เรื่องควรรู้เกี่ยวกับเงินประกัน

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับเงินประกัน

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูงจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19

ระดับราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงก็กลับเป็นจังหวะและโอกาสในเข้ามาลงทุนของคนที่สนใจลงทุนในหุ้น ดังจะเห็นได้จากจำนวนบัญชีผู้ลงทุนใหม่ในช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นถึง 189,498 บัญชีในตลาดหุ้น และ 11,987 บัญชีในตลาด TFEX ซึ่งเติบโตมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึงประมาณ 3 เท่าและ 2 เท่าตามลำดับ (ครึ่งปีแรกของปี 2562 มีจำนวนบัญชีผู้ลงทุนใหม่ในตลาดหุ้น 64,436 บัญชี และ ในตลาด TFEX 5,916 บัญชี)

ผู้ลงทุนไทยส่วนใหญ่มักจะคุ้นชินกับการลงทุนในหุ้น ที่ในการลงทุนแต่ละครั้งจะต้องใช้เงินเต็มจำนวนเพื่อซื้อหุ้น เช่น หากผู้ลงทุนต้องการซื้อหุ้น PTT ที่ราคา 39 บาท เป็นจำนวน 10,000 หุ้น ก็จะต้องใช้เงินทั้งหมด 390,000 บาท ในทางกลับกัน หากเลือกใช้ Stock Futures ที่อ้างอิงกับหุ้น PTT ก็จะใช้เงินทุนที่น้อยกว่ามาก เนื่องจาก Futures หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้น เป็นการตกลงซื้อขายกันในวันนี้แต่ส่งมอบในอนาคต ผู้ลงทุนทั้งฝั่งซื้อและฝั่งขายจึงวางเงินวางหลักประกัน (Margin) โดยในตัวอย่างนี้ หากผู้ลงทุนต้องการลงทุนในหุ้น PTT จำนวน 10,000 หุ้น จะต้องซื้อ (Long) PTT Futures จำนวน 10 สัญญา (1 สัญญาเท่ากับ 1,000 หุ้น) โดยใช้เงินประกันที่เรียกว่ามาร์จิน (margin) เพียง 51,860 บาท หรือ 13.3% ของมูลค่าหุ้น

การที่การซื้อขายStock Futures นั้น ให้ผลเสมือนลงทุนในหุ้นแต่ใช้เงินทุนน้อยกว่า คนทำให้มีคนนิยมและเริ่มมาใช้ Stock Futures แทนการลงทุนหุ้นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อขาย Stock Futures นั้น ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจถึงกลไกและความเสี่ยงที่ตนเองรับจากการมีสถานะใน Futures รวมทั้งต้องรู้จักถึงการบริหารเงินประกันให้เหมาะสมด้วย

สิ่งแรกที่ผู้ลงทุนควรต้องทำความเข้าใจก่อนการซื้อขาย Futures คือ Exposure ของการลงทุน พูดง่ายๆ คือ ในการลงทุนในหุ้นผู้ลงทุนต้องใช้เงินลงทุนเต็มจำนวน ดังนั้น Exposure ของผู้ลงทุน จะเท่ากับเงินที่นำมาซื้อขายหุ้น การขาดทุนสูงสุดที่เกิดขึ้นได้คือในกรณีที่หุ้นลดมูลค่าลงจนเหลือเท่ากับ 0 บาท ซึ่งก็จะเท่ากับจำนวนเงินที่นำมาลงทุน แต่สำหรับ Futures นั้น เนื่องจากใช้เพียงเงินวางหลักประกัน ซึ่งคิดเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าสัญญาเท่านั้น ดังนั้น Exposure ของผู้ลงทุนจะสูงกว่าเงิน Margin เป็นอย่างมาก จากตัวอย่างข้างต้น กรณี PTT Futures ใช้เงิน Margin เพียง 51,860 บาท แต่เปรียบเสมือนกับการลงทุนในหุ้น PTT จำนวน 10,000 หุ้น หรือมูลค่าของสัญญา (Notional Value) เท่ากับ 390,000 บาท ซึ่งมูลค่านี้ก็คือ Exposure ของผู้ถือสัญญา futures ดังนั้น หากมูลค่าหุ้นลดลงไปจนเหลือ 0 บาท ก็จะทำให้ผู้ลงทุนขาดได้สูงสุดถึง 390,000 บาท ซึ่งสูงกว่าเงินที่ผู้ลงทุนใช้วางเป็น Margin ดังนั้น หากผู้ลงทุนมีการตั้งเป้าหมายระดับขาดทุนที่ตนเองรับได้ไว้เท่าไรจะต้องคำนึงถึงในส่วนนี้ด้วย

อีกประการหนึ่งที่ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจ คือ การบริหารจัดการเงินประกันหรือมาร์จิน (Margin) เนื่องจากกลไกการชำระราคาของสัญญา Futures นั้นแตกต่างจากหุ้น การลงทุนในหุ้นนั้นมักจะมีการพูดว่าไม่ขายไม่ขาดทุน เนื่องจากผู้ลงทุนถือครองหุ้นอยู่แล้ว แม้ว่าราคาหุ้นจะลดลง แต่หากยังไม่ขาย ก็ยังไม่รับรู้ขาดทุน (Unrealized Loss) หรือยังไม่เกิดการขาดทุนขึ้นจริงๆ จนกว่าจะมีการขายหุ้นออก ในทางตรงกันข้าม กลไกการชำระราคาของ Futures นั้น จะมีการปรับสถานะหรือที่เรียกว่า Mark To Market ในทุกวัน ในกรณีที่ราคาหุ้นมีการเคลื่อนไหว ก็จะมีการคำนวณกำไร/ขาดทุนทุกวัน และจะนำเอาผลกำไร/ขาดทุนนี้ไปหักลดหรือเพิ่มในบัญชีเงินประกันของผู้ลงทุน และเมื่อไรก็ตามที่เงิน Margin ของผู้ลงทุนลดลงกว่าระดับที่โบรกเกอร์กำหนด (Maintenance Margin) ก็จะมีการเรียกให้นำเงินประกันมาวางเพิ่ม ซึ่งหากไม่สามารถเติมเงินประกัน ได้ โบรกเกอร์ก็จะดำเนินการบังคับปิดสัญญาหรือที่เรียกกันว่า Force Call ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงต้องมีการบริหารจัดการและสำรองเงินที่จะนำมาวางเป็นหลักประกันในส่วนนี้ไว้ให้เหมาะสมและต้องไม่ซื้อขายสัญญาในจำนวนที่มากเกินไป

นอกจากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่จะส่งผลต่อเงินประกันของผู้ลงทุนแล้ว อัตราเงินประกันยังมีการปรับเปลี่ยนไปตามความผันผวนของราคาหุ้นหรือของตลาดด้วย ดังนั้น ในช่วงที่ราคาหุ้นมีความผันผวนสูง อัตราเงินประกันที่ต้องวางก็จะถูกปรับให้สูงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น ในช่วงปี 62 ราคาของ SET50 Index Futures เปลี่ยนแปลงไม่เกิน +/-2% ต่อวัน ทำให้ระดับ Margin อยู่ในช่วงแคบๆ (ประมาณ 8,550 - 11,058 บาทต่อสัญญา) แต่ช่วงต้นปี 63 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวนจากวิกฤตการณ์ COVID-19 ดัชนี SET50 Index มีความผันผวนเพิ่มขึ้นมากและมีการปรับตัวลดลงกว่า 10% ทำให้มีการปรับอัตราเงินประกัน (Margin) เพิ่มขึ้นจากระดับ 9,500 บาทต่อสัญญามาสูงสุดที่ 32,452 บาทต่อสัญญา ก่อนที่ในเดือนมิถุนายนจะเริ่มปรับ Margin ลง ตามความผันผวนที่ลดลง ดังนั้น ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูงขึ้น ผู้ลงทุนจึงมีโอกาสที่จะถูกเรียกเก็บเงิน Margin สูงขึ้น แม้ว่าผลกำไรขาดทุนจากการ Mark To Market ที่เกิดขึ้นจะไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้ามากนักก็ตาม

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับเงินประกัน

ดังนั้น ในการซื้อขายสัญญา Futures จึงควรพิจารณาระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ เพื่อกำหนด Exposure และจำนวนสัญญาที่เหมาะสมที่จะทำการลงทุน และเมื่อซื้อขายไปแล้วจะต้องมีการติดตามสถานะการลงทุนอยู่เสมอ มีการบริหารเงินวางหลักประกัน (Margin Management) ที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการถูก Force Call รวมถึงควรติดตามความผันผวนของตลาดและการประกาศระดับ Margin ของ TCH เพื่อที่จะสามารถปรับกลยุทธ์ลงทุนหรือบริหารเงินหลักประกันได้อย่างทันท่วงที สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลการประกาศ Margin รวมถึงเทคนิคการบริหาร Margin สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากโบรกเกอร์ที่ใช้บริการหรือที่เว็บไซต์ www.tfex.co.th