สงครามไซเบอร์ยุโรปจะแบน TikTokไหม

สงครามไซเบอร์ยุโรปจะแบน TikTokไหม

สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ยิ่งเข้มข้นขึ้นทุกวัน การแข่งขันในยุคดิจิทัลไม่ใช่เรื่องการฟาดฟันกันในการค้าสินค้าเพียงอย่างเดียว

แต่การแข่งขันด้านเทคโนโลโยและสงครามด้านไซเบอร์เทคโนโลยีเป็นเกมส์ที่ไม่มีใครยอมใคร ในยุคดิจิทัลใครเป็นเจ้าของเทคโนโลยีใหม่ได้ก่อน ใครเป็นเจ้าของข้อมูลได้มากกว่า ก็ย่อมมีโอกาสเป็นผู้นำโลก ยังไม่นับรวมถึงการแข่งขันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างหุ่นยนต์ AI รถที่ขับเคลื่อนเองได้ หรือเมืองและโลกใหม่ในอนาคต แต่จีนและสหรัฐฯขับเคี่ยวกันมากในทุกๆ เทคโนโลยี รวมถึงเทคโนโลยี 5G สำหรับสัญญาณโทรศัพท์มือถือและการพัฒนา Application ดังๆ อีกมากมาย

ล่าสุด เมื่อต้นเดือน ส.ค. 2563 นี้ ประธานาธิบดี Donald Trump ของสหรัฐฯ ออกมาประกาศว่าจะแบน ApplicationTikTokของจีน ในสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลที่ว่ามีความเสี่ยงต่อความมั่นคง(ด้านข้อมูล) ของสหรัฐฯ เพราะกลัวว่าบริษัท ByteDance เจ้าของ TikTokจะนำข้อมูลของผู้ใช้สหรัฐฯ ไปส่งต่อให้รัฐบาลจีน ไม่น่าแปลกใจกับท่าทีแข็งกร้าวของสหรัฐฯ ต่อจีนในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ยุโรปหละ จะแบน TikTokตามสหรัฐฯ ด้วยไหม และมีท่าทีอย่างไรในสงครามเทคโนโลยีครั้งนี้

ยุโรปห่วงเรื่องความมั่นคงด้านไซเบอร์อยู่ไม่น้อย แต่ไม่ได้มีท่าทีแข็งกร้าวและต่อต้านจีนมากเท่าสหรัฐฯ โดยยุโรปยังเดินหน้าการสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบด้านความมั่นคงปลอดภัยในโลกไซเบอร์ของตนและไม่มีแนวโน้มจะแบน TikTok หรือ Application อื่นๆ ของจีน ในยุโรป ในขณะเดียวกัน TikTok ก็พยามให้ความร่วมมือและความโปร่งใสกับยุโรป ผ่านทำงานกับอียูในการเป็นส่วนหนึ่งของ Code of Practice on Disinformation ของอียูในเรื่องนโยบายต่อต้านข้อมูลลวง ที่บริษัทสหรัฐฯ อย่าง Google Facebook และ Twitter ก็ร่วมลงนามด้วย

ยุทธศาสตร์และกฎหมายด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของอียู

แทนที่จะประกาศเป็นสงครามไซเบอร์ ยุโรปมองเรื่องนี้เป็นยุทธศาสตร์และนโยบายการทูตด้านไซเบอร์มากกว่า เพื่อโอบล้อมให้ประเทศต่างๆ ยอมรับบทบาทนำและกฎระเบียบด้านความมั่นคงด้านไซเบอร์ของยุโรป โดยอียูได้เปิดตัวยุทธศาสตร์และนโยบายการทูตด้านไซเบอร์หรือ EU Cyber Diplomacy เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของอียูที่จะเป็นผู้นำนโยบายด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลก

อียูได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 และตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 เป็นต้นมา อียูก็เริ่มมีบทบาทชัดเจนมากขึ้นในการปกป้องประชาชนยุโรปจากภัยคุกคามด้านไซเบอร์ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของระบบเครือข่าย(คอมพิวเตอร์) และข้อมูล(network and information security) และการปกป้องสิทธิ์ของประชาชนออนไลน์

ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและปลอดภัยไซเบอร์ของยุโรป เน้นเป้าหมายหลัก 5 ประการ ได้แก่

- เพิ่ม cyberResilence ซึ่งหมายถึงความสามารถในการเตรียมตัว ตอบรับ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง/การบุกรุก/การโจมตี

- ลด cybercrime หรือภัยคุกคาม

- พัฒนา EU cyber defence policy and capabilities หรือนโยบายและความสามารถในด้านการกลาโหม อันอยู่ในกรอบของนโยบาย Common Security and Defence Policy (CSDP) ของอียู

- พัฒนาทรัพยากรด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่สนับสนุนความมั่นคงและปลอดภัยไซเบอร์

- สร้างนโยบายต่างประเทศด้านไซเบอร์สเปสส์ที่เป็นหนึ่งเดียวของอียู และส่งเสริมแนวคิดแบบยุโรป

EU Cyber Security Actจะเพิ่มบทบาทของ EU Cybersecurity Agency ที่จะช่วยประเทศสมาชิกในการจัดการกับการโจมตีและภัยคุกคามด้านไซเบอร์ และกำหนดให้มีการใช้ European certification scheme ที่จะกำหนดให้สินค้าและบริการในโลกดิจิทัลของยุโรปมีระดับความปลอดภัยทีกำหนดโดยอียู

ในขณะที่กฎหมายและกฎระเบียบในยุโรปเริ่มเข้มข้นและเป็นระบบขึ้น ยุโรปเดินหน้านโยบายการทูตด้านไซเบอร์ไปพร้อมๆ กัน คือเน้นการสร้างเครือข่ายและการหารืออย่างกว้างขวางกับประเทศและภูมิภาคพันธมิตร ทั้งภาครัฐและองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐทั่วโลก อาทิ บราซิล จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ รวมทั้งในอเมริกาใต้ และเอเชีย เพื่อสร้างและสนับสนุนความร่วมมือและปรับใช้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศด้านไซเบอร์สเปสส์ และส่งเสริมการสร้างบรรทัดฐานระหว่างประเทศ (ของภาครัฐที่รับผิดชอบ) ในการจัดการกับการโจมตีและภัยคุกคามในโลกอินเตอร์เน็ต ที่เกิดขึ้นอยู่เป็นล้านๆ ครั้ง ตลอดเวลา ที่เราออนไลน์

[ ดร. อาจารี ถาวรมาศ เป็นผู้บริหารบริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปสำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.euหรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd ]