ชาวเรือโปรดเพิ่มความระมัดระวัง

ชาวเรือโปรดเพิ่มความระมัดระวัง

เสียงคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาเช่นนี้ ได้ยินอยู่บ่อยครั้งในฤดูแห่งคลื่นลม สำหรับนักลงทุนก็เช่นกัน

ดังเช่นที่เราคาด ตัวเลขเศรษฐกิจโลกและไทยในไตรมาสที่สองแทบจะต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ก็เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ในด้านการลงทุนนั้น เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของธีมการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ 

แม้ดัชนีหุ้นในหลายตลาดจะยังคงปรับเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง แต่ระดับการเพิ่มขึ้นชะลอลง และยังกระจุกตัวเฉพาะบางกลุ่ม ด้านผลตอบแทนพันธบัตรยังทรงตัวในระดับต่ำ แต่สินทรัพย์ทางเลือกที่เป็นหลุมหลบภัยอย่างทองคำและโลหะเงินกลับพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (แม้จะย่อตัวลงมาบ้างก็ตาม) ขณะที่เงินดอลลาร์กลับอ่อนค่าอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบหลายปี 

ภาพเหล่านี้่บ่งชี้ว่า ตลาดเผชิญกับภาวะสภาพคล่องท่วมและไม่มีที่ไป ขณะที่นักลงทุนเริ่มวิตกกังวลในภาวะเศรษฐกิจรวมถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ในอนาคตที่จะกระทบผลประกอบการ รวมถึงกังวลว่าราคาหุ้นในปัจจุบันค่อนข้างแพงมากแล้ว จึงหันไปลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกแทน 

ในระยะต่อไป SCBS มองว่า มี 3 แนวโน้มที่จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนโลก ดังนี้ 

  1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเชื่องช้า เปราะบาง และขรุขระ โดยแม้ว่าเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 2 จะเห็นจุดต่ำสุดและเริ่มฟื้นตัวในเดือนล่าสุด แต่การฟื้นตัวในระยะต่อไปจะเริ่มชะลอลง 

เนื่องจากการติดเชื้อรอบสองในที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในสหรัฐที่ยังติดในระดับสูง (แม้ผู้ป่วยใหม่จะเริ่มลดลง) และในยุโรปที่กลับมาติดเชื้อมากขึ้น ทำให้ในหลายประเทศจะต้องกลับมาปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง และเริ่มปรับลดคนงานลง เห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของยุโรปล่าสุดที่ลดลง 

ในส่วนของไทยนั้น หากพิจารณารายละเอียดของตัวเลข GDP ที่่สภาพัฒน์ฯ ประกาศในไตรมาส 2 ที่หดตัว -12.2% ต่อปี แทบต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์นั้น จะพบว่าเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบมหาศาลได้แก่ภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวกว่า -50% และภาคการขนส่งที่หดตัวกว่า -39% ผลจากการห้ามชาวต่างชาติเข้าในประเทศ ทำให้ไทยที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่งหากไทยไม่สามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าในประเทศได้ในปีนี้ เศรษฐกิจไทยอาจหดตัวได้ถึง -7.8% แต่หากเปิดให้เข้ามาได้บ้าง อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ไม่หดตัวมากนักและทำให้เศรษฐกิจทั้งปีหดตัวประมาณ -5.9%

    2.มาตรการการเงินการคลังภาครัฐ ที่ลดทอนลง 

ในปัจจุบัน สัญญาณจากผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกเริ่มชัดเจนขึ้นว่าต้องการจะชะลอมาตรการผ่อนคลายลง โดยในสหรัฐ วุฒิสภายังไม่อนุมัติมาตรการด้านการคลังรอบใหม่เพื่อสนับสนุนรายได้แก่แรงงานสหรัฐที่ถูกพักงาน (Unemployment benefit) ตามข้อเสนอของพรรค Democrat แม้ว่าจะเลยเส้นตายแล้วก็ตาม เนื่องจากวุฒิสมาชิกพรรค Republican เห็นว่าเป็นเม็ดเงินที่มากเกินไป ซึ่งความเห็นที่ไม่ตรงกัน ทำให้ไม่สามารถออกมาตรการดังกล่าวได้และทำให้ทรัมพ์ต้องออกคำสั่งประธานาธิบดี (Executive order) ต่ออายุเงินช่วยเหลือดังกล่าวชั่วคราว 

ด้านมาตรการการเงิน ในรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ล่าสุดก็ไม่ได้ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ซึ่งน่าจะเป็นเพราะ Fed อยากจะ "เก็บกระสุน" การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเผื่อคราวจำเป็น 

เราเชื่อว่า ในระยะต่อไป สัญญาณการลดทอนการอัดฉีดมาตรการกระตุ้นด้านการเงินการคลังจะเริ่มเห็นทั่วโลก โดยจะลดการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ "หว่านแห" เป็นการอัดฉีดเฉพาะจุดที่มีปัญหาแทน โดยเฉพาะในยุโรปและเอเชีย รวมถึงในไทยเอง ซึ่งจะทำให้ผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อการลงทุนจะลดลงในระยะต่อไป

     3.ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่มากขึ้น

 ในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐยกระดับความแข็งกร้าวกับจีน เช่น (1) ประกาศจะ Delist หุ้นจีนในสหรัฐหากไม่ทำตามกฎระเบียบทางบัญชีสหรัฐ (2) ประกาศแบน Huawei, Tiktok และ WeChat (3) ปิดสถานกงสุลจีนในฮุสตัน และ (4) ประกาศแบนประธานเจ้าหน้าที่และผู้บริหารเกาะฮ่องกง 11 ท่าน แม้ว่าจะมีการเลื่อนการประชุมผู้แทนการค้าจีน-สหรัฐ เพื่อติดตามพัฒนาการในสนธิสัญญาการค้า Phase 1 ระหว่างจีนกับสหรัฐแล้วก็ตาม

 เรามองว่า ท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้นของรัฐบาลทรัมพ์ แม้จะทำเพื่อสร้างภาพว่าเป็นผู้นำที่แกร่งกล้าท้าชนจีนเพื่อเพิ่มคะแนนนิยมก่อนเลือกตั้ง แต่ก็เป็นแผนระยะยาวของสหรัฐที่ต้องการกันไม่ให้จีนขึ้นเป็นมหาอำนาจแทนที่ด้วยเช่นกัน ซึ่งแนวคิดนี้คงไม่ยุติโดยง่ายและมีแต่จะเพิ่มความรุนแรงขึ้นไม่ว่าทรัมพ์จะชนะการเลือกตั้งสมัยที่สองในเดือน พ.ย. นี้หรือไม่ก็ตาม

เมื่อพิจารณา 3 ฉากทัศน์หลักของเศรษฐกิจ การเมือง และแนวนโยบายโลกในระยะต่อไปแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าไม่เอื้อต่อการลงทุนเท่าใดนัก ยิ่งไปกว่านั้น ในระยะต่อไป เรายังเห็นว่าการลงทุนจะยังเผชิญกับ 2 ปัจจัยเสี่ยงหลัก อันได้แก่

(1) การติดเชื้อรอบใหม่ โดยแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวันในระดับโลกจะเริ่มลดลง จากวันละ 3-4 แสนคน เหลือวันละ 2-3 แสนคน แต่ที่น่ากังวลคือ เริ่มเห็นการติดเชื้อรอบใหม่มากขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะยุโรป และหากซีกโลกตะวันตกเข้าสู่ฤดูหนาว อากาศที่เย็นลงอาจทำให้ผู้ติดเชื้อมีมากขึ้น นำมาสู่การปิดเมืองที่รุนแรงขึ้น 

(2) การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยใน 2-3 เดือนข้างหน้า จะเป็นช่วงสำคัญของการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งหากคะแนนนิยมของทรัมพ์ยังเป็นรองนายโจ ไบเดน ผู้ท้าชิงจาก Democrat เช่นในปัจจุบัน อาจเห็นแนวนโยบายด้านสงครามเย็นกับจีนที่แข็งกร้าวขึ้น อันจะนำไปสู่ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น

 กล่าวโดยสรุป ทั้งภาพรวมของเศรษฐกิจการลงทุนต่อไป และความเสี่ยงในอนาคต เป็นลบต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั้งสิ้น แม้ว่าการอัดฉีดของธนาคารกลางจะยังทำให้สภาพคล่องในระบบการเงินโลกอยู่ในระดับสูงก็ตาม

 ดังนั้น นักลงทุนจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น โดยอาจเลือกลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ลดการลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่มีความไม่แน่นอนสูง และยังคงลงทุนในทองคำเพื่อประกันความเสี่ยงที่จะมีมากขึ้นในระยะต่อไป

คลื่นลมในระยะต่อไปจะมีมากขึ้น นักลงทุนทั้งหลาย โปรดเพิ่มความระมัดระวัง