ตลาดหุ้นไทยได้ไปต่อ หรือต้องพักบ้าง ?

ตลาดหุ้นไทยได้ไปต่อ หรือต้องพักบ้าง ?

SET index ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ว่าจะปรับขึ้นได้ต่อเนื่องหรือจะต้องพักฐานบ้าง

SET index หลังจากที่รีบาวด์ขึ้นมากตั้งแต่หลังเกิดวิกฤตโควิด-19 และลงไปทำจุดต่ำสุดในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดเริ่มเข้าสู่การ Sideway เพื่อรอปัจจัยบวก-ลบ เพิ่มเติมที่จะเป็นตัวชี้วัดแนวโน้มของดัชนี SET index ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ว่าจะปรับขึ้นได้ต่อเนื่องหรือจะต้องพักฐานบ้าง หลังจากที่รีบาวด์ขึ้นมาแรง ขณะที่ปัจจัยด้านภาวะเศรษฐกิจยังอ่อนแอ สำหรับบทความฉบับนี้ผมจะขอนำเสนอโมเดลใหม่สำหรับการพิจารณาเรื่อง Momentum ของตลาดหุ้นไทยเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการลงทุนควบคู่ไปกับการพิจารณาด้านปัจจัยพื้นฐาน

ในบทวิเคราะห์เชิงปริมาณของฝ่ายวิจัยฯ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) 'Quantamental' ในวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ผมได้นำเสนอโมเดลใหม่ 'Cross-Asset Class Momentum' เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาลงทุนร่วมกับโมเดลด้าน Valuation ซึ่งผมได้ทำการทดสอบแล้วว่าเมื่อนำโมเดลทั้ง 2 ด้าน (Valuation และ Momentum) มาพิจารณาร่วมกันจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนเมื่อพิจารณาร่วมกับความเสี่ยง (ความผันผวนของอัตราผลตอบแทน) แล้วให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดฯอย่างชัดเจน ... หากให้ผมอธิบายเป็นภาษาพูดแบบง่ายๆ การพิจารณา Valuation จะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการ 'ติดดอย' (อันเนื่องจากราคาหุ้นแพงเกินไป) และการพิจารณาด้าน Momentum จะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการ 'ขายหมู' (อันเนื่องจากกระแสเงินทุนยังไหลเข้าไม่หยุด) ... 

ในอดีตทฤษฎีเรื่องของ Momentum มีหลักการคือ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในอดีตสามารถใช้พยากรณ์อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในอนาคตได้ และสรุปได้เป็น 3 รูปแบบ คือ i) Short-term Contrarian: อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นระยะสั้น (มักใช้ช่วงเวลา 1 สัปดาห์หรือ 1 เดือน) จะเป็นลบกับอัตราผลตอบแทนในอนาคตอันใกล้ (ผลของ Over-reaction เช่น หุ้นที่ขึ้นแรงในสัปดาห์ก่อนมักจะให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีในสัปดาห์นี้ เป็นต้น), ii) Medium-term Momentum: อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นระยะกลาง (มักใช้ช่วงเวลา 3 เดือน-12 เดือน) กล่าวคือ ผลของ Under-reaction เช่น หุ้นปรับขึ้นมาตอบสนองข่าวบวกแล้วแต่ยังไม่เต็มมูลค่าจากปัจจัยบวกนั้น ทำให้เกิดแนวโน้มขาขึ้น - ขาลง ของราคาหุ้น, และ iii) Long-term Contrarian: อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นระยะยาว (มักใช้ช่วงเวลา 3-5 ปี) กล่าวคือ หุ้นที่ขึ้นมามาก (ลงมามาก) ในช่วง 3 - 5 ปี มีโอกาสที่ จบแนวโน้มขาขึ้น (ฟื้นตัวจากแนวโน้มขาลง) เนื่องจากปัจจัยเรื่องของวัฏจักรธุรกิจ เป็นต้น แต่สำหรับแนวคิดเรื่องของ CAC ที่เพิ่งถูกนำเสนอในบทความทางวิชาการ Cross-asset signals and time series momentum วารสาร Journal of Financial Economics ปี 2563 พบประเด็นใหม่คือ อัตราผลตอบแทนในอดีตของตลาดพันธบัตรสามารถนำมาใช้พยากรณ์อัตราผลตอบแทนจากตลาดหุ้นได้ และจากการศึกษาโดยใช้ข้อมูลประเทศไทยตั้งแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบัน พบว่าหากอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยย้อนหลัง 12 เดือนเป็นบวก (ลบ) อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนใน SET index เดือนถัดไปมักจะเป็นบวก (ลบ) ซึ่งในบทความทางวิชาการข้างต้น สรุปว่าเป็นของการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างช้าๆระหว่าง 2 ตลาด ซึ่งผมประเมินว่าอาจเป็นผลจากการ Re-balance ของกองทุนประเภทกองผสม ที่มีทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นแนวโน้มลดลง (เพิ่มขึ้น) ทำให้ราคาพันธบัตรปรับขึ้น (ปรับลง) อย่างช้าๆ ทำให้จำเป็นต้องมีการ Re-balance โดยการเพิ่ม (ลด) สัดส่วนการซื้อหุ้นของกองทุนประเภทกองผสมนั่นเอง ทั้งนี้จากข้อมูลล่าสุดอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยย้อนหลัง 12 เดือนยังเป็นบวกเฉลี่ย 0.6% ต่อเดือน สะท้อนจากข้อมูลสถิติว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะยังไม่เป็นขาลงอย่างน้อยในเดือน ส.ค.นี้ 

อย่างไรก็ดีดัชนี SET index เดือน ส.ค. จะมีความผันผวนจะมากขึ้นจากปัจจัยต่างๆ อาทิ i) ปัจจัยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากฝั่งสหรัฐฯที่อาจมีทั้งปัจจัยบวก-ลบ สลับไปมา เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (เพิ่มเติม), ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน เป็นต้น, ii) การรายงานผลการดำเนินงาน 2Q63 ของบริษัทจดทะเบียนไทยที่จะทยอยรายงานสิ้นสุดในกลางเดือน ส.ค.นี้ อย่างไรก็ดี หากตัดหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ผลการดำเนินงาน 2Q63 แย่กว่าคาดมากแล้ว หุ้นกลุ่ม Real sector ที่ทยอยรายงานจนถึงล่าสุดที่ผมเขียนบทความฉบับนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าคาด, และ iii) ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในเดือนนี้คือ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดใหม่ ว่าจะมีการสานต่อนโยบายต่างๆ หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใดบ้าง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อ การลงทุนในหุ้นกลุ่มต่างๆ ทั้งบวก - ลบ อย่างไรก็ดีผมเชื่อว่าโครงการหลักๆของรัฐบาล อาทิ โครงการอีอีซี, โครงการลงทุนสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ต่างๆ น่าจะยังเดินหน้าต่อ ขณะเดียวกันปัจจัยสภาพคล่องที่ยังล้นตลาดการเงินน่าจะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีแรงซื้อกลับหากมีการพักฐานในระหว่างเดือน ส.ค.