ต้องสร้างความเสมอภาคและคุณภาพของการจัดการศึกษา

ต้องสร้างความเสมอภาคและคุณภาพของการจัดการศึกษา

ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง ทุกเรื่องเชื่อมโยงกับปัญหาที่รัฐบาลไทย(ทุกรัฐบาล)จัดการศึกษาได้อย่างไม่ทั่วถึงเป็นธรรม

และอย่างไม่มีคุณภาพใกล้เคียงกันทั่วทั้งประเทศ ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางด้านเศรษฐกิจ-คนรวยส่วนน้อย 20% แรกมีทรัพย์สินและรายได้มากกว่าคนจนส่วนใหญ่หลายเท่า และความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้านต่างๆ รวมทั้งทางการศึกษา คือรากเหง้าของปัญหาความด้อยพัฒนาหลายอย่างที่จะต้องวิเคราะห์ให้ลึกถึงระบบโครงสร้างทางการเมืองสังคมและแก้ไขปัญหาอย่างกล้าผ่าตัดเปลี่ยนแปลงทั้งระบบอย่างเป็นองค์รวม

แม้รัฐบาลจะอ้างว่ามุ่งพัฒนาการศึกษาอย่างเต็มที่ แต่ความจริงประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้รับการศึกษาในระดับและคุณภาพที่แตกต่างกันมาก เด็กที่มาจากครอบครัวรายได้ต่ำ มีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพต่ำกว่า และได้เรียนในระดับสูงน้อยกว่าคนรายได้สูง แรงงานไทยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 45.7) มีการศึกษาแค่ระดับประถมและต่ำกว่า (สนง.สถิติแห่งชาติ ระดับการศึกษาของแรงงานผู้มีงานทำ มิ.ย. 2561)

ปัญหานี้เชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมด้วย การที่คนส่วนใหญ่จน มีอำนาจต่อรองทางการเมืองและมีสถานะทางสังคมที่ต่ำกว่า ทำให้คนจนเสียเปรียบคนรวย, คนชั้นกลางในหลายด้าน การเสียเปรียบแต่ละด้านยิ่งซ้ำเติมให้พวกเขาเสียเปรียบในด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย

คนรายได้ต่ำ(ไม่ว่าในเมืองหรือชนบท) พ่อแม่มักจะมีการศึกษาต่ำ ต้องทำงานหนัก ไม่สามารถ/ไม่ค่อยรู้จักเลี้ยงดูลูกให้สมองวัยเด็กเล็กเจริญเติบโตได้สูง เช่น ไม่ได้กินอาหารที่มีโภชนาการที่ดี (เด็กเล็กต้องการโปรตีน วิตามิน แร่ธาตุอื่นๆ) ไม่รู้จักการกระตุ้นให้สมองเด็กได้เรียนรู้ ไม่ได้เข้าโรงเรียนอนุบาลดี ที่รู้จักกระตุ้นให้สมองเด็กเรียนรู้/พัฒนาได้หลายด้าน (การเล่น, กีฬา, ดนตรี, วาดภาพ, ฟังนิทาน, เล่นละคร ฯลฯ) นั่นคือการเสียเปรียบข้อแรก

เด็กมีโอกาสได้เข้าเรียนระดับประถมในโรงเรียนรัฐแบบเสียค่าใช้จ่ายต่ำ คือไม่เก็บค่าเล่าเรียน แต่โรงเรียนก็มักมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายพิเศษ เช่น เรื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องแบบชุดกีฬา และอื่นๆ ซึ่งบางกรณีสูงพอสมควรสำหรับคนจนและยังมีค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทาง อาหารกลางวัน ชุดนักเรียน ฯลฯ ปัญหาคือโรงเรียนตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมมีคุณภาพแตกต่างกันมาก และมีการแข่งขันสอบเข้าโรงเรียนมีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ที่เข้มข้นมาก ลูกคนรายได้ต่ำมักได้เรียนในโรงเรียนเกรดต่ำกว่า สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ทั้งที่บ้านและโรงเรียนไม่เอื้ออำนวยในการเรียนรู้เท่าลูกคนรายได้สูง/ปานกลาง

เรื่องนี้เป็นผลเสียต่อการพัฒนาประเทศชาติโดยส่วนรวมด้วย แม้รัฐบาลจะให้การศึกษาฟรีหรือผู้เรียนเสียค่าใช้จ่ายต่ำในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และรัฐให้งบประมาณต่อหัวเท่ากัน แต่โรงเรียนใหญ่กว่า/มีชื่อเสียงมากกว่าจะได้เปรียบกว่า

โรงเรียนใหญ่มีงบประมาณรวมมากกว่า สามารถทำห้องสมุด, ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ มีอุปกรณ์การสอนการเรียนได้มากกว่า ทั้งโรงเรียนใหญ่ โรงเรียนมีชื่อเสียงในเมืองโอกาสหารายได้เพิ่มเติมจากผู้ปกครองที่มีฐานะดีกว่า โรงเรียนเล็กในชุมชนแออัด ในชนบทจึงเสียเปรียบ ครูเก่งๆ ก็ไม่ค่อยอยากไปอยู่หรืออยู่ได้ไม่นาน พวกเขามักจะหาช่องทางขอย้ายหรือไปสมัครใหม่เพื่อเข้าโรงเรียนใหญ่ในเมืองที่สะดวกสบายและมีโอกาสก้าวหน้ามากกว่า

แนวทางแก้ไขคือ 1.ให้เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 1-6 ขวบถ้วนหน้า ถ้าเพิ่มวงเงินจากเดือนละ 600 บาทได้ก็ดี 2.ให้การศึกษาพ่อแม่เรื่องการช่วยดูแลพัฒนาสมองของเด็กเล็ก โรงพยาบาลควรร่วมมือกับหน่วยงานอื่นทำหลักสูตรอบรมพ่อแม่ตั้งแต่ฝากครรภ์ อาจใช้วิธีเรียนทางออนไลน์ก็ได้ แต่ต้องมีการประเมินผลว่าพ่อแม่ได้เรียนรู้วิธีการเป็นพ่อแม่ที่ดี 3.ปฏิรูปครู อาจารย์ ให้มีคุณภาพ และมีจิตสำนึกความเป็นครูในมาตรฐานที่สูงขึ้น 4.ให้แรงจูงใจครูที่ไปอยู่โรงเรียนเล็กต่างจังหวัด ให้มีความก้าวหน้าได้เพิ่มขึ้น อาจจะใช้วิธีรับครูอาสาสมัครไปสอนโรงเรียนชุมชนแออัดและโรงเรียนในอำเภอรอบนอกคนละ 2 ปี โดยมีเงินตอบแทนพิเศษและประกาศนียบัตรให้ จะมีครูรุ่นใหม่ๆ ที่ตั้งใจเรียนไปสอนโรงเรียนแบบนี้ให้มีคุณภาพสูงขึ้น

5.อุดหนุนโรงเรียนเล็กในเรื่องห้องสมุด อุปกรณ์การเรียน การสอนเพิ่มขึ้น ทำห้องสมุด - พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ และส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้ประโยชน์ 6.จัดตั้งกลุ่มโรงเรียนเพื่อช่วยเหลือกันและกัน โรงเรียนใหญ่ไปช่วยโรงเรียนเล็กในจังหวัด/อำเภอเดียวกัน 7.สร้างพิพิธภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ ในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น มีงบพานักเรียนมาเรียนรู้ 8.หาทุกวิถีทางรวมทั้งขอความช่วยเหลือจากภาคธุรกิจเอกชน มหาวิทยาลัย มูลนิธิ องค์กรปกครองท้องถิ่น ประชาคม ฯลฯ ทำให้โรงเรียนให้มีคุณภาพใกล้เคียงเพิ่มขึ้น

หลังสถานการณ์โควิด เมื่อมีการจัดการเรียนการสอนทางไกล ยิ่งพบปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ลูกคนจนเข้าไม่ถึง ไม่อาจเรียนได้ดีพอ การสอนทางไกลสำหรับเด็กเล็กและประถมไม่เหมาะกับวัย ต้องใช้การสอนแบบพบหน้ากันด้วย ปัญหาคนตกงาน รายได้ลดลง ทำให้เด็กจากครอบครัวที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจต้องออกกลางคันเพิ่มขึ้น (เช่น ข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา-กสศ. สำรวจนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2563 พบว่านักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ยังไม่ได้สมัครเรียนเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจ มี 3,180 คน ที่เป็นการสำรวจเพียงบางส่วนเท่านั้น)

การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจต้องถือเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ต้องเพิ่มงบประมาณในการบริหารจัดการและการฝึกอบรม การนิเทศครู เพื่อให้การสอนการเรียนมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ในการจะปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพได้ ควรเข้าใจว่าเรื่องที่สำคัญคือทั้งพ่อแม่ ครู คือต้องฝึกให้เด็กรักการอ่าน การเรียนรู้ รู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง ฝึกความเข้าใจ การคิด วิเคราะห์อย่างมีเหตุผล อย่างมีหลักฐานข้อมูลยืนยัน ไม่ใช่การสอนการเรียนแบบท่องจำข้อมูลเพื่อสอบอย่างเดียว ซึ่งทำให้เด็กพัฒนาสมองได้น้อยกว่าที่ควร และมีความรู้ที่มีข้อจำกัด นำไปประยุกต์ใช้งานในชีวิตจริงได้น้อย

รัฐบาลควรเข้าใจใหม่ว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาคน และการลงทุนเพื่อพัฒนาการศึกษา ส่วนเรื่องพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตเป็นเรื่องรอง ถ้าคนมีความรู้ ความสามารถมากขึ้น ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตขึ้นได้อีก การพัฒนาคนให้มีทรัพย์สิน รายได้ ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง รู้จักทำงาน/ใช้ชีวิตอย่างมีผลิตภาพมากขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศดีขึ้น โดยเฉพาะในยุคหลังโควิด-19 ที่เศรษฐกิจระหว่างประเทศหดตัวลง เศรษฐกิจภายในประเทศจะเติบโตได้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิรูปกระจายผลการพัฒนาทุกด้านให้ทั่วถึง เป็นธรรม นี่ไม่ใช่เรื่องจริยธรรมเท่านั้น แต่คือความจริงทางวิทยาศาสตร์สังคมที่ชนชั้นนำยังเข้าใจน้อย ถ้าหากพวกเขาจะเปิดใจอ่าน รับฟังภาคประชาชน นักวิชาการที่เสนอแนวทางการพัฒนาทางเลือกที่เน้นความเป็นธรรม ประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม และเพื่อความยั่งยืน(ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม) พวกเขาน่าจะบริหารจัดการประเทศได้ดีกว่านี้ พวกเด็กเยาวชนอาจมีเรื่องให้ประท้วงพวกเขาได้ลดลง