ความท้าทายของ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล

ความท้าทายของ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล

สังคมให้ความสนใจว่าภายหลังการปรับ ครม. และบทบาทนายกรัฐมนตรีในหัวหน้าทีมเศรษฐกิจจะสามารถพาประเทศผ่านช่วงเวลายากลำบากทางเศรษฐกิจไปได้หรือไม่

การปรับคณะรัฐมนตรีล่าสุดแม้จะไม่พลิกโผมากนักเนื่องจากบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีใหม่ใน“ครม.ประยุทธ์ 2/2” ต่างก็เป็นรายชื่อที่ปรากฏตามหน้าสื่อไปก่อนหน้านี้

ตำแหน่งที่ดูจะผิดไปจากการคาดหมายบ้างก็คือ "คุณปรีดี ดาวฉาย"จากเดิมที่ได้รับการคาดหมายว่าจะนั่งตำแหน่งรองนายกฯ ควบรมว.คลังอีกตำแหน่ง แต่ปรากฎว่านั่งตำแหน่ง รมว.คลังเพียงตำแหน่งเดียว ขณะที่เก้าอี้รองนายกฯตกเป็นของ "คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์" ที่นั่งควบตำแหน่งรองนายกฯและรมว.พลังงานอีกตำแหน่ง

ความน่าสนใจจึงอยู่ที่การวางตำแหน่งของ รมว.และรองนายกฯ ในส่วนโควต้าของนายกรัฐมนตรี เพราะนอกจากเป็นการเปลี่ยนตัวบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารงานในกระทรวงเศรษฐกิจอย่างคลังและพลังงานแล้ว

การไม่มีรองนายกฯที่กำกับดูแลกระทรวงการคลังโดยตรงเหมือนที่ผ่านมา จึงเป็นทั้งคำถามและคำตอบว่าการประสานนโยบายการคลังซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพยุงและพลิกฟื้นเศรษฐกิจต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร แต่การจัดวางตำแหน่งดังนี้ก็เท่ากับเป็นคำตอบด้วยว่าในระยะต่อไปบทบาทของพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจะชัดเจนมากขึ้น

เป็นที่ทราบกันดีว่าสภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดยังอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่าสาหัส ฟังจากน้ำเสียงของพล.อ.ประยุทธ์ ที่กล่าวปาฐกถาในงานครบรอบ 74 ปีของ นสพ.บางกอกโพสต์ความตอนหนึ่งบ่งบอกถึงความหนักใจที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไปว่า

“วิกฤตครั้งนี้หนัก และไม่เหมือนกับทุกครั้ง (ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ 2551) กว่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาได้ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี”

ส่นวมุมมองของภาคเอกชนในเวทีการประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาคเอกชนต่างสะท้อนความเป็นห่วงที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศว่าเต็มไปด้วยความ“เปราะบาง”หลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การบริโภคของประชาชน ภาคการท่องเที่ยวยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวในระยะสั้น แนวโน้มของธุรกิจที่จะมีการปลดลดคนงานยังมีอีกเป็นจำนวนมาก ชีพจรของเอสเอ็มอีที่แผ่วเบา ล้วนแต่เป็นโจทย์ใหญ่ที่กำลังรอมาตรการเร่งด่วนจากภาครัฐให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาทั้งสิ้น

การสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจถือว่าเป็นโจทย์สำคัญที่พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจต้องเร่งทำด้วยเช่นกัน โดยความเชื่อมั่นที่ต้องทำให้เห็นก่อนเรื่องอื่นๆคือการจัดองคาพยพของทีมเศรษฐกิจทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น รมว.จากพรรคพลังประชารัฐ ,รมว.กระทรวงเศรษฐกิจที่อยู่ในการดูแลของพรรคร่วม

รวมไปถึงหน่วยงานสำคัญทางด้านเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ระหว่างผลัดใบ เปลี่ยนผู้บริหารใหม่แทนคนเก่าที่เกษียณและหมดวาระ ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ,เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และปลัดกระทรวงการคลังคนใหม่ที่จะเข้ามาทำงานในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการผลักดัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศทั้งสิ้น 

...บทบาทพล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจจึงเต็มไปด้วยโจทย์ใหญ่ที่ยาก และท้าทาย ไม่ว่าจากนโยบายเศรษฐกิจที่ต้องถูกต้อง ทันเวลา รวมถึงต้องสามารถประสานงาน สั่งการส่วนต่างๆให้เศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันได้เพื่อให้เกิดพลังในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างแท้จริง

159681383114