อลวนฝนตกต่ำค่าเฉลี่ย 'พายุลูก' 2 ยังไร้วี่แวว

อลวนฝนตกต่ำค่าเฉลี่ย 'พายุลูก' 2 ยังไร้วี่แวว

ปริมาณฝนที่ตกในปีนี้ยังถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ที่อาจทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำและภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น ซึ่งต้องตั้งความหวังไว้กับ "พายุ"

เป็นอันว่าผ่านไปแล้วสำหรับ ซินลากู พายุลูกแรก จากทั้งหมด 2 ลูกในปีนี้ โดยกรมชลประทานได้รายงานว่า อิทธิพลของซินลากู ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ประมาณ 1,616 ล้านลูกบาศก์เมตร( ลบ.ม.)

 

แบ่งออกเป็น ภาคเหนือ ประมาณ 889 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 111 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง ประมาณ 0.43 ล้าน ลบ.ม.

ภาคตะวันตกประมาณ 372ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกประมาณ 40 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ ประมาณ 213 ล้าน ลบ.ม. ด้าน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลงลงอ่างฯบ้างแต่ยังไม่มากนัก ยกเว้นเขื่อนสิริกิติ์

โดยที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำรวม 170.39 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำรวม 489.65 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำรวม 39.22 ล้าน ลบ.ม. และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำรวม 0.45 ล้าน ลบ.ม.

เห็นได้ว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำน่านตอนบนที่ไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์ อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีกว่าเขื่อนอื่นๆ ส่งผลให้ภาพรวมปริมาณน้ำเก็บกัก 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยมีปริมาณน้ำใช้การ เทียบช่วงเวลาเดียวกันของปี’62 อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตามจากการรายงานของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) ที่มี พล.อ. ประวิตรวงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพบว่าเมื่อประเมินปริมาณน้ำต้นฤดูแล้งปี 2563/64 ณ 1 พ.ย.63 คาดว่าจะมีปริมาณน้ำใช้การได้ 5,969 ล้าน ลบ.ม. หรือ 33% เมื่อเทียบกับปี 62 ปริมาณน้ำใช้การ 5,376 ล้าน ลบ.ม. หรือ 30% ของความจุอ่าง ซึ่งถือว่ายังเป็นปริมาณน้ำน้อย

จึงต้องจับตามองพายุลูกที่ 2ว่าจะส่งผลใหเมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนอีกมากน้อยเพียงใด แต่ในขณะนี้ยังไม่เห็นวี่แววของการก่อตัวซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดที่แน่ๆ นายทวีศักดิ์ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน กล่าวว่าตามการรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา จากเดิมที่คาดว่าปริมาณน้ำฝนในประเทศไทยจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 5%นั้น ขณะนี้ผลปรากฏว่า ปริมาณฝนที่ตกจริงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 10%โดย ภาคเหนือปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 30%

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 21%ภาคกลางและภาคตะวันตก ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 29%ภาคตะวันออกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 16%ภาคใต้ ฝั่งอันดามันต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10%มีเพียงฝั่งอ่าวไทยเท่านั้นที่มีฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 3%ทั้งหมดส่งผลให้กรมชลประทาน ต้องวิเคราะห์ปริมาณน้ำต้นฤดูแล้งปี 2563/64 ณ 1 พ.ย.63ใหม่

ในขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าแม้ฝนจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติถึง10% แต่ปริมาณฝนจะตกในไทยอีกครั้ง ตั้งแต่ กลาง ส.ค.- ต.ค. ซึ่งเป็นการตกหนัก แต่จะตกในช่วงสั้นๆ จึงเสี่ยงต่อน้ำท่วมในบางพื้นที่และดินถล่มตามไหล่เขา 

กรมชลประทานจะเน้นเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด วางแผนบริหารจัดการน้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตร หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนการเพาะปลูกในฤดูแล้ง ปี 63/64โดยต้องควบคุมการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัดต่อไป