การกำหนดราคาโอนในภาวะการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

การกำหนดราคาโอนในภาวะการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้รัฐบาลทั่วโลกมีมาตรการเพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงกว้าง

ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข การค้าระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจโดยรวม หลายเดือนที่ผ่านมารัฐบาลไทยก็ได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับการเดินทาง ประกาศล็อกดาวน์ ไปจนถึงการปิดน่านฟ้า เพื่อป้องกันหรือชะลอการแพร่ระบาดของไวรัส  

ข้อจำกัดเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในกระบวนการประกอบธุรกิจของบริษัทข้ามชาติ (MNCs) เป็นเหตุให้ต้องทบทวนและประเมินความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานของตน ซึ่งอาจหมายรวมถึงการย้ายฐานประกอบการไปยังประเทศที่เหมาะสมกว่า

การพิจารณาราคาโอน

การกำหนดราคาโอน (TP) คือการกำหนดราคาสำหรับธุรกรรมซื้อขาย การให้บริการ และการกู้ยืมเงินกันระหว่างบริษัทในเครือโดยอ้างอิงจากราคาตลาด สรรพากรทั่วโลกใช้กฎหมาย TP เพื่อป้องกันไม่ให้ MNCs ทำการโยกย้ายกำไรจากฐานภาษีที่สูงไปยังฐานภาษีที่ต่ำกว่าด้วยการวางแผนวิธีการตั้งราคาของธุรกรรมระหว่างกันอย่างไม่ถูกต้อง สำหรับประเทศไทยได้เริ่มมีการบังคับใช้กฎหมาย TP เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา 

การออกแบบห่วงโซ่อุปทานของกลุ่มจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงนโยบายการกำหนดราคาโอนร่วมด้วย ยกตัวอย่างเช่น บริษัทแม่ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์อาจใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตขณะที่ใช้ประเทศฟิลิปปินส์เป็นศูนย์สนับสนุนระบบหลังบ้าน (Back-end Support) ในกรณีนี้ บริษัทในแต่ละประเทศควรได้รับผลตอบแทนที่เป็นราคาตลาดโดยวัดจากหน้าที่งาน ความเสี่ยง และทรัพย์สินของบริษัทนั้นๆ เป็นสัดส่วนเปรียบเทียบกับห่วงโซ่อุปทานในภาพรวมทั้งหมด

อย่างไรก็ดี การหยุดชะงัก (Disruption) ของห่วงโซ่อุปทานจากโรคระบาด ส่งผลให้ผู้ประกอบการทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ผลขาดทุนหรือระดับกำไรต่ำลง

หากบริษัทไทยทำหน้าที่รับจ้างผลิตที่มีความเสี่ยงต่ำและได้ผลตอบแทนเป็นระดับกำไรที่ค่อนข้างคงที่มาตลอด แต่ในภาวะโรคระบาดกลับมีผลขาดทุนหรือกำไรลดลงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากความต้องการสินค้าของกลุ่มในภาพรวมลดลง เกิดคำถามขึ้นว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่ที่บริษัทไทยจะต้องแบกรับผลขาดทุนดังกล่าวทั้งหมด หากคำตอบคือไม่ MNCs จะต้องทำการวิเคราะห์ต่อว่าแล้วบริษัทใดในห่วงโซ่อุปทานควรเป็นผู้รับผิดชอบ

ประเด็นข้างต้นมักเป็นชนวนการตรวจสอบภาษีด้วยข้อสงสัยที่ว่าผลขาดทุนหรือระดับกำไรที่ลดลงในแต่ละประเทศนั้นควรเป็นอย่างไร สรรพากรมักมีความคาดหวังว่าบริษัทลูกที่ทำหน้าที่งานพื้นฐาน (Routine Function) ควรมีระดับกำไรคงที่ให้เหมาะสมกับหน้าที่งานดังกล่าว ในขณะที่สำนักงานใหญ่ที่มีบทบาทเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ควรได้รับกำไรคงเหลือ (Residual Profit) และแบกรับผลขาดทุนจากห่วงโซ่อุปทานในภาวะวิกฤติ

การปรับปรุงราคาโอน

จากตัวอย่างข้างต้น หากบริษัทแม่ในสิงคโปร์มีอำนาจสั่งการให้บริษัทลูกในไทยปิดไลน์การผลิตสินค้าบางประเภทแล้วย้ายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุนของห่วงโซ่อุปทานในภาพรวม บริษัทไทยอาจไม่ควรแบกรับค่าใช้จ่ายจากการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด บริษัทแม่ต้องตัดสินใจว่าสำนักงานใหญ่ควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายนี้หรือควรเฉลี่ยค่าใช้จ่ายกับบริษัทไทยหรือบริษัทลูกอื่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ บริษัทแม่อาจต้องทำการปรับปรุงราคาโอน (TP Adjustment) เพื่อปรับระดับกำไรของบริษัทไทยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมโดยอ้างอิงจากเอกสารการวิเคราะห์ราคาโอนที่เชื่อถือได้

การจัดเตรียมเอกสารวิเคราะห์ราคาโอน

บริษัทไทยมีหน้าที่จัดเตรียมเอกสารวิเคราะห์ราคาโอน (TP Documentation) เพื่อพิสูจน์ว่าธุรกรรมที่ทำกับบริษัทในเครือทั้งในและต่างประเทศเป็นไปตามหลักราคาตลาดหรือไม่ โดยอาศัยตัวเปรียบเทียบ (Benchmarking Study) ตามหน้าที่งาน ความเสี่ยง และทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมนั้นๆ

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานเนื่องจากโรคระบาด ลักษณะหน้าที่งาน ความเสี่ยง หรือทรัพย์สินของบริษัทอาจเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ตัวเปรียบเทียบที่มีอยู่ไม่เหมาะสมอีกต่อไป หรืออาจมีความจำเป็นที่จะต้องทำการปรับปรุงผลประกอบการของตัวเปรียบเทียบเพื่อสะท้อนผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น การปรับลดลงของกำลังการผลิต (Production Capacity) หลังจากคำสั่งการปิดโรงงานชั่วคราวจากทางรัฐบาล

การสร้างกลยุทธ์เกี่ยวกับราคาโอน

การกำหนดราคาโอนถือได้ว่าเป็นประเด็นการตรวจสอบภาษีหลักของหลายประเทศนับตั้งแต่ OECD มีโครงการป้องกันการถูกกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ (Base Erosion and Profit Shifting : BEPS) ออกมา กฎหมาย TP ใหม่ของไทยส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากโครงการ BEPS นี้  

ในภาวะที่การระบาดของไวรัสยังคงไม่สามารถควบคุมไว้ได้ MNCs ควรต้องทำการประเมินผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของกลุ่มให้ทันท่วงที รวมถึงการทบทวนโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานและนโยบายการกำหนดราคาโอนสำหรับแต่ละบริษัทที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การวางแผนป้องกันความเสี่ยงจากการตรวจสอบภาษีในแต่ละประเทศ มิเช่นนั้น ค่าใช้จ่ายทางภาษีอาจกลายเป็นภาระซ้ำเติมได้หากไม่มีการบริหารจัดการอย่างรอบคอบและเหมาะสม 

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง ดร. กัญชรัตน์ ไทยดำริ พาร์ทเนอร์ ดีลอยท์ ประเทศไทย และ Uziel Alvarez ผู้อำนวยการ ดีลอยท์ สิงคโปร์