดันทำในเรื่องที่จำเป็น เพื่อเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่ถอยหลัง ไปสู่เป้าหมายในอนาคตที่ดีกว่าอันเป็นเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน