Asset Tokenization กับการระดมทุนในอนาคต

Asset Tokenization กับการระดมทุนในอนาคต

ในยุคที่ธุรกิจต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้สร้างการเจริญเติบโตและส่งเสริมสภาพคล่อง การระดมทุนแบบ “Asset Tokenization”

หรือ การระดมทุนที่มีสินทรัพย์หนุนหลังอยู่เต็มจำนวนจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นการออกหลักทรัพย์โดยใช้เทคโนโลยี DLT/Blockchain และมีรูปแบบคล้ายกับ Traditional asset ในแบบเดิม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการปิดจุดอ่อนที่เคยมีในการระดมทุนแบบ Project Based ICO

ICO: Project Base และ Asset Back

ในปัจจุบันอาจการออก ICO ทำได้เป็นสองลักษณะ 

(1) Project Base คือ การที่ Issuer หรือบริษัทผู้ระดมทุนอยากได้เงินทุนเพื่อทำโครงการใดโครงการหนึ่ง จึงหาเงินลงทุนด้วยวิธีการเสนอขาย Token ที่ระบุสิทธิและเงื่อนไขของการร่วมลงทุนไว้ ซึ่ง Token ที่เสนอขายนี้ สามารถระบุผลประโยชน์ตอบแทนได้ใน 2 ลักษณะ ลักษณะแรกที่เป็นการกำหนดสิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุน (Investment Token) ลักษณะที่สองเป็นการกำหนดสิทธิในการได้รับหรือเข้าถึงสินค้า/บริการ(Utility Token) ซึ่งในทางปฏิบัติ Issuer จะระบุรายละเอียดและเงื่อนไขของ Project หรือ โครงการที่เสนอขอระดมลงทุนไว้ใน White paper

ในทางกฎหมาย เมื่อพิจารณาสิทธิของผู้ถือ Token ใน Project Based ICO แล้ว อาจกล่าวได้ว่า Issuer ไม่ได้ประสงค์จะก่อนิติสัมพันธ์ในรูปแบบ Ownership กับ Investor และไม่ใช่ลักษณะของการออกหุ้นกู้ เนื่องจากไม่ได้สัญญาว่าจะคืนเงินต้นให้ ดังนั้น Investor สำหรับกรณีนี้ จึงมีสิทธิเรียกร้องตามหลักสัญญาใน “ส่วนแบ่งในการร่วมลงทุน” ตามที่ได้ตกลงกัน

(2) Asset Back: ต่างจาก Project Based ตรงที่ ไม่ได้ขอเงินผู้ลงทุนไปทำ Project แต่เป็นการออก Token โดยมี Asset ที่มีมูลค่าหนุนหลังอยู่ หรือ อาจกล่าวได้ว่า เป็นการแปลงสินทรัพย์ให้อยู่ในรูปแบบ Token ซึ่งสินทรัพย์ที่นำมาหนุนหลังนั้นในทางปฏิบัติสามารถเลือกได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นหลักทรัพย์ในแบบเดิม (Stocks/bonds) สินค้าโภคภัณฑ์ (ทอง) หรือแม้แต่สินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์ทางการเงิน เช่น อสังหาริมทรัพย์ ก็สามารถนำมาทำ Asset Tokenization ได้ เช่น การระดมทุนและออก Token เพื่อเข้าซื้อหรือสร้างอสังหาริมทรัพย์และนำทรัพย์นั้นออกให้เช่าหรือใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ และเมื่อได้เงินกำไรกลับมาก็นำมาแบ่งกันระหว่างผู้ลงทุน หรือในบางกรณีอาจมีการออก Token ที่อ้างอิงมูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญา และเมื่อมีการจ่ายค่าสิทธิ์(Royalty fee) กลับมา ก็นำเงินจำนวนนั้นไปแบ่งกันตามสัดส่วนของผู้ถือ Token

ข้อดีของ Asset Tokenization

  1. มีUnderlying Asset หนุนหลังชัดเจน กล่าวคือ ในขณะที่การระดมทุนแบบ Project-Based ICO คือ การร่วมลงทุนแบบที่ Investor อาจยังไม่เห็นผลสำเร็จของโครงการที่ Issuer นำเสนอ กลับกันการออก Asset-Backed Token มีสินทรัพย์ที่มีมูลค่าหนุนหลังการออก Token ชัดเจน โดยผู้ระดมทุนสามารถนำ Value ของสินทรัพย์ที่มีมาแตกเป็นหน่วยลงทุนในจำนวนมากได้ อันเป็นการกระจายการลงทุนไปตามสัดส่วนของผู้ลงทุน
  2. จำลองความเป็นหลักทรัพย์ในแบบเดิมกล่าวคือ กฎหมายในหลายประเทศมองว่าการระดมทุนแบบ Asset Tokenization มีลักษณะคล้ายการออก “หลักทรัพย์” (securities) ในแบบเดิม เพิ่มเติมคือการออก/ขายทำในรูปแบบดิจิทัล ดังนั้น ในส่วนของการกำกับดูแล จึงมักมองว่าเป็น “Security Token” ประเภทหนึ่งที่ถูกกำกับดูแลตามเกณฑ์ของหลักทรัพย์เดิม โดยมีการเพิ่มเติมในส่วนของหลักเกณฑ์ในการดำเนินธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้อง (ชำระราคา/ส่งมอบ) เช่น สำหรับ U.S. SEC และ สหภาพยุโรป (กฎ MiFID) มองว่า Asset-Backed Token เป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่ง (Financial Securities) ที่มีมูลค่าและก่อให้เกิดสิทธิในทางกฎหมายตามหลัก Ownership and promise
  3. สร้างLiquidity ให้กับธุรกิจ ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า สินทรัพย์ที่นำมาหนุนหลังนั้นจะเป็นสินทรัพย์ทางการเงินหรือไม่ใช่ก็ได้ ดังนั้น สินทรัพย์ที่ไม่ได้มีสภาพคล่องสูงอย่าง Real estate ก็ใช้เป็น Asset Back ได้เช่นกัน
  4. DLT/Blockchain ช่วยอำนวยความสะดวกในฐานะที่เป็นระบบ operating resource ที่ช่วยให้การออกหรือเสนอขายเป็นการจดบันทึกแบบ Cryptographic analogues ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดของกระบวนการจัดทำเอกสาร มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ เช่น การชำระราคาและการส่งมอบ สะดวกรวดเร็วขึ้น

ความท้าทายของ Asset Tokenization

ในอีกด้าน Asset Tokenization ก็มีความท้าทายในหลายประเด็นด้วยกัน สำหรับประเด็นในเรื่องเทคโนโลยี ก็มีโจทย์ที่สำคัญหลายประการ เช่น การชำระดุลที่ถูกต้อง (Settlement Finality) การเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นระบบ (Interoperability) ความเสถียรของเครือข่าย รวมถึงการจัดการความปลอดภัยให้กับข้อมูลและระบบ

ในส่วนของภาครัฐ คงต้องมีการกำหนดแนวทาง AML/CFT ให้ชัดเจน ขจัดอุปสรรคของกฎหมายที่มีในอดีต รวมไปถึงการจัดทำหลักเกณฑ์ที่รอบคอบในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนการยืนยันตัวตนด้วยช่องทางดิจิทัล

นอกจากนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า ด้วยลักษณะพิเศษของ Asset Tokenization ที่เปรียบเสมือนการเขียนข้อตกลง ในการจัดการหลักทรัพย์ลงบนโปรแกรมผ่านระบบ Smart Contract ซึ่ง Smart contract นี้เองจะช่วยให้การกระจายและจัดสัดส่วนของสินทรัพย์เป็นไปได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ และเป็นการลดการดำเนินการในแบบเดิมของบริษัทไปได้ (เช่น การจ่ายเงินปันผลและการใช้ escrow arrangements) แต่ในอีกด้าน หากพิจารณาในมุมกฎหมาย หลายประเทศยังยอมรับสถานะทางกฎหมายและกำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้ smart contract ที่แตกต่าง อันส่งผลให้การบังคับสิทธิในทางกฎหมาย รวมถึงสัญญาธุรกิจที่เกี่ยวข้องอาจมีอุปสรรคอยู่บ้างในช่วงแรก

Asset Tokenization ในไทย

ปัจจุบัน ก.ล.ต. ได้มีการปรับเกณฑ์การระดมทุนแบบ ICO ในส่วนของการเสนอขาย Token ให้สามารถอ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (Real-estate back ICO) ได้ โดยให้อสังหาริมทรัพย์ที่อ้างอิงต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมสร้างรายได้ โดยจะต้องลงทุนมากกว่า 80% ของทั้งโครงการนั้น และต้องไม่ใช่การลงทุนเฉพาะหน่วยย่อย เช่น บ้านรายหลัง หรือคอนโดมิเนียมรายห้อง นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้มีการแต่งตั้ง trustee เพื่อดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือ token โดยให้ trustee ถือครองอสังหาริมทรัพย์ หรือถือหุ้นของ SPV ที่เป็นเจ้าของอสังหาฯ นั้นไม่น้อยกว่า 75% ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของ SPV

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่า Asset Tokenization จะเป็นอนาคต และเราน่าจะได้เห็นการออก token ที่มีสินทรัพย์หนุนหลังที่หลากหลายขึ้น ซึ่งถือเป็นการปลดล็อกให้กับสินทรัพย์อีกหลายประเภทที่มีสภาพคล่องต่ำในสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ]