อยากให้ชะลอการเปิดต่างชาติเที่ยวไทยไว้ก่อน

อยากให้ชะลอการเปิดต่างชาติเที่ยวไทยไว้ก่อน

อาทิตย์ที่แล้ว รัฐบาลให้ข่าวว่ากำลังพิจารณาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้เหตุผลว่าต้องทำเพื่อฟื้นฟูประเทศ โดยจะทำในรูปของ Sand box

เริ่มที่ภูเก็ตที่จะจำกัดให้นักท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น มีการคัดกรองด้านสาธารณสุขและติดตามนักท่องเที่ยวอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้กระทบคนอื่น ทั้งหมดก็เพื่อต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ไม่งั้นสถานประกอบการจะตายกันหมด

ผมเคยเขียนเรื่องนี้หลายครั้งว่ายังไม่ควรเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงนี้ เพราะความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดการระบาดรอบสองในประเทศ แม้ทางการจะวางมาตรการป้องกันเต็มที่ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นและควบคุมไม่ได้ ผลเสียหายต่อประเทศและประชาชนจะมีมาก โดยเฉพาะต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

คำถามคือ รัฐได้พิจารณาความเสี่ยงที่จะเกิดจากการเปิดประเทศครบถ้วนแล้วหรือยัง และมีทางเลือกอื่นหรือไม่ ที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้มีลมหายใจอยู่ต่อไป โดยไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในประเทศอย่างน้อยในปีนี้ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้เพื่อช่วยกันหาทางออก

มี 3 ประเด็นที่ต้องเข้าใจในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้โดยเฉพาะผลดีผลเสีย

1.สถานการณ์ระบาดของโควิด -19 ทั่วโลกขณะนี้รุนแรง ทั้งในประเทศที่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ในรอบแรก เช่น สหรัฐ อินเดีย บราซิล และในประเทศที่กำลังต่อสู้กับการระบาดรอบสอง เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และล่าสุด พม่า ที่หลายประเทศต้องกลับมาล็อกดาวน์อีก สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจและประชาชน ขณะที่มีเพียงไม่กี่ประเทศรวมถึงประเทศไทยที่ไม่มีการระบาดภายในประเทศมานานกว่า 90 วัน ถือเป็นความหายากที่ประเทศส่วนใหญ่ไม่มี ที่ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ค่อนข้างปรกติ เป็นความหายากที่ต้องรักษาไว้ เพราะสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

การระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศที่ยังไม่นิ่ง ทำให้เศรษฐกิจโลกไม่สามารถฟื้นตัวได้ในปีนี้ ผลคือ ประเทศไทยจะไม่สามารถพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การฟื้นตัวถ้าจะเกิดขึ้นต้องมาจากปัจจัยภายในประเทศ คือการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ประชาชน และภาครัฐเท่านั้น และปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศให้เกิดขึ้นคือการไม่มีการระบาดรอบสองในประเทศ ที่จะสร้างความมั่นใจให้ภาคธุรกิจและประชาชนกลับมาใช้จ่าย เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

2.ข้อมูลจากประเทศที่มีการระบาดรอบสองชี้ว่า การระบาดส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีผู้นำเข้าจากต่างประเทศ และเมื่อเกิดแล้วจะควบคุมยากกว่ารอบแรกเพราะเชื้อรอบสองเป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่ระบาดเร็วกว่ารอบแรก กอรปกับมาตรการแก้ไขของภาครัฐอาจช้าจนปัญหาบานปลาย รวมถึงความร่วมมือของประชาชนที่จะช่วยลดการระบาดอาจไม่เหนียวแน่นเหมือนรอบแรก ผลคือ ทางการจะไม่สามารถควบคุมการระบาดรอบสองได้อย่างที่อยากเห็น ทำให้ดุลยภาพหรือจุดสมดุลย์ที่ผู้ทำนโยบายมองหาระหว่างการเปิดประเทศเพื่อผลทางเศรษฐกิจ และการดูแลการระบาดรอบสองให้อยู่ระดับที่ควบคุมได้จะไม่เกิดขึ้น หรือไม่มีอยู่จริง มีแต่ความเสียหายอย่างรุนแรงถ้าการระบาดรอบสองเกิดขึ้น

3.ถ้าจะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ เงื่อนไขที่จะป้องกันการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพคือการกักตัวนักท่องเที่ยวในสถานที่ที่ราชการกำหนดที่มีมาตรฐานทางสาธารณสุขควบคุมเข้มงวด เหมือนที่ใช้ในปัจจุบันกับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ การจำกัดนักท่องเที่ยวไว้ในพื้นที่กว้างๆ รัศมีหนึ่งกิโลเมตร แทนการกักตัวในสถานที่กักตัวที่ท่างการกำหนดเป็นเวลา 14 วัน จะมีความเสี่ยงที่นำไปสู่การระบาด เพราะการระบาดอาจเกิดขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยวด้วยกันและแพร่ไปสู่คนท้องถิ่นที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ระบาดไปสู่คนในครอบครัวและบุคคลนอกพื้นที่เมื่อบุคลากรเหล่านี้กลับบ้านหรือกลับไปใช้ชีวิตนอกพื้นที่นอกเวลางาน เป็นความเสี่ยงที่จะควบคุมยากมาก และถ้าเกิดขึ้นก็อาจควบคุมไม่ได้

4.ในแง่ผลดีผลเสียต่อเศรษฐกิจ ประโยชน์ที่เศรษฐกิจจะได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติหนึ่งแสนคน ที่คาดว่าจะเข้ามาตามโมเดลนี้ ประเมินเป็นรายได้ประมาณ 700 ล้านบาทต่อวัน คิดจากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 6,000- 7,000 บาทต่อวันนั้น เทียบไม่ได้กับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ถ้าการระบาดรอบสองเกิดขึ้น โดยเฉพาะถ้าเมืองภูเก็ตทั้งเมืองต้องปิด ต้องล็อกดาวน์เพื่อหยุดการระบาด และความเสียหายจะมีมากขึ้น ถ้าการระบาดลามไปเมืองใกล้เคียงหรือกรุงเทพฯ นี่คือความเสี่ยงประเภท Known Knowns คือ รู้ล่วงหน้าเป็นอย่างดีว่าจะเกิดขึ้น และรู้เป็นอย่างดีว่าผลกระทบจะรุนแรงและอาจบริหารจัดการยาก จึงเป็นความเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น 

คำถามคือเรามีแนวทางอื่นหรือไม่ ที่จะต่อลมหายใจให้กับธุรกิจท่องเที่ยว โดยยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าในช่วงนี้ คำตอบคือมีและควรต้องเป็นทางเลือกแรกที่ต้องทำอย่างจริงจัง ซึ่งในกรณีของภูเก็ตได้แก่

1.สนับสนุนการท่องเที่ยวโดยคนในประเทศ ปีที่แล้วมีคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศกว่า 10 ล้านคน ใช้จ่ายเงินกว่าสามแสนล้านบาท ปีนี้ต้องทำให้คนเหล่านี้ไปเที่ยวภูเก็ตเพราะมีกำลังซื้อ โดยทางการทำโปรโมชั่นเต็มที่และผู้ประกอบการในภูเก็ตปรับตัว ปรับโปรแกรมท่องเที่ยว อาหาร และราคาที่พัก ให้เข้ากับรสนิยมนักท่องเที่ยวไทย มีคนไทยจำนวนมากที่ไม่ไปภูเก็ตเพราะค่าโรงแรมและค่าครองชีพแพง ถ้าทุกอย่างลดลงมาได้ 40-60% เป็นแกรนด์เซลล์ ภูเก็ต ช่วงหนึ่งปีข้างหน้า ผมว่าคนไทยจำนวนมากจะไปเที่ยวภูเก็ต แค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์ของคนไทยที่ไปเมืองนอกปีที่แล้วก็หนึ่งแสนคนแล้ว

2.รัฐบาลและภาคเอกชนในภูเก็ตต้องจัดให้ภูเก็ตเป็นจุดหมายการเดินทางท่องเที่ยวโดยคนไทยจัดโปรแกรมให้มีหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเที่ยวธรรมชาติ วัฒนธรรม อาหาร สุขภาพ กีฬา วิถีชีวิตพื้นบ้าน เช่น ปีนี้เป็นปีที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย คือ มีผู้สูงอายุเกิน 60 ปีมากกว่า 20% ของประชากร จึงควรจัดโปรแกรมให้คนสูงวัย ชวนเพื่อนรุ่นโรงเรียน รุ่นมหาวิทยาลัย เที่ยวภูเก็ตอย่างปลอดภัยและประหยัด สนับสนุนให้สายการบิน รถโดยสาร ขยายบริการการเดินทางไปภูเก็ตให้เพียงพอและมีมาตรฐานสาธารณสุขในการป้องกันการระบาด และรัฐบาลลงทุนในสาธารณูปโภคที่สำคัญ เตรียมสำหรับการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 เช่น อุโมงค์ น้ำ ระบบกำจัดขยะ และระบบขนส่งมวลชน

3.ผู้ประกอบการต้องปรับการทำธุรกิจให้เข้ากับภาวะแวดล้อมใหม่ที่จะมีคนไทยเป็นลูกค้าหลักช่วง 1 – 2 ปีข้างหน้า โดยทางการสนับสนุนเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การปรับโครงสร้างหนี้ การผ่อนปรนการชำระหนี้ และผู้ประกอบการใช้โอกาสนี้ ปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมกับโลกท่องเที่ยวใหม่หลังโควิด ซึ่งทางการควรช่วยเหลือในแง่ของการค้ำประกันสินเชื่อใหม่ และ/หรือ ช่วยรับภาระค่าจ้างแรงงานส่วนหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องจ่าย เพื่อรักษาการจ้างงานเป็นการชั่วคราว เหล่านี้เป็นสิ่งที่เรายังไม่ได้ทำและควรทำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ

ตรงกันข้าม การกดดันให้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศเร็วเกินไปเพื่อกลับไปสู่โลกเก่าของการท่องเที่ยวอย่างในอดีต เป็นความเสี่ยงมากทั้งต่อคนภูเก็ต คนทั้งประเทศ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ