e-Withholding Tax น่ารู้.เพื่อผู้ประกอบการวิถีใหม่ New Norml

e-Withholding Tax น่ารู้.เพื่อผู้ประกอบการวิถีใหม่ New Norml

ภายใต้วิถีใหม่ (New Normal) ที่ทุกภาคส่วนต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบทั้งการใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจไปพร้อมกัน

รวมไปถึงหน่วยงานของภาครัฐอย่างกรมสรรพากรก็ได้มีการนำมาตรการทางภาษีเพื่อปรับเปลี่ยนบริการในรูปแบบใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เสียภาษีในยุค New Normal มากยิ่งขึ้น e-Withholding Tax เป็นหนึ่งในบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากรที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้อยู่ในกระบวนการ “เสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย” เป็นอีกตัวช่วยที่น่าสนใจเพื่อการบริหารจัดการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ทั้งผู้หักภาษี (ผู้จ่ายเงิน) และผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (ผู้รับเงิน) ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนาระบบงานและเทคโนโลยีทางการเงินที่เพิ่มความง่าย สะดวก ลดขั้นตอนการหักภาษี ณ ที่จ่าย และยังช่วยลดต้นทุนในการจัดทำเอกสารรับรองการหัก ณ ที่จ่าย (มาตรา 50 ทวิ)

โดยธนาคารถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการ e-Withholding tax เนื่องจากธนาคารจะเป็นผู้มีหน้าที่รับและโอนเงินภาษีต่อไปยังกรมสรรพากรรวมถึงจะต้องจัดทำข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ทั้งกับกรมสรรพากรและผู้รับเงิน (หรือคู่ค้า) อีกด้วย

ตัวอย่างเช่น ผู้จ่ายเงินแจ้งยอดเงินที่โอนและยอดภาษี หัก ณ ที่จ่ายให้กับธนาคารแล้ว ธนาคารมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามยอดที่แจ้ง และนำส่งเงินภาษีที่ผู้จ่ายเงินได้ชำระไว้ให้กรมสรรพากร และธนาคารจะโอนเงิน (ยอดหลังหักภาษี ณ ที่จ่าย) พร้อมทั้งแจ้งข้อมูลการถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับผู้รับเงิน อีกทั้ง ธนาคารจะต้องจัดทำข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ทั้งกับกรมสรรพากรและผู้รับเงิน (หรือคู่ค้า) ด้วยโดยผู้หักภาษี(ผู้จ่ายเงิน) และผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (ผู้รับเงิน) สามารถเข้าไปตรวจสอบหลักฐานที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องจัดเก็บเอกสารหลักฐานในรูปแบบกระดาษ

159664449447

อ้างอิง: เอกสารคู่มือ ใบกํากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์  https://www.rd.go.th/publish/seminar/Seminar_190628.pdf สืบค้นเมื่อ 23 ก.ค.2563

นอกเหนือจากประโยชน์ดังกล่าวแล้วผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (ผู้รับเงิน) หากถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายผ่าน e-Withholding Tax ยังได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากมาตรการภาษีที่กรมสรรพากรออกมาเพื่อช่วยผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ให้มีสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยสรุปเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ทางภาษีเบื้องต้น ของมาตรการคืนสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเป็นการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แบ่งเป็น

i) ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่มีอัตราร้อยละ 3 ให้เหลืออัตราร้อยละ 1.5 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินด้วยวิธีใดก็ได้ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2563 - 30 ก.ย.2563

ii) ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่มีอัตราร้อยละ 3 ให้เหลืออัตราร้อยละ 2 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินด้วยระบบ e-Withholding Tax ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563 - 31 ธ.ค.2564

ผู้จ่ายเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

- กรณีผู้รับเป็นบริษัทหรือห้างหุ่นส่วนนิติบุคคล เงินได้ที่ได้ลดอัตราคือ ค่านายหน้า ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าลิขสิทธิ์ ค่าวิชาชีพอิสระ ค่าจ้างทำของ ค่าบริการ รางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์จากการส่งเสริมการขาย

- กรณีผู้รับเป็นบุคคลธรรมดา เงินได้ที่ได้ลดอัตรา คือ ค่าวิชาชีพอิสระ ค่าจ้างทำของ ค่าบริการ รางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์จากการส่งเสริมการขาย

อ้างอิง: https://www.rd.go.th/publish/rdslide2/images/20200407_news0302.pdf สืบค้นเมื่อ 23 ก.ค.2563

ทั้งนี้ โปรดศึกษารายละเอียดตามกฎกระทรวงฉบับที่ 361 ออกตามความประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้และกฎหมายอื่นๆ ที่ประกาศเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง

สำหรับผู้ประกอบการท่านใดที่สนใจในบริการ e-Withholding Tax สามารถติดต่อผ่านสถาบันการเงินผู้ให้บริการ e-Withholding Tax ที่ได้รับการรับรองโดยกรมสรรพากร โดยตรวจสอบรายชื่อสถาบันการเงินที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองระบบแล้วที่ www.rd.go.th ตั้งแต่เดือนส.ค.2563 เป็นต้นไป