สิทธิในการแต่งงานของมนุษย์กับหุ่นยนต์

สิทธิในการแต่งงานของมนุษย์กับหุ่นยนต์

หากจะกล่าวถึงการแต่งงานโดยทั่วไปแล้ว ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันจะมีการพัฒนารูปแบบของการแต่งงานจากจุดเริ่มต้น

ซึ่งการแต่งงานจะต้องเกิดขึ้นระหว่างเพศชายและเพศหญิงเพื่อทำหน้าที่สร้างครอบครัว สืบทอดเผ่าพันธุ์มนุษย์ จนกระทั่งต่อมามีการผลักดันสิทธิในการสมรสของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อให้สิทธิในการจดทะเบียนสมรสระหว่างบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในหลายประเทศ รวมถึงที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ภายใต้รูปแบบทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดดจากปัจจัยด้านความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงแปลงไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ชีวิตที่เข้ามาเกี่ยวของกับเทคโนโลยีมากขึ้น รวมไปถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์และการพัฒนารูปแบบของหุ่นยนต์ให้มีความใกล้เคียงกับมนุษย์ให้มากที่สุด

ผลจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้มีการนำเสนอแนวคิดการแต่งงานระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ขึ้นในหลายประเทศ บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอแนวคิดดังกล่าว คือ ดร.เดวิด เลวี่ (David Levy) ซึ่งเป็นผู้แต่งหนังสือ Love and Sex with Robots ของ New York Times ดร.เลวี่ เป็นบุคคลที่นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ต่อสภาคองเกรสของสหรัฐ เขามีความเชื่อว่าเมื่อมีการพัฒนาหุ่นยนต์จนถึงขั้นที่หุ่นยนต์สามารถมีอิสระทางความคิดและมีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์ซึ่งจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าโดยใช้เวลาประมาณ 2-3 ทศวรรษ ในอนาคตการสมรสจะไม่ได้มีแต่เพียงเฉพาะการสมรสระหว่างชายหญิงหรือการสมรสระหว่างผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่สิทธิในการสมรสจะขยายขอบเขตครอบคลุมการสมรสระหว่างคนกับหุ่นยนต์ที่จะมีสิทธิในลักษณะทำนองเดียวกันกับการสมรสระหว่างมนุษย์ด้วยกัน

ดร.เดวิด เลวี่ ยังได้นำเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับยุคอนาคตและการพัฒนาของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่อาจนำไปสู่การมีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับความสัมพันธ์ในการสร้างครอบครัวของมนุษย์ทั่วไปที่มีการอยู่กินกันฉันสามีภรรยา ความรักและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์จะกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะสามารถจดทะเบียนสมรสและสามารถสร้างครอบครัวระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ได้ สิ่งที่มีความพิเศษของหุ่นยนต์ คือ การมีความสัมพันธ์และสร้างครอบครัวกับหุ่นยนต์จะมีความแตกต่างกับมนุษย์ทั่วไปที่หุ่นยนต์จะมีอุปนิสัยที่เป็นไปตามความต้องการของมนุษย์ได้และช่วยแก้ไขปัญหาการหย่าร้างที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันได้

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงความเกี่ยวพันระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน มีรายงานการแต่งงานระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์เพิ่มมากขึ้น เช่น การแต่งงานระหว่างประชาชนสัญชาติจีนชื่อเจิ้งเหอซึ่งเป็นมนุษย์ กับหุ่นยนต์ชื่ออิ๋งอิ๋ง คู่สมรสในประเทศจีน ทั้งนี้เนื่องจากเจิ้งเหอเริ่มเบื่อหน่ายกับการเข้ามาเจ้ากี้เจ้าการของครอบครัวและแรงกดดันที่จะต้องหาคู่ครองในการแต่งงานที่มีความเพรียบพร้อม จึงหันไปหาหุ่นยนต์ที่เขาสร้างขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้วและตั้งชื่อว่าอิ๋งอิ๋ง หลังจาก “ออกเดท” ได้ 2 เดือนเขาก็สวมสูทสีดำเพื่อ “แต่งงาน” กับเธอ และมีครอบครัวและเพื่อน ๆ ของเขาเข้าร่วมแสดงความยินดีในเมืองหางโจว ของประเทศจีน แม้ว่าทางการจะไม่ได้ยอมรับการแต่งงานดังกล่าวแต่การแต่งงานดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์

อีกตัวอย่างหนึ่งของการสมรสระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสมี โดยลิลลี่สาวชาวฝรั่งเศสได้อธิบายว่าตนเองเป็น ‘robosexual’ ซึ่งมีความชื่นชอบหุ่นยนต์มากกว่ามนุษย์ทั่วไป ทำให้ลิลลี่แต่งงานกับหุ่นยนต์ที่เธอออกแบบขึ้นเองมีชื่อว่า Inmmovator ปรากฏการณ์ที่เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเกี่ยวกับการแต่งงานระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์เหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สะท้อนให้เห็นว่ารูปแบบในการแต่งงานของมนุษย์เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพวิวัฒนาการของมนุษย์และเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญในหลายประเทศคาดการณ์ว่าโอกาสที่มนุษย์จะมีคู่สมรสเป็นหุ่นยนต์จะเป็นเรื่องปกติทั่วไปในอีก 3 ทศวรรษข้างหน้า ดังนั้น เมื่อมีการแต่งงานระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์เพิ่มมากขึ้น กฎหมายอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับรูปแบบของการสมรสแบบใหม่ซึ่งเป็นการจดทะเบียนสมรสระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ในอนาคต

เมื่อพิจารณาประกอบกับพฤติกรรมของมนุษย์และการพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ผู้คนมีแนวโน้มต้องการอยู่เป็นโสดหรือมีการหย่าร้างมากขึ้นจากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในครอบครัวที่เป็นการสมรสระหว่างมนุษย์ การมีคู่สมรสซึ่งเป็นหุ่นยนต์อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ผู้คนหันกลับมาสร้างครอบครัวมากขึ้น เนื่องจากหุ่นยนต์มีคุณสมบัติพิเศษบางประการที่ช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ด้วยกันเองได้ และแม้หุ่นยนต์จะมีข้อจำกัดในการให้กำเนิดบุตร แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันและในอนาคตการให้กำเนิดบุตรมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องเกิดจากการมีครอบครัวโดยการสมรสระหว่างผู้ชายและผู้หญิง ดังนั้น การมีบุตรจึงอาจไม่ใช่สาระสำคัญในการสร้างครอบครัวที่จะต้องผูกพันอยู่กับเฉพาะการแต่งงานระหว่างชายและหญิงหรือระหว่างมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น บางทีการการจดทะเบียนสมรสระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์อาจเป็นหนทางในการแก้ปัญหาการลดลงของประชากรโลกก็เป็นได้.

โดย... 

สุรินรัตน์ แก้วทอง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์