Digital literacy ทักษะใหม่สำหรับคนไทย 4.0

Digital literacy ทักษะใหม่สำหรับคนไทย 4.0

ครั้งที่แล้ว ผู้เขียนได้นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจของระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า Digital Economy ไปแล้ว วันนี้จะมาพูดถึงเรื่อง Digital literacy

หรือทักษะความรู้ด้านดิจิทัลของประชาชน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นทักษะใหม่ที่ภาครัฐต้องให้ความสนใจในยุคคนไทย 4.0

การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ไม่ได้สร้างโอกาสในการเติบโตและไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตที่ดีขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่อาจทำให้สังคมอยู่ในสภาวะ Digital Divide หรือสถานการณ์ที่ประชากรบางกลุ่มไม่สามารถได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวทางในการชี้วัดสถานการณ์ Digital divide ผ่านตัวแปรที่เรียกว่า Digital literacy

สำหรับแนวคิดของการวัด Digital literacy นั้นเป็นแนวคิดใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ในอดีตอาจมีการนิยาม Digital literacy ให้มีความคล้ายคลึงกับคำว่า "ICT literacy", "Computer literacy", "ICT skills" หรือ "Technological literacy"

อย่างไรก็ตาม Digital literacy ไม่ควรมีความหมายแคบที่ครอบคลุมเพียงทักษะการใช้งานคอมพิวเตอร์ เพราะ Digital literacy ควรเป็นทักษะที่จะต้องสร้างความมั่นใจว่าบุคคลหนึ่งจะสามารถอยู่ในโลกดิจิทัล 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยที่สุด เมื่อประเมินจากหลายมิติ ดังนั้น หากจะใช้วิธีการวัด Digital literacy ควรคำนึงปัจจัยย่อย 4 ปัจจัย ได้แก่ 1.การเข้าถึง Digital technologies 2.ทักษะการใช้งาน Digital technologies 3.ความรู้ด้าน Digital technologies และ 4.การตระหนักถึงข้อมูลและสิทธิต่างๆ ในโลกดิจิทัล จากการวิจัยพบว่าเพศชายมีการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล มีความรู้ และมีการตระหนักถึงความเสี่ยงในโลกดิจิทัลมากกว่าเพศหญิงอย่างมีนัยสำคัญ

เจเนอเรชั่น Millennial (ซึ่งอายุประมาณ 24-39 ปีในปัจจุบัน) คือกลุ่มเจเนอเรชั่นที่มีความโดดเด่นสูงสุดในทุกมิติย่อยของ Digital literacy รองลงมาคือเจเนอเรชั่น Z และ เจเนอเรชั่น X ตามลำดับ

ด้านกลุ่มอาชีพที่มีความโดดเด่นด้าน Digital literacy สูงที่สุดคือผู้ประกอบอาชีพในสายงานวิชาชีพต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่เทคนิค ข้าราชการอาวุโส ผู้บริหาร และผู้พิพากษา เป็นต้น โดยผู้ที่ตกงานจะเป็นกลุ่มที่มีปัญหาด้าน Digital literacy อย่างมาก ซึ่งอาจเป็นการสะท้อนว่ากลุ่มประชากรดังกล่าวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ Digital divide แล้วเพราะขาดทักษะด้านดิจิทัลที่เหมาะสมเพื่อการประกอบอาชีพในยุคดิจิทัล 4.0

นอกจากนี้ งานวิจัยยังได้แบ่งกลุ่มประชากรไทยออกเป็น 3 กลุ่มย่อยตามระดับคะแนน Digital literacy ด้วยวิธีการทางสถิติที่เรียกว่า Cluster analysis ซึ่งพบว่าประมาณร้อยละ 26 ของกลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่ม Digital fluency ร้อยละ 55 เป็นกลุ่ม Digital neutral และร้อยละ 21 เป็นกลุ่ม Digital illiterate

เมื่อวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินของทั้ง 3 กลุ่มจะพบว่ากลุ่ม Digital fluency มีการใช้บัตรเครดิต และการลงทุนในกองทุนรวมที่สูงโดดเด่นกว่ากลุ่มอื่น เป็นลูกค้าของธนาคารมากที่สุดจำนวนอย่างน้อย 3 แห่งขึ้นไป เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของผลิตภัณฑ์สำหรับการตัดสินใจเลือกเป็นลูกค้าหลายธนาคาร

ถึงแม้ประชากรในกลุ่ม Digital fluency จะให้ความสำคัญกับสาขาที่เข้าถึงง่าย แต่หากธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำผ่านสาขาอีกต่อไปในอนาคต ผลิตภัณฑ์ Mobile banking จะเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ว่าจะเลือกเป็นลูกค้าธนาคารใด

นอกจากนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินในประเทศไทยเพื่อศึกษาว่าสถาบันการเงินในไทยมีการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ให้สอดรับกับระดับ Digital literacy ของผู้บริโภคไทยอย่างไร พบว่าสถาบันการเงินในไทยให้ความสำคัญกับการทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการมีความเข้าใจง่ายเพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้น และมุ่งหวังให้บริการในแบบ Customer-centric model

โดยเทคโนโลยีที่สถาบันการเงินในไทยให้ความสนใจลงทุนในอนาคตประกอบด้วยเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ Cyber Security และ Big data analytics เพื่อให้สามารถเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค ในขณะที่ยังสามารถสร้างความปลอดภัยให้กับบริการของตน

อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นของสถาบันการเงินมีความแตกต่างจากความต้องการของผู้บริโภคอยู่บ้าง เช่นสถาบันการเงินคิดว่าการหาจุดเด่นด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นสิ่งสำคัญ แต่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชากรไทยไม่ได้ให้ความสำคัญด้านนี้เลย โดยประชากรไทยทุกระดับ Digital literacy กลับต้องการให้สถาบันการเงินมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อนำมาสู่การลดค่าธรรมเนียม มีเครื่อง Automatic ที่ทำได้หลายอย่าง หรือมีระบบแจ้งเตือน Notification แบบจำเพาะบุคคลมากกว่า

จะเห็นได้ว่า Digital literacy ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้วางนโยบายจะต้องให้ความสำคัญ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชากรทุกกลุ่มจะมีความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นในอนาคต

โดย... รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย