จากประโยชน์ของคนโสดถึงนโยบายของนายทรัมป์

จากประโยชน์ของคนโสดถึงนโยบายของนายทรัมป์

ย้อนเวลาไปกว่า 10 ปี นักเขียนชาวสวีเดนชื่อ “นินนี่ โฮล์มคิสต์” พิมพ์นวนิยายเล่มเล็กๆ ออกมา นักแปลคนหนึ่งเห็นว่าน่าสนใจ

จึงได้ถอดความเป็นภาษาอังกฤษและตั้งชื่อหนังสือว่า The Unit ชื่อและเนื้อหาคงถอดความออกเป็นภาษาไทยได้หลายอย่าง จะเป็นอะไรขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ถอดความว่าน่าจะเน้นแง่ไหน

เนื้อเรื่องเกิดขึ้นในสถานกักกันแห่งหนึ่งซึ่งสร้างขึ้นจากฐานความคิดใหม่ที่ว่า ควรเก็บเกี่ยวอวัยวะของคนบางกลุ่มในขณะที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่เพื่อนำไปเปลี่ยนให้แก่คนที่อวัยนะนั้นไม่อยู่ในสภาพใช้การได้อีกต่อไป แต่พวกเขายังทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้ถ้าได้รับอวัยวะใหม่

ในการปฏิบัติ ผู้ที่สถานกักกันต้องการคือ คนโสดวัยกลางคนที่ไม่มีภาระจะต้องรับผิดชอบในการเลี้ยงดูผู้อื่นและสมัครใจที่จะเข้าไปอยู่ในสถานกักกันนั้น สถานกักกันจะให้การเลี้ยงดูอาสาสมัครอย่างดีเยี่ยมตามความประสงค์ของเขา แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าในวันหนึ่งข้างหน้า สถานกักกันต้องการอวัยวะของผู้นั้นเพื่อนำไปเปลี่ยนให้แก่ผู้อื่น อาสาสมัครจะต้องยินยอม การเก็บเกี่ยวจะใช้กระบวนการชั้นดีที่จะไม่ทำให้อาสาสมัครเจ็บปวด ปัญหาใหญ่เกิดขึ้นเมื่ออาสาสมัครสาวใหญ่คนหนึ่งซึ่งเคยคิดว่าตนไม่มีห่วงอะไรเหลืออยู่ในโลกอีกแล้วไปตกหลุมรักกับอาสาสมัครชายและจะพากันหนีออกมาจากที่นั่นไปตั้งครอบครัว

หากต่อยอดแนวคิดใหม่นี้ออกไปย่อมจะได้ข้อสรุปว่า ผู้อยู่ในวัยชรา ผู้พิการ ผู้มีร่างกายอ่อนแอจนทำอะไรไม่ไหวย่อมไม่มีประโยชน์ต่อสังคมเพราะเป็นผู้บริโภคอย่างเดียวโดยมิได้ช่วยผลิตอะไรอีกต่อไป คำถามที่ตามมาย่อมได้แก่ สังคมจะทำอะไรกับคนเหล่านี้? จะนำไปฆ่าตรง ๆ คงทำไม่ได้

คำตอบหนึ่งอาจเป็นการทำตามนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดเพราะเขาถูกมองว่าแทบไม่ได้ทำอะไรในทางสร้างสรรค์เลยตั้งแต่ไวรัสเข้าไปอาละวาดในสหรัฐตั้งแต่ต้นปีนี้  ซ้ำร้ายยังเอื้อให้มันระบาดได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย หากดูจากพฤติกรรมหลายอย่างของเขา เริ่มจากประกาศว่า ไวรัสตัวนี้จะมีผลไม่ต่างกับไข้หวัดใหญ่ซึ่งจะหายไปเองในเร็ววัน จากนั้นมา เขาต่อต้านการวิจัยและข้อเสนอของฝ่ายวิทยาศาสตร์และการแพทย์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย การไว้ระยะระหว่างบุคคล การไม่ร่วมชุมนุมเป็นกลุ่มใหญ่ หรือการไม่ใช้ยาที่ใช้รักษามาลาเรียซึ่งการวิจัยพบว่าไม่มีผลต่อไวรัสตัวนี้แต่กลับมีอันตรายต่อร่างกายมากกว่า ล่าสุดนายทรัมป์ผลักดันให้รัฐต่าง ๆ เปิดโรงเรียนทั้งที่มีข้อมูลเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การเรียนในชั้นเรียนจะทำให้ไวรัสระบาดมากขึ้น

 นโยบายของนายทรัมป์มีผลทำให้ชาวอเมริกันเจ็บตายมากกว่าชาวโลกแบบนำโด่ง และผู้ตายส่วนใหญ่ได้แก่ผู้สูงวัยและผู้มีร่างกายอ่อนแอจากการมีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว นายทรัมป์จะจงใจดำเนินนโยบายของเขาดังกล่าวบนฐานของการคิดตามแนวของนวนิยายเล่มนั้นหรือไม่ ย่อมยากแก่การพิสูจน์ แต่ผลพวงอย่างหนึ่งของไวรัสตัวนี้ได้แก่การทำให้เศรษฐกิจทรุดฮวบ ซึ่งต่างกับการฆ่าทิ้งคนที่ไม่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อสังคมอีกต่อไป

ข้อคิดจากนวนิยายและนโนบายของนายทรัมป์คงแตกต่อไปได้หลายอย่างโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจซึ่งชาวโลกยึดแนวคิดกระแสหลักเป็นสรณะ นั่นคือ จะทำอะไรต้องวัดออกมาเป็นตัวเลขที่เรียกกันว่าจีดีพี ยิ่งมากยิ่งดี ส่วนตัวเลขนี้มีที่มาอย่างไรและใครได้รับประโยชน์บ้างแทบไม่ได้รับความสำคัญ ฉะนั้น ถ้าต่อยอดข้อคิดนี้ออกไปก็จะได้ข้อสรุปว่า อย่าเลี้ยงคนชรา คนพิการ และคนอ่อนแอที่ผลิตอะไรไม่ได้ไว้ให้เปลืองข้าวสุก

ย้อนไปหลายสิบปี พอล แซมวลสัน นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักผู้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2513 เตือนไว้ว่า อย่าหลงพิจารณาแต่ด้านเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว โลกเรานี้มีอีกหลายด้าน ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่มีความสามารถถึงขนาดของเขา ขอนำคำเตือนนั้นมาเน้นย้ำให้พิจารณา หวังว่าคณะบริหารเศรษฐกิจชุดใหม่ของไทยจะสดับฟัง