14 ก.ย.ชี้ชะตา 'การบินไทย' ศาลเคาะฟื้นฟู ถึงเวลา 'มูฟออน'

14 ก.ย.ชี้ชะตา 'การบินไทย' ศาลเคาะฟื้นฟู ถึงเวลา 'มูฟออน'

ภายหลังศาลล้มละลายกลาง รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2563

ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ เหตุเพราะสายการบินแห่งชาติ ที่วันนี้ต้องยอมรับว่าเผชิญกับการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบิน และเจอผลกระทบจากโรคระบาดที่คนทั้งโลกไม่อาจคาดคิด อย่างโควิด -19 จนทำให้ธุรกิจต้องเซหนักถึงขั้นยื่นขอฟื้นฟูกิจการ

ย้อนดูประวัติของการบินไทย หนึ่งในองค์กรชั้นนำของประเทศก่อตั้งขึ้น โดยทำสัญญาร่วมทุนระหว่าง บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด กับสายการบินสแกนดิเนเวียน แอร์ไลน์ ซิสเต็ม เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2502 ต่อมาในวันที่ 29 มี.ค.2503 การบินไทย ได้จดทะเบียนจัดตั้ง เพื่อดำเนินธุรกิจสายการบินระหว่างประเทศ มีเที่ยวบินปฐมฤกษ์ไปยังฮ่องกงเมื่อวันที่ 1 พ.ค.2503

เลื่อนชั้นเป็นสายการบินแห่งชาติที่ถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2531 เป็นสายการบินแห่งชาติที่รับผิดชอบกิจการการบินพาณิชย์ ทั้งเส้นทางบินระหว่างประเทศ และเส้นทางบินภายในประเทศทั้งหมด ก่อนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 19 ก.ค.2534

จากจุดเริ่มต้นเที่ยวบินปฐมฤกษ์ที่ถือเป็นเสมือนวันเกิดสายการบินไทยนับเวลามาร่วม 60 ปีคงไม่มีใครคาดคิดว่าปี 2563 นี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนของการบินไทย สู่การปรับบทบาทองค์กรรัฐวิสาหกิจ เป็นองค์กรเอกชน และกำลังเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ พักชำระหนี้

เหตุใดวันนี้การบินไทยจึงต้องฟื้นฟูกิจการอ้างอิงข้อมูลจากการยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2563 การบินไทยได้ชี้แจงถึงปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจ แต่เกิดจากสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินที่รุนแรง ประกอบกับข้อจำกัดและความไม่คล่องตัวในการบริการจัดการเนื่องจากเคยเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงเป็นเหตุให้กำไรต่อหุ้นของการบินไทยลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องจนส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ

มูลหนี้ที่การบินไทยระบุในคำขอฟื้นฟูกิจการอยู่ที่ 352,494 ล้านบาทแบ่งเป็นหนี้สินหมุนเวียน 104,669 ล้านบาท และหนี้สินไม่หมุนเวียน 247,824 ล้านบาท

แนวทางบริหารจัดการกิจการที่การบินไทยเสนอให้ศาลพิจารณาในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ มี 4 ด้านหลักๆ คือ 1.การปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบินและปรับปรุงฝูงบิน 2.การปรับปรุงองค์กรและหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน 3.การปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้ และ 4.การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้กระชับ

จากวันที่ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องฟื้นฟูกิจการ ระยะเวลาร่วม 3 เดือนการบินไทยได้เดินหน้าตามกระบวนการศาลผ่านการนัดไต่สวนพยานผู้ร้องขอ และสืบพยานเจ้าหนี้ผู้คัดค้าน มาแล้ว 3 ครั้งปัจจุบันมีเจ้าหนี้ยังยืนยันยื่นคัดค้านการฟื้นฟูกิจการรวม 11 ราย จากจำนวนที่ยื่นคัดค้าน 16 ราย

“ชาญศิลป์ ตรีนุชกร”ดีดีการบินไทยมั่นใจในภาพรวมกระบวนการไต่สวนคำร้อง ว่าเป็นไปอย่างราบรื่นและมีแนวโน้มที่ดี

ศาลล้มละลายกลาง นัดฟังคำสั่งในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และตั้งผู้ทำแผนในวันที่14 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น.

จุดเปลี่ยนของ “การบินไทย”หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด จะได้รับโอกาสมูฟออนรีเซ็ตโครงสร้างหนี้เพื่อให้ธุรกิจคล่องตัว ตามแผนฟื้นฟูที่นำเสนอไว้ หรือจะต้องมูฟออนเป็นวงกลมกลับสู่วังวนของการหาเงินชำระหนี้ต่อไปไม่สิ้นสุด