ไปศาลกันไหม?

 ไปศาลกันไหม?

 คนบางคน “ขึ้นโรง ขึ้นศาล” จนเป็นเรื่องปกติ นักการเมืองบางคนก็ขึ้นศาลเป็นว่าเล่น บางครั้งยังมีวาทกรรมท้าทายกันไปมาว่า“เจอกันที่ศาล!”อีกด้วย

ไม่รู้เหมือนกันว่าไปศาล มันสนุกตรงไหน

คดีที่ไปถึงศาลนั้น บางทีก็เป็นคดีแปลกๆที่เรานึกไม่ถึง บริษัทระดับโลกหลายแห่งเป็นจำเลย ถูกฟ้องแบบประหลาดๆ ก็มีอยู่บ่อยๆนะครับ 

เดือนเมษายน ปี 2016 ลูกค้าสาวเข้าไปสั่งกาแฟเย็น ที่ร้าน Starbucks ในชิคาโก้ แล้วเธอก็ฟ้องศาลว่า Starbucks ไม่ได้ทำตามโฆษณา เพราะเมนูบอกว่ากาแฟเย็น ‘ขนาด 24 ounces’ แต่กลับได้กาแฟที่มี “น้ำแข็ง” เยอะมาก ส่วนที่เป็น น้ำกาแฟจริงๆ มีไม่ถึง 24 ounces 

เธอฟ้องเรียกค่าเสียหาย $5.0 ล้าน ข้อกล่าวหาอย่างนี้ ดูจะไร้สาระ แต่คดีก็ไปถึงศาล โชคดีที่ศาลพิพากษา ยกฟ้อง”   

เราไปที่ร้าน Subway กันบ้าง ไปสั่งแซนด์วิชที่รู้จักกันดี คือ แซนด์วิช ยาว 1 ฟุต ความยาวของแซนด์วิช ทำให้ Subway ต้องไปศาลจนได้ เพราะลูกค้าจำนวนหนึ่งรวมตัวกันฟ้องศาลแบบกลุ่ม (Class Action) ว่าแซนด์วิชของ Subway บางชิ้น ยาวไม่ถึง 1 ฟุตนะ 

ผมว่าถ้าขนมปังมันจะขาดหายไปบ้าง ก็ไม่น่าจะถึงหนึ่งนิ้วหรอกนะ แต่ลูกค้าบางคนกลับเรียกความเสียหายมากถึง $5.0 ล้าน ก็ยังดีเมื่อปี 2013 ศาลชั้นต้น ได้พิพากษาว่า Subway ไม่มีความผิดฐานโฆษณาหลอกลวง 

Subway เอง อุตส่าห์ยอมจ่ายค่าทนายความให้โจทก์ร่วม เป็นเงินถึง $520,000 แถมยังให้ค่าป่วยการแก่โจทก์ 10 รายๆละ $500 อีกด้วย นับว่ามีน้ำใจ แต่เรื่องกลับไม่จบ เพราะอีก 3 ปีต่อมา “สถาบันเพื่อความยุติธรรมของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม” ก็มายื่นอุทธรณ์ อ้างว่าผู้เสียหายทั้งหมด ที่ซื้อแซนด์วิชจากซับเวย์ ยังมีจำนวนมาก ที่ไม่ได้รับเงิน 

เขาฟ้องว่า “เป็นความไม่ยุติธรรม ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม” และศาลอุทธรณ์ ก็ได้พิพากษา ให้ยกข้อตกลงทั้งหมดที่ได้ทำกันในศาลชั้นต้น และให้ดำเนินคดีต่อ 

ตอนนี้คดีไปถึงไหน ผมยังไม่มีเวลาติดตามครับ 

ผมเคยนั่งทานข้าวกับนักธุรกิจชาวอเมริกัน ในกรุงเทพฯนี่แหละ เขาอ่านข้อความบนมือถือ แล้วบอกผมว่าเพิ่งได้รับแจ้งมาว่า เขาถูกฟ้อง เพราะหญิงสูงวัยคนหนึ่ง เดินผ่านหน้าบ้านเขาที่ชานเมืองนิวยอร์ค แล้วลื่นหกล้ม บาดเจ็บเล็กน้อย

เธอฟ้องศาลว่า เขาเก็บกวาดหิมะ ที่บริเวณทางเท้าหน้าบ้านไม่ดีพอ ทำให้เธอลื่นล้ม และเรียกค่าเสียหาย 

เหล่านี้เป็นตัวอย่างของคดี ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องราวไปถึงศาล แต่ฝรั่งก็มีแนวโน้มจะเป็นเช่นนี้ เป็นวัฒนธรรมของเขา ในการปกป้องสิทธิของตนเอง บางคนยังถือเป็นช่องทางหาประโยชน์ให้ตนเองอีกด้วย 

ต่างกับวัฒนธรรมบ้านเราพอสมควร วัฒนธรรมบ้านเรา ไม่ค่อยเอาเรื่องเอาราวกันเท่าใดนัก เรามีน้ำจิตน้ำใจ อะไรเล็กน้อยก็ยอมๆกันไป จนเป็นที่มาของคำว่า ไม่เป็นไร เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของไทย 

แต่การไปศาล ที่ไม่ทำให้เครียด ก็เป็นไปได้เหมือนกันครับ หัวข้อวันนี้ผมจึงชวนคุณ ไปศาลกันไหม?”  เพราะเมื่อวันอังคารนี้ ผมและเพื่อน บ.ย.ส. 15 มีโอกาสไปศาล จน สุดปลายทาง เลยคือไปถึง ศาลฎีกา

ท่านประธานฯ ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ได้พาพวกเรา ชมห้องสำคัญต่างๆ เช่นห้องประชุมใหญ่ของผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด 173 คน” ที่ใช้ในการลงมติในคดีสำคัญๆ ห้องประชุมใหญ่คณะกรรมการตุลาการ ( ก.ต.)  ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตุลาการ เป็นต้น 

นอกจากนั้นเรายังได้กราบพระบรมรูป พระบิดาแห่งกฎหมายไทย พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ซึ่งเป็นหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าพระองค์จริง อีกด้วย 

ท่านประธานฯ ได้พาชมห้องทำงานของท่าน ที่หันหน้าไปทางพระบรมมหาราชวัง ซึ่งทำให้ประธานฝ่ายตุลาการ มีโอกาสรำลึกอยู่เสมอว่า จะต้องปฎิบัติหน้าที่ทุกวันให้ดีที่สุด 

ศาลคือที่พึ่งสุดท้ายในการอำนวย ความยุติธรรม แต่ประชาชนโดยทั่วไป กลับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับศาลน้อยมาก และโดยทั่วไปก็ไม่มีใครอยาก ไปศาล เพราะการ ขึ้นโรง ขึ้นศาล หมายถึงความวุ่นวายในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นโจทก์ หรือ จำเลย ก็ตาม 

ศาลฎีกา กำลังทำโครงการที่จะ เปิดศาล” (Open Court) ให้ประชาชนมีโอกาสเข้าไปสัมผัส เข้าชม และฟังบรรยายในเรื่องใดก็ได้ที่เกี่ยวกับศาล เพื่อให้เข้าใจการทำงานของศาล พูดง่ายๆคือจะทำให้ให้ศาล เป็นสถานที่ๆเยาวชน นักศึกษา และประชาชน เข้าถึงได้ เข้าชมได้ เรียนรู้ได้ 

ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างเตรียมการ การต้อนรับคณะของเราจึงเป็นการเฉพาะกิจ อีกไม่นาน ศาลฎีกาก็จะมีความพร้อมที่จะเชิญชวนประชาชน ให้ได้สัมผัสกับการทำงานที่มุ่งอำนวยความยุติธรรม เพื่อให้คดีต่างๆ ยุติด้วยความเป็นธรรม 

ทุกวันนี้ มีคดีดังๆที่ทำให้เรากังวล เพราะคดีไปไม่ถึงศาล ท่อมันตันเสียก่อน จะด้วยอำนาจอะไร ใครๆก็รู้กันอยู่ 

ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการชุดของ อาจารย์วิชา มหาคุณ เป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงส่วนหนึ่ง ของกระบวนการยุติธรรม ในช่วงต้นทางและกลางทาง ที่เป็นเหตุให้คดีไปไม่ถึงศาล ประเด็นที่เราจะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไปก็คือ รัฐบาลจะทะลวงท่อมิให้สะดุดแบบแอบแฝง ได้อย่างไร 

วันนั้น พวกเราที่ไปเยือนศาลฎีกา ส่วนใหญ่ไปครั้งแรก ผมเป็นเด็กธรรมศาสตร์ เดินวนเวียนอยู่สนามหลวงตั้ง 4 ปี ก็ไม่เคยมีโอกาสไปชม เราต่างปลื้มใจที่ได้ไป ได้ชม และได้ความรู้มากมาย ประธานศาลฯ บอกกับเราว่า วันเด็ก อยากเปิดห้องทำงานของประธานศาลฎีกา ให้เด็กๆนั่ง เผื่อจะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กบางคน ฝันที่จะเข้าสู่วงการตุลาการบ้าง 

ผมก็เห็นด้วยนะครับ วันนั้นพวกเราทุกคนจึงขออนุญาตในฐานะ “เด็กโข่ง” นั่งเต๊ะท่าถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก แต่แรงบันดาลใจคงไม่มีแล้ว เพราะเกษียณเกือบจะทุกคน 

ก่อนกลับ เราร่ำลากันแบบไทยๆ และหวังว่าจะมีโอกาส ไปศาล อีก แต่ที่คิดตรงกันก็คือ เราจะไปชมเท่านั้น ไม่ไปในฐานะโจทก์ จำเลย หรือพยาน.....นะคร้าบ