ตัวละครพลังงานเปลี่ยน จ่อรื้อเกณฑ์‘รฟ.ชุมชน’

ตัวละครพลังงานเปลี่ยน  จ่อรื้อเกณฑ์‘รฟ.ชุมชน’

ทิศทางการลงทุนด้านพลังงานของประเทศไทยช่วงที่เหลือของปีนี้ ชัดเจนว่า คงจะยังไม่เห็นโครงการลงทุนใหม่ๆ ตามร่าง PDP 2018 Rev.1 เกิดขึ้น

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานส่งสัญญาณว่า แผนร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018 Rev.1) ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ส่งกลับมายังกระทรวงฯนั้น เป็นแผนที่จัดทำขึ้นก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่การจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ ก็ยังไม่ใช่เวลานี้ เพราะต้องรอดูผลกระทบโควิด-19 ที่จะส่งผ่านการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและการใช้พลังงานในช่วงไตรมาส 3 และ 4ปีนี้ ให้กระจ่างก่อน

ดังนั้น การลงทุนด้านพลังงานจากนี้ไป จะยังคงยึดตามแนวทางของแผน PDP 2018 (ฉบับปัจจุบัน) ซึ่งตามแผน PDP 2018 นั้น ยังไม่ได้บรรจุเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่เป็นนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนก่อนได้วางหลักเกณฑ์ไว้ในแผน PDP ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1(PDP 2018 Rev.1) ที่มีเป้าหมายจะรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบถึง 1,933 เมกะวัตต์ในปี 67 และนำร่องรับซื้อไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์แรกในปี 63-64

แต่กระนั้นนายสุพัฒนพงษ์ก็ยังให้คำมั่นว่า จะเดินหน้าโครงการฯนี้ต่อ โดยขอเวลา 30 วันในการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการอย่างแท้จริงคือประโยชน์ต้องเกิดกับชุมชน ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบตามแผนเดิมหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ มีโครงการที่เตรียมพร้อมสมัครแล้วประมาณ 100-200 เมกะวัตต์ ที่น่าจะเกิดขึ้นได้

หากดูตามแนวทางผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชนฯเดิมที่ยังติดปัญหาไม่สามารถออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ เพราะคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ยืนยันเสียงแข็งว่า จะออกประกาศฯ ก็ต่อเมื่อ PDP 2018 Rev.1 ผ่านการอนุมัติจาก ครม.เท่านั้น

แต่เมื่อนายสุพัฒนพงษ์ได้ชี้ช่องเคลียร์อุปสรรคดังกล่าว โดยเตรียมจัดทำบทแทรกขึ้นมา ก็อาจต้องกลับไปยึดตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2018) ซึ่งก็ต้องไปดูว่าจะสามารถเกลี่ยสัดส่วนรับซื้อไฟจากพลังงานหมุนเวียนเชื้อเพลิงประเภทใดได้บ้างและได้กี่เมกะวัตต์แต่ก็ต้องยอมรับว่า โอกาสที่จะซื้อไฟเข้าระบบถึง 1,933 เมกะววัต์ ตามที่บรรจุไว้ในร่างแผน AEDP 2018 (ฉบับปรับปรุง) ที่เวลานี้แผนจัดว่าถูกพับไว้เรียบร้อยแล้ว คงเหลือความหวังเลือนราง

คงต้องไปวัดใจว่า ท้ายที่สุดแล้ว โรงไฟฟ้าชุมชนฯ ภายใต้การสานต่อโครงการฯ ของนายสุพัฒนพงษ์จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบได้กี่เมกะวัตต์

เรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อตัวละครที่เป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายเปลี่ยนจากนายสนธิรัตน์มาเป็นนายสุพัฒนพงษ์ก็อาจส่งผลให้นโยบายเปลี่ยนแปลงได้ แต่การเปลี่ยนแปลงจะเป็นเรื่องดี หากยึดมั่นตามวัตถุประสงค์โครงการฯ ที่ต้องการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ สร้างอาชีพให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

ส่วนการลงทุนโครงการใหม่ๆนั้น หากภาคธุรกิจพลังงานไม่เร่งรีบ ก็ควรอดใจรอความชัดเจนจากการจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ หรือ PDP 2021 ที่คาดว่าจะดำเนินการในปีหน้าจะได้ไม่ต้องรื้อแผนลงทุนกันถี่ๆ