อยากเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ต้องทำอย่างไร

อยากเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ต้องทำอย่างไร

ธุรกิจเพื่่อสังคม เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการทำธุรกิจที่มีลักษณะและวัตถุประสงค์ของการทำธุรกิจที่แตกต่างออกไปจากธุรกิจธรรมดาอย่างมีนัยสำคัญ

ประเด็นสำคัญและน่าสนใจก็คือ เป็นการทำธุรกิจที่ต้องใช้ฝีมือเพื่อแสวงหากำไรให้ได้สูงสุด แต่มุ่งที่จะนำกำไรที่เกิดขึ้นมาช่วยเหลือสังคมในด้านต่าง ๆ ให้ดีขึ้น

ซึ่งหากจะเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นโดยทั่วไป เป้าหมายของการทำธุรกิจมักจะเป็นการแสวงหากำไรเพื่อนำมาสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ที่ลงทุนทำธุรกิจนั้น ๆ เป็นประการสำคัญ

ลักษณะของธุรกิจเพื่อสังคม ตามความหมายที่ พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 ได้กำหนดไว้ หมายถึง บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่ายสินค้า หรือการบริการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการ และต้องได้รับการจดทะเบียนตามวิธีการที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้

นอกจากนี้ ยังรวมถึง “กลุ่มกิจการเพื่อสังคม” ที่เป็น บุคคลธรรมดา กลุ่มบุคคล ชุมชน หรือนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่ายสินค้า หรือการบริการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการ และได้รับการจดแจ้งเป็นกลุ่มกิจการเพื่อสังคมตามพระราชบัญญัตินี้ เช่นกัน

ดังนั้น หากต้องการที่จะก่อตั้งหรือจัดตั้ง ธุรกิจเพื่อสังคม ขึ้นมา เพื่อได้รับการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ จากภาครัฐ ผู้ริเริ่มก่อตั้ง จะต้องทำการจดทะเบียนเพื่อแสดงว่า ธุรกิจนี้ เข้าข่ายของการเป็น ธุรกิจเพื่อสังคม ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทให้เลือก คือ

เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ ไม่ประสงค์ จะแบ่งกำไรให้กับหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น และ วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ มีความประสงค์ จะแบ่งปันกำไรให้กับหุ้นสวนหรือผู้ถือหุ้น โดยจะต้องมีลักษณะที่จะแสดงว่า ธุรกิจของท่านเป็น ธุรกิจเพื่อสังคม ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการ รวม 6 ประการ ได้แก่

  1. เป็นธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการจ้างงานแก่บุคคลผู้สมควรได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษ การแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม หรือ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมอื่น หรือ คืนประโยชน์ให้แก่สังคม
  2. ธุรกิจต้องมีรายได้มาจากการจำหน่ายสินค้าหรือการบริการ ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง(ร้อยละห้าสิบ) ของรายได้รวม เว้นแต่กิจการที่แจ้งว่าไม่ประสงค์จะแบ่งปันกำไรให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วน (กรณีเป็นห้างหุ้นส่วน) หรือกิจการที่ผู้ถือหุ้น (กรณีเป็นบริษัท) อาจมีรายได้ น้อยกว่าร้อยละห้าสิบ มาจากการจำหน่ายสินค้าหรือการบริการก็ได้
  3. เป็นธุรกิจที่นำผลกำไรไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์เพื่อสังคม ตามที่ระบุไว้ในข้อ 1 และแบ่งกำไรให้แก่เจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นไม่เกิน ร้อยละสามสิบ ของผลกำไรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเพื่อสังคมเริ่มใหม่ หรือธุรกิจเดิมที่ขยายกิจการเข้าสู่การเป็นธุรกิจเพื่อสังคม
  4. เป็นธุรกิจที่มีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี
  5. ไม่เคยถูกเพิกถอนการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือถูกเพิกถอนไปแล้วเกินกว่า 2 ปี ในวันยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมใหม่อีกครั้งหนึ่ง
  6. ไม่มีหุ้นส่วน กรรมการ หรือผู้มีอำนาจจัดการแทนนิติบุคคล หรือผู้ ถือหุ้นซึ่งถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละยี่สิบห้าขึ้นไปเคยเกี่ยวข้องกับกิจการที่เคยถูกเพิกถอนการจดทะเบียนตาม ข้อ 5 (เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นกับการกระทำที่เป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนการจดทะเบียน)

ภายหลังการจดทะเบียนเสร็จเรียบร้อย ธุรกิจ จะได้รับอนุญาตให้ใช้คำว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม ประกอบในชื่อของกิจการได้ตามกฎหมาย

ธุรกิจหรือวิสาหกิจเพื่อสังคม มีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่แถลงไว้ จัดทำรายงานทางการเงินโดยมีการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีทุกปี เพื่อยื่นต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม และต้องนำส่งเงินรายปีเพื่อสมทบเข้ากองทุนสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม

โดยวิสาหกิจเพื่อสังคม จะได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม และกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เช่น ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุน เช่น เงินกู้ยืมเพื่อก่อตั้ง ปรับปรุง และพัฒนากิจการ เพื่อให้มีประสิทธิภาพและขีดความสามารถเพิ่มขึ้น การช่วยเหลือด้านเงินทุนในระยะเริ่มแรกของกิจการในกำหนดเวลาไม่เกิน 2 ปี และความช่วยเหลือทางการเงินอื่น ที่เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา

นอกจากนี้ ยังจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร สิทธิประโยชน์จากมาตรการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ หรือสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอื่น อีกด้วย

และยังรวมไปถึงการได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอากรของผู้ให้การสนับสนุนกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคม เช่น การบริจาคเงินให้แก่กองทุนฯ การลงทุนในกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคม การให้เงินสนับสนุนกิจการหรือการดำเนินงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือองค์ความรู้ให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมในด้าน การผลิต การตลาด และการบริหารจัดการ อีกด้วย

ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่สนใจ หรือผู้ที่ต้องการจะริเริ่มก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคม โดยข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมอาจหาได้จากการเผยแพร่และการประชาสัมพันธ์ของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ได้โดยตรง