ไม่เข้าใจ.. (ขาดปัญญา).. จึงยุ่ง.. (มีปัญหา) !!

ไม่เข้าใจ.. (ขาดปัญญา).. จึงยุ่ง.. (มีปัญหา) !!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. จากภาษิตที่ว่า

“..เหนือบุญ คือ กรรม

เหนือกรรม คือ ปัญญา (วิปัสสนาญาณ)..

นับว่ายังแสดงความเป็นสัจธรรมอันล้ำเลิศ ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ให้ประโยชน์อย่างที่สุด หากมนุษยชาติไม่ปิดจิตตนเองให้มืดมนด้วย ตัณหา มานะ ทิฏฐิ .. ที่เรียกว่า ปปัญจธรรม ซึ่งเป็นกิเลสที่ทำให้เสียเวลา ไม่สามารถทำความดีได้อย่างที่ตั้งใจกันไว้ หรือ ไม่สามารถประพฤติปฏิบัติธรรมได้ผล

พุทธศาสนาของเรา จึงเน้นการปลูกฝังความศรัทธาในกรรม วิบาก และกัมมัสกตา ไว้เป็นเบื้องต้น ก่อนเข้าสู่การพัฒนาจิตให้เข้าถึงภูมิรู้ภูมิธรรมในพระพุทธศาสนา อันเป็นไปตามหลักธรรมคำสั่งสอนที่ตรัสรู้ชอบโดยพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งจะก่อเกิดศรัทธาตัวแท้ของชาวพุทธ ที่เรียกว่า ตถาคตโพธิสัทธา

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ย่อมมาจากการปลูกฝังความศรัทธาในกฎแห่งกรรม ที่เป็นไปตามธรรมนิยามในจิตวิญญาณของชาวพุทธ อันเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาชีวิตของมนุษยชาติ ให้ดำเนินไปสู่สันติและความสุขได้จริง.. ดังที่ได้วางหลักศีลธรรม จริยธรรม คุณธรรม ไว้เป็นการศึกษาปฏิบัติ เพื่อวางรากฐานชีวิตให้มั่นคงในถิ่นฐานแห่งธรรมชาติ ที่เนื่องกับชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลาย.. ด้วยการเข้าใจกฎธรรมชาติ.. ไม่ว่าจะในรูปกรรมนิยามหรือธรรมนิยาม.. ที่สัมพันธ์กับจิตนิยาม...

พื้นฐานของคนในสังคมวิถีพุทธดั้งเดิมจึงไม่ต้องมานั่งเสียเวลาอธิบายกันให้เมื่อยปากว่า อะไรดี อะไรไม่ดี สิ่งใดควรทำ หรือ สิ่งใดไม่ควรทำ ด้วยการมีทิฏฐิที่ตรง.. ไม่มีความเห็นผิดไปจากธรรม.. ด้วยความเข้าใจในกฎธรรมชาติ.. จึงสามารถพัฒนาชีวิตให้อยู่ร่วมกับสังคม สิ่งแวดล้อมในธรรมชาติได้อย่างเป็นคุณ .. ไม่เป็นโทษต่อกันด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามธรรม.. โดยยึดหลักเข้าใจเรา-เข้าใจเขา.. เข้าใจธรรม.. เข้าใจธรรมชาติ เป็นหลักการศึกษาเพื่อชีวิตที่แท้จริง... เพื่อการเข้าถึงความจริงแท้ในชีวิต.. ที่เรียกว่า ธรรม.. ธรรมชาติ

ดังนั้น ชีวิต .. ธรรม .. ธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องราวเดียวกันที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้เลย สังคมของมนุษยชาติจึงรุ่งเรืองในอารยธรรม ด้วยการเจริญสติปัญญาทุกขณะจิต เพื่อการสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้น เพื่อดุลยภาพของชีวิตที่ต้องเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติผ่านกระบวนการธรรม... พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสั่งสอนให้เราทั้งหลาย มีสติอยู่ที่การรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ทุกขณะ อย่าได้ขาดตอน.. เพื่อการเห็นแจ้งชัดในธรรมที่อยู่ในสายลม ซึ่งก็คือชีวิต .. ด้วยเป็นสายลมแห่งจิตวิญญาณที่ดำเนินไปตามกระแส.. เพื่อความเข้าใจในเบื้องต้นของธรรมที่เรียกว่า สภาวธรรม และนำสู่ความเข้าใจในขั้นสูงแห่งธรรมที่เรียกว่า ปรมัตถธรรม เพื่อบรรลุการเข้าใจในขั้นอันเป็นที่สุดแห่งธรรมที่เรียกว่า อริยสัจธรรม (อันมีเฉพาะในพุทธศาสนาเราเท่านั้นที่สั่งสอนธรรมอันเป็นที่สุดนี้)

ความรู้ ความเข้าใจ ในชีวิต .. อันเป็นไปตามความเป็นธรรมดาที่มีอยู่ในธรรมชาติ.. จึงเป็นความรู้ในความจริงที่ควรรู้ ซึ่งเป็นความรู้ตรงตามธรรม.. ซึ่งเป็นไปตามปกติของธรรมที่เรียกว่า สามัญธรรม อันแสดงความเป็นธรรมดาสามัญว่า.. สิ่งทั้งหลายต้องเป็นอย่างนี้ .. จะไม่แปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเลย... ได้แก่ ความไม่เที่ยง ความทุกข์ และความไม่มีตัวตนเที่ยงแท้ .. ที่เรียกว่า อนัตตา.. ความรู้ ความเข้าใจ ในการเข้าถึงความจริงที่เป็นธรรมดาดังกล่าวได้ด้วยการเจริญสติปัญญา ก่อเกิดกระบวนการวิปัสสนาญาณ จึงจะเรียกได้ว่ามีปัญญาในพระพุทธศาสนา .. อันสามารถดับกรรมทั้งหมดให้สิ้นไปได้จริง .. อันเป็นไปตามกระบวนการวิปัสสนาญาณเท่านั้น.. ที่มีการศึกษาปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้อย่างไม่ยากนัก ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ดีแล้ว ดังปรากฏอยู่ในเฉพาะพระพุทธศาสนา ที่สาธุชนควรเข้าใจ เพื่อนำไปปฏิบัติได้จริง ๆ... เพื่อจะได้ผลจริง ๆ... เพื่อจะได้เข้าถึงความจริงที่เป็นจริง.. และเป็นความจริงที่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นโทษ สามารถดับโทษทุกข์ภัยได้จริง.. เมื่อเข้าถึงความจริงอันสูงสุด... ที่เรียกว่า ความจริงอันประเสริฐในศาสนาพุทธของเรา.. 

ซึ่งหากเราสามารถนำทุกคนคืนกลับสู่การศึกษาเพื่อชีวิตที่ถูกต้องได้จริงตามที่กล่าวมา ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ประเทศชาติของเรา... แม้ในสังคมโลก ย่อมจักจบสิ้นได้ ไม่ต้องมาทุกข์ใจ คับแค้นใจกันอยู่อย่างทุกวันนี้.. ที่มีแต่เรื่องราวภาพข่าวอันมากไปด้วยความไร้สาระ.. จนติดกับอยู่กับเรื่องราวเหล่านั้น.. ให้เป็นปัญหาของชีวิตในทุก ๆ คน ไม่ว่าจะแบ่งไปอยู่ข้างใด ฝ่ายใด ก็มีแต่ปัญหา.. ด้วยการไม่ยอมเข้าใจในชีวิต.. ในธรรม.. และในธรรมชาติ... !!

เจริญพร

[email protected]