4 หลักการต้านทานผลประโยชน์ทับซ้อน

4 หลักการต้านทานผลประโยชน์ทับซ้อน

หลังจากเปิดตัวทีมรัฐมนตรีชุดปรับทัพรับวิกฤติของรัฐบาลชุดนี้ ไม่ถึงเดือนดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ลาออกเสียแล้ว

เหตุการณ์เช่นนี้ชวนให้สังคมตั้งคำถามว่าใครจะมาเป็นรัฐมนตรีคนต่อไป จากนี้ไปจะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง ผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองจะบีบให้รัฐมนตรีคนไหนต้องยกธงขาวยอมแพ้ไปอีก

ผลประโยชน์ทับซ้อน หมายถึง “สถานการณ์ที่ผู้มีตำแหน่งและอำนาจตัดสินใจ ไม่ใช้อำนาจอย่างอิสระเป็นกลางเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เนื่องจากมีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง”

ผลประโยชน์ทับซ้อนโดยตัวของมันเองไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้าย หากผู้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้มีคุณธรรมสูง สามารถแบ่งแยกได้ว่าตนเองอยู่ในตำแหน่งใด อะไรสมควรไม่สมควร และมีอำนาจวาสนาบารมีพอจะควบคุมไม่ให้ผู้ที่มีสายสัมพันธ์กับตนเองนำเอาความสัมพันธ์เหล่านี้ไปแสวงหาประโยชน์

ปัญหาคือ การจะหาคนที่ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ยากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร ทุกวันเราได้ยินได้ฟังแต่เรื่องผู้มีตำแหน่งทางการเมืองบางท่าน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ต่างก็ใช้อำนาจนั้นเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น ทุกประเทศไม่ว่าจะใช้ระบบการปกครองแบบไหนก็เจอกับปัญหานี้ด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ระดับความรุนแรงไม่เท่ากัน หากประเทศมีกลไกการตรวจสอบที่ดีและเป็นอิสระปัญหาลักษณะนี้ย่อมมีน้อย

เดิมทีเชื่อกันว่า หากประเทศเป็นประชาธิปไตย มีการแบ่งแยกอำนาจบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติอย่างชัดเจน อำนาจทั้ง 3 ประการนี้จะคอยตรวจสอบซึ่งกันและกัน ทำให้แต่ละฝ่ายไม่สามารถใช้อำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนได้ แต่ผลในทางปฏิบัติของประเทศไทยกลับยังไปไม่ถึงฝัน หรือว่าประชาธิปไตยล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน?

ก่อนจะตอบคำถามนี้ได้เราต้องทราบถึงหลักการสำคัญ 4 ประการที่ป้องกันไม่ใช่เกิดปัญหาการแสวงหาผลประโยชน์จากอำนาจหน้าที่ประกอบไปด้วย 1) ความโปร่งใส 2) ความรับผิดชอบ 3) ความเป็นกลาง และ 4) ความซื่อตรง

หลักการ 4 ประการนี้ถูกเสนอขึ้นมาเนื่องจากคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองถือเป็นบุคคลสาธารณะ อะไรที่เขาทำจึงไม่ได้มีผลต่อตัวเองและคนรอบข้างเท่านั้น บุคคลสาธารณะมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางของสังคม ผู้จะรับตำแหน่งนี้จึงต้องยอมรับมาตรฐานทางคุณธรรมจริยธรรมที่เหนือกว่าสิ่งที่บันทึกไว้เป็นตัวบทกฎหมาย พวกเขาไม่มีสิทธิพูดว่า “ทำได้เพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม”

น่าเสียดายว่า เมืองไทยตอนนี้ การจะหานักการเมืองที่ทำงานอย่างโปร่งใส มีความรับผิดชอบ รู้จักวางตัวเป็นกลาง มีความซื่อสัตย์สุจริตมาดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองให้ครบทุกตำแหน่งคงเป็นเรื่องยาก

หากเราใช้หลักการนี้เป็นแนวทางในการปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปการเมืองควรเริ่มจากการทำให้หลักการ 2 ข้อแรกเป็นจริงขึ้นมาก่อน เพราะหลักการ 2 ข้อแรกเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้หลักการ 2 ข้อที่เหลือเป็นจริงตามไปด้วย เมื่อการเมืองโปร่งใส ทุกคนสามารถตรวจสอบการทำงานของผู้ดำรงตำแหน่งได้ทุกเรื่อง มีกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับความรับผิดชอบเมื่อเกิดความไม่โปร่งใสขึ้นในการทำงาน ถึงแม้จะมีผลประโยชน์ทับซ้อนมากมายเพียงใด นักการเมืองก็จะถูกบังคับให้อยู่ในกรอบ วางตัวเป็นกลาง และประพฤติตัวอย่างซื่อสัตย์สุจริตไม่ว่าจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม

 อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรฝากความหวังไว้กับพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว อย่าลืมว่า การปฏิรูปการเมืองแต่ละครั้งมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และผู้ที่เดือดร้อน การเมืองที่ดีสำหรับประชาชน อาจเป็นการเมืองที่ไม่ดีสำหรับนักการเมือง(บางคน)และพรรคการเมือง(บางพรรค)ก็ได้ ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นของประชาชน ก็หมายถึงประโยชน์ที่ลดลงของนักการเมืองที่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากตำแหน่งทางการเมือง พวกเขาคงไม่ยอมปล่อยชิ้นปลามันไปง่ายๆ

การปฏิรูปการเมืองมีจึงมีความหมายกว้างกว่าการแก้ตัวบทกฎหมาย เพราะคนเป็นผู้ร่างกฎหมาย ไม่ว่ากฎหมายจะรัดกุมเพียงใด สักวันหนึ่งก็จะมีคนหาช่องโหว่จนได้ สิ่งสำคัญคือ การเพิ่มบทบาทของภาคประชาชน องค์กรอิสระ และส่งเสริมให้สื่อวางตัวเป็นกลาง ตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองและพรรคการเมืองทุกพรรคอย่างเข้มข้น

กิจกรรมทางการเมืองของภาคประชาชนนั้นไม่ได้จบลงในวันเลือกตั้ง คะแนนเสียงหนึ่งเสียงที่เราให้ไป ไม่ใช่การให้ขาด เป็นการให้ยืม คนที่เราเลือกจึงเป็นลูกหนี้ของเรา เราต้องคอยตรวจสอบอยู่เสมอว่า ลูกหนี้ของเราเอาเสียงของเราไปใช้อย่างไร ถ้านำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ต้อง เราย่อมมีสิทธิทักท้วง หากเขายังไม่ฟังเราอีก เลือกตั้งครั้งหน้าก็อย่าให้เขายืมคะแนนเสียงของเราอีกเลย

ตอนนี้ใครทำอะไรไว้จำให้แม่น เมื่อเรามีโอกาสใช้สิทธิเลือกตั้งอีกครั้ง เวลาเดินเข้าคูหา ก่อนจะกาเลือกเบอร์ไหน ก็ให้ใช้เวลาสักนิดย้อนนึกถึงคุณงามความดีและวีรกรรมเชิงลบที่เขาทำไว้ก่อนตัดสินใจลงคะแนน