บิดเบือนประเด็นหรือสงครามเย็นไม่น่าต่างกัน

บิดเบือนประเด็นหรือสงครามเย็นไม่น่าต่างกัน

ในช่วงนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามขัดขวางการเจรจาระหว่างบริษัทไมโครซอฟท์ ยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีของสหรัฐ

กับบริษัทสัญชาติจีนไบท์แดนซ์ เจ้าของโปรแกรมวีดิทัศน์ “ติ๊กต๊อก” ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย นายทรัมป์ใช้ความมั่นคงของประเทศเป็นข้ออ้างซึ่งไม่ใช่เหตุผลใหม่เพราะสหรัฐใช้มานานเมื่อไม่ต้องการให้ต่างชาติซื้อกิจการใหญ่ๆ ในสหรัฐ หรือยับยั้งเทคโนโลยีที่ผู้อื่นพัฒนาออกหน้าสหรัฐไปแล้ว เช่น ระบบจี-5

มีคำถามตามมาว่า นายทรัมป์ทำเช่นนั้นเป็นการปกป้องประเทศของตน หรือเป็นกลยุทธ์ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ย. พฤติกรรมของนายทรัมป์ ทำให้เกิดคำถามทำนองนี้มาหลายเดือนแล้ว หลังจากการสำรวจความเห็นของชาวอเมริกันโดยสำนักต่างๆ สรุปตรงกันอย่างต่อเนื่องว่า นายทรัมป์ตามคู่แข่งไกลมากและน่าจะแพ้การเลือกตั้งอย่างแน่นอน เหตุผลใหญ่ที่ชาวอเมริกันหันไปนิยมคู่แข่งของนายทรัมป์ มิใช่ความโดดเด่นของคู่แข่ง หากเป็นความโหลยโท่ยของนายทรัมป์เองซึ่งล่าสุดแสดงออกมาทางความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการสู้กับไวรัสโควิด-19 เมื่อเปรียบเทียบกับชาวโลก รวมทั้งประเทศซึ่งก้าวหน้าทางเทคโนโลยีน้อยกว่าสหรัฐ เช่น ไทย

นายทรัมป์จึงจำต้องหาวิธีบิดเบือนความสนใจของชาวอเมริกันแม้กลยุทธ์บางอย่างอาจจะสร้างความเสียหายร้ายแรงก็ตาม ภายในประเทศ เมื่อไม่นานมานี้นายทรัมป์พยายามทำสิ่งที่ไม่มีประธานาธิบดีคนใดทำมาก่อนและอาจขัดรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ เช่น ส่งทหารเข้าไปในเมืองต่างๆ โดยอ้างว่า การประท้วงโดยสันติวิธีซึ่งกำลังมีอยู่ทั่วสหรัฐ หลังจากตำรวจผิวขาวฆ่าชาวอเมริกันผิวดำอย่างเลือดเย็นจะนำไปสู่การก่อจราจล ส่วนภายนอกประเทศ การทะเลาะกับจีนมองได้ว่าเป็นกลยุทธ์เบี่ยงเบนความสนใจ เพราะย้อนไปไม่นานนายทรัมป์แสดงความเป็นมิตรอย่างแนบชิดกับจีนถึงกับเชิญประธานาธิบดี สี จิ้นผิงไปยังสนามกอล์ฟของตน นอกจากนั้น ยังมีการกระทำบางอย่างที่มองได้ว่ายั่วอารมณ์อิหร่าน เช่น การให้เครื่องบินรบบินประกบเครื่องบินพาณิชย์ของอิหร่านแบบแทบจะกระทบกัน

อย่างไรก็ดี ท่าทีและนโยบายของนายทรัมป์อาจมองได้ว่าเป็นกลยุทธ์ของสงครามเย็นเพราะสงครามเย็นมิได้ยุติลงหลังสหภาพโซเวียตแตกสลายดังที่เข้าใจกัน ย้อนไปไม่นาน ชาวโลกส่วนใหญ่เชื่อกันว่าสงครามเย็นระหว่างมหาอำนาจได้ยุติลงและต่อไปโลกจะรุ่งโรจน์มากจากศักยภาพของเทคโนโลยีที่สามารถลบพรมแดนระหว่างประเทศได้ แต่หลังเวลาผ่านไปไม่นาน ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมองว่า ความเชื่อนั้นมิได้วางอยู่บนฐานของความเป็นจริง ทั้งนี้เพราะมหาอำนาจยังพยายามจะเอาชนะกันและเทคโนโลยีดิจิทัลที่เชื่อกันว่าจะช่วยลบพรมแดนนั้นถูกใช้เป็นอาวุธหลักของสงครามเย็นเสียมากกว่า จะเห็นว่าเมื่อไม่นานมานี้ นายทรัมป์ได้สั่งให้ก่อตั้งกองกำลังใหม่ซึ่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอาวุธ

การก่อตั้งกองกำลังดังกล่าวเป็นเสมือนการยอมรับว่า สหรัฐต้องการใช้อาวุธดิจิทัลและคิดว่ามหาอำนาจอื่นก็จะใช้เช่นกัน อันที่จริงเป็นที่สงสัยกันมานานแล้วว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของอิหร่านนั้น มาจากการใช้อาวุธดิจิทัลของสหรัฐ ความตระหนักว่า ผู้อื่นมีศักยภาพที่จะทำลายตนได้ไม่ต่ำกว่าตนทำลายเขา ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากเริ่มวิตกว่า อาวุธที่ไม่มีตัวตนให้มองเห็นได้นั้นอาจทำลายปัจจัยพื้นฐานของตนจนเศรษฐกิจและชีวิตประจำวันเป็นง่อย เช่น ทำลายระบบการสื่อสาร ระบบไฟฟ้าและระบบน้ำประปาซึ่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นปัจจัยพื้นฐาน หรือไม่ก็ในการดำเนินการทุกขั้นตอน

ไม่ว่าแรงจูงใจของนายทรัมป์จะเป็นการบิดเบือนประเด็นหรือการทำสงครามเย็นซึ่งไม่เคยยุติ สิ่งที่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเดินตามหลังทางเทคโนโลยีจะต้องตระหนักยังคงเดิม นั่นคือ ต่อไปผู้รุกรานซึ่งอาจเป็นประชาชนของตนเองเพียงคนเดียวที่มีความสามารถสูงทางการใช้เทคโนโลยีร่วมสมัยแต่มีใจต่ำทราม หรือเคียดแค้นรัฐอาจทำลายประเทศได้โดยรัฐบาลไม่รู้ว่าใครทำ ด้วยเห็นนี้ เงินที่ใช้ซื้อเรือดำน้ำและเครื่องบินรบเก่าๆ ควรเอาไปใช้พัฒนาศักยภาพด้านการป้องกันการถูกทำร้ายด้วยอาวุธดิจิทัลให้แน่ใจว่าทำได้แน่นอนเสียก่อน