กลไกความปลอดภัยทางถนนของไทย กับการแก้โจทย์ต่างคนต่างทำ

กลไกความปลอดภัยทางถนนของไทย กับการแก้โจทย์ต่างคนต่างทำ

ฐานข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้อมูลบูรณาการการเสียชีวิต 3 ฐาน

และข้อมูลจากรายงานขององค์การอนามัยโลก ต่างพบแนวโน้มเดียวกันว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลบูรณาการการเสียชีวิต 3 ฐาน ปี2554มีผู้เสียชีวิต 21,996 ราย ลดลงเหลือ 19,904 ราย ในปี 2562 และหากพิจารณาเฉพาะฐานข้อมูลสถิติอุบัติเหตุจราจรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีการจัดเก็บมาก่อนฐานอื่นๆ พบว่า ปี 2546 พบผู้เสียชีวิต 14,012 คน และลดลงเหลือ 8,648 คน ในปี 2562 คิดเป็นลดลง 38.3% นับว่าการทำงานของภาคีเครือข่ายทั่วประเทศในเรื่องนี้ไม่สูญเปล่า

คน รถ ถนน และสภาพแวดล้อม ถือเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุโดยเฉพาะพฤติกรรมการขับขี่ของคน ข้อมูลศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ที่วิเคราะห์จากฐานข้อมูลของตำรวจ สาธารณสุข และประกันภัย พบตรงกันว่าคน เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ” ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ในบ้านเรายังต้องจับมือกันอย่างเหนียวแน่นเพื่อทำงานเรื่องการปรับพฤติกรรมคนอีกมาก โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ให้ข้อแนะนำในการทำงานลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนไว้ว่า ขอให้ทุกประเทศยึดแนวทาง 5 เสาหลัก เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ประกอบด้วย 1) การบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน 2) ถนนและการสัญจรอย่างปลอดภัย 3) ยานพาหนะปลอดภัย 4) ผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย และ 5) การตอบสนองหลังเกิดอุบัติเหตุทางถนน จากแนวทาง 5 เสาหลักนี้ จะเห็นว่ามีหน่วยงานหลักที่ต้องรับผิดชอบและดำเนินการร่วมกันหลายหน่วยงาน ทั้งนี้ สสส. มีกลไกขับเคลื่อนการทำงานความปลอดภัยทางถนน 6 ด้านสำคัญ ได้แก่

1) สนับสนุนกลไกการทำงานเพื่อการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนทั้งในระดับชาติ จังหวัด และระดับพื้นที่ โดยเฉพาะชุมชนและท้องถิ่นให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2) สนับสนุนข้อมูลวิชาการ การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล จัดทำคู่มือทำงานให้แก่ภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อหน่วยงานหลักและคณะกรรมการชุดสำคัญร่วมผลักดันให้เกิดมาตรการ นโยบาย สำคัญที่จะช่วยลดอุบัติเหตุทางถนนต่อเนื่องตลอดทั้งปี

3) สื่อสารรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อกระแสหลัก-กระแสรอง และรณรงค์ผ่านเครือข่ายลดอุบัติเหตุ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน โดยการสื่อสารสังคมนั้น สสส. ดำเนินการตลอดทั้งปี แต่ได้เพิ่มการรณรงค์ให้เข้มข้นยิ่งขึ้นในช่วง “7 วันอันตราย” รวมถึงเป็นสื่อกลางช่วยถ่ายทอดนโยบายจากส่วนกลางไปสู่ระดับภูมิภาคและพื้นที่

4) ขยายภาคีเครือข่ายความร่วมมือ สสส. ร่วมพัฒนาระบบพี่เลี้ยงจากการประสาน 5 เสาหลักการทำงานด้านอุบัติเหตุ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข บูรณาการการทำงานและประสานเครือข่ายท้องถิ่น ประชาสังคม จนกลายเป็นแนวร่วมและแนวราบที่เข้มแข็ง เกิดเป็นเครือข่าย อาทิ เครือข่ายสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) เครือข่ายลดอุบัติเหตุ มูลนิธิเมาไม่ขับ ชมรมคนห่วงหัว เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ ฯลฯ

5) ร่วมสนับสนุนการพัฒนาระบบฐานข้อมูลอุบัติเหตุของประเทศ บูรณาการข้อมูลจากตำรวจ โรงพยาบาล บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัย ร่วมกับข้อมูลมรณบัตร ซึ่งการมีระบบการรายงานข้อมูลที่ดี จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริงได้

6) สนับสนุนการพัฒนานโยบาย ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาคต่างๆ เพื่อพัฒนาให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างมีประสิทธิภาพ มีข้อมูลความเสี่ยงประกอบการตัดสินใจบังคับใช้กฎหมายและดำเนินการในเชิงป้องกัน

นอกจากนี้ ในช่วงปี 2561-2562 สสส.ได้สนับสนุนการดำเนินงานความปลอดภัยทางถนนนำร่องใน 18 จังหวัดต้นแบบ ผลจากการขับเคลื่อนทำให้ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงได้อย่างมีนัยสำคัญในหลายจังหวัด โดยเฉพาะแพร่ ตาก ราชบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ข้อมูลจากคณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจร และ ศปถ.จังหวัด ณ วันที่ 11 ก.พ. 2563 พบว่าปี 2561ใน6จังหวัดดังกล่าวมียอดผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนรวม 50,605 ราย แต่ปี 2562 ลดเหลือ 50,138 ราย(ลดลงไป 467 ราย) ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการช่วยลดมูลค่าความเสียหายจากการบาดเจ็บ 57.5 ล้านบาท (มูลค่าการบาดเจ็บต่อรายเท่ากับ 123,245 บาท) ขณะที่มียอดผู้เสียชีวิต2,120ราย แต่ในปี2562ลดเหลือ1,956 ราย(ลดลงไป164ราย)ช่วยลดมูลค่าเสียหายจากการเสียชีวิตคิดเป็นมูลค่าได้ 649.3 ล้านบาท (มูลค่าการเสียชีวิตต่อรายต่ำสุด 3,959,387 บาท)

ก้าวต่อไป สสส. กำลังขับเคลื่อนการสนับสนุนกลไกความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ ได้ดำเนินการตามนโยบาย ตำบลขับขี่ปลอดภัยของกระทรวงมหาดไทย ในโจทย์นี้หากเราได้ชุมชนเข้ามามีบทบาทร่วมกันตั้งเป้าลดตายจากอุบัติเหตุตำบลละ 1คน จะทำให้ลดการตายได้ปีละกว่า 7,000คน สถิติโลกที่เราครองอยู่อันดับต้นๆ ก็จะลดตามไปด้วย.

โดย...

น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ

ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม (สสส.)