ธีมลงทุนสตาร์ทอัพ 'เฮลธ์เทค-เอ็ดเทค' ... โอกาสหลังโควิด-19

ธีมลงทุนสตาร์ทอัพ 'เฮลธ์เทค-เอ็ดเทค' ... โอกาสหลังโควิด-19

จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

เป็นตัวเร่งให้คนทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตมาเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมากขึ้น และคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและรองรับความต้องการของตลาดโลกในอนาคตโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสุขภาพ (Healthcare Technology หรือ HealthTech) และเทคโนโลยีทางการศึกษา (Educational Technology หรือ EdTech) ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างมากหลังโควิด-19

แนวโน้มของ HealthTech นั้นเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี สอดคล้องกับการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศและเทรนด์การดูแลสุขภาพของคนทุกรุ่นในปัจจุบัน ดังเห็นได้จากการก่อเกิดนวัตกรรม HealthTech อาทิ แพลทฟอร์มบริหารจัดการร้านขายยาโดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขจัดทำใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ในการเชื่อมโยงข้อมูลใบสั่งยาของคนไข้จากโรงพยาบาลไปที่ร้านขายยา เพื่อคนไข้สามารถรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านโดยไม่ต้องเสียเวลารอคิวนานที่โรงพยาบาล ปัจจุบันเริ่มใช้งานจริงในหลายพื้นที่ของอีอีซี เช่น จังหวัดระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังมีระบบบริหารจัดการคิวในโรงพยาบาล ลดการแออัดและลดการรอคอย แอปพลิเคชั่นเชื่อมโยงข้อมูลการใช้ยาจากโรงพยาบาลให้ผู้ป่วยเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย แพลทฟอร์มให้บริการจิตแพทย์และนักจิตวิทยาในการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการรับคำปรึกษาให้กับกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ เช่น นักเรียน นิสิตนักศึกษา คนไทยในต่างประเทศ เป็นต้น ตลอดจนการเชื่อมต่อการรักษาแบบ Telegraph ทำให้ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์ผ่านบริการแอปพลิเคชั่น หมดปัญหาเรื่องการเดินทาง จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์

ขณะเดียวกันธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมเทคโนโลยีการศึกษาหรือ EdTech ก็มีแนวโน้มเติบโตมากเช่นกัน ข้อมูลจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนพรินซิเพิล จำกัด ระบุว่างานศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และองค์การสหประชาชาติ (UN) พบว่า รูปแบบการศึกษาปรับเปลี่ยนจากในห้องเรียนสู่การเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัล เนื่องจากพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ (Gen Z) ในปัจจุบัน นิยมเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีตลอด 24 ชั่วโมง ในจำนวนนี้ 98% มีสมาร์ทโฟนเป็นของตนเองและเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ 10 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ เยาวชนในอาเซียนกว่า 81.5% เชื่อว่าทักษะที่มีอยู่จะใช้ในการทำงานได้ไม่เกิน 10 ปี จึงต้องศึกษาความรู้เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ

การศึกษาในรูปแบบ EdTech จากเดิมที่เทคโนโลยีต่างๆมีบทบาทในการเรียนการสอนและการเรียนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่มากนักเนื่องจากยังไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ แต่หลังโควิด-19 เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการศึกษาและการเรียนทางออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาภาคบังคับ จำนวนผู้สมัครเรียนทางออนไลน์เพิ่มขึ้นและมีความต้องการใช้อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมต่อระบบการศึกษาสูงขึ้น

จากเทรนด์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นโอกาสลงทุนทั้งในธุรกิจเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสุขภาพ และด้านเทคโนโลยีการศึกษาที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเติบโต เห็นได้ชัดว่ายุคของ HealthTech มาถึงแล้วพิจารณาได้จากยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนของอุตสาหกรรมการแพทย์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดทั้งจำนวนโครงการที่มี 52 โครงการ เพิ่มขึ้น 174% และมูลค่าเงินลงทุนรวม 13,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ในขณะที่เทคโนโลยีการศึกษาไม่ได้จำกัดแค่การเรียนรู้ภายในห้องเรียนเท่านั้น ทว่าเทคโนโลยีการอบรมพนักงานทางออนไลน์ การเรียนการสอนด้วยดิจิทัลคอนเทนต์ที่สามารถนำเสนอภาพและเสียงด้วยวีดีโอเชื่อมต่อทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์ การทดลองปฏิบัติบนระบบเสมือนจริง (Virtual Reality System) เหล่านี้เป็นแนวทางการพัฒนาทักษะที่หลายองค์กรเริ่มนำมาใช้ที่เรียกว่า การสร้างทักษะใหม่ที่เข้ากับโลกปัจจุบันได้ (Re-skill) และการพัฒนาทักษะเดิมให้ทันกับโลกยุคปัจจุบัน (Up-Skill)